นักลงทุนเตรียมรับ ศก.ชะลอตัว

คอลัมน์ นอกรอบ

โดย ถนอมศรี ฟองอรุณรุ่ง

ภาวการณ์ลงทุนในไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมา ภาวการณ์ลงทุนในตลาดการเงินเริ่มปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ผลจากความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจในปี 2019 โดยดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวลงประมาณ 20% จากจุดสูงสุดในเดือนตุลาคม ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวลดลงจาก 3.23% ในช่วงต้นเดือนตุลาคมเหลือ 2.77% ราคาน้ำมันปรับลดลงจาก 85 เหรียญเหลือ 53 เหรียญต่อบาร์เรล

การปรับลดลงของดัชนีราคาหุ้นสะท้อนภาพว่านักลงทุนกังวลว่ากำไรของบริษัทจะโตน้อยลงหรืออาจจะไม่โต ขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวปรับลดลง แสดงว่า นักลงทุนมองว่าเศรษฐกิจข้างหน้าจะชะลอตัว และการลงทุนในสินทรัพย์อื่นมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น รวมทั้งคาดว่าเงินเฟ้อในอนาคตจะต่ำ จึงหันมาลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลซึ่งให้ผลตอบแทนคงที่และมีความปลอดภัยมากที่สุด (ความเสี่ยงที่จะสูญเสียเงินต้นน้อยที่สุด)

ส่วนราคาน้ำมันที่ลดลงนั้นมีส่วนมาจากการคลายความกังวลเรื่องผลกระทบของการแซงก์ชั่นการส่งออกน้ำมันของอิหร่านที่ส่งผลน้อยกว่าที่คาดไว้ ในขณะเดียวกันก็สะท้อนความกลัวว่าความต้องการน้ำมันจะลดลงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ

การสำรวจความเห็นของผู้จัดการกองทุนโดยแบงก์ออฟอเมริกา เมอร์ริลลินช์ ก็แสดงให้เห็นถึงความกังวลเรื่องเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างชัดเจน คือ

1. มี 53% มองว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวใน 12 เดือนข้างหน้า โดยมีสัดส่วนสูงสุดนับแต่เดือนตุลาคม 2008 และลดความกังวลในเรื่องเงินเฟ้อ

2. และ 9% คิดว่ามีโอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 2019 (ทั้งนี้นักเศรษฐศาสตร์หลายท่านเตือนว่าโอกาสเกิดเศรษฐกิจถดถอยในปี 2020 เริ่มสูงขึ้น)

3.ความเสี่ยงที่กลัวมากที่สุด ยังเป็นเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน (Trade war) แม้ว่าสหรัฐและจีนเห็นด้วยที่จะหันหน้ามาเจรจากัน โดยกำหนดเวลาถึงต้นเดือนมีนาคมปีหน้า แต่ดูเหมือนว่านักลงทุนยังมองเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญ รองลงมา คือ เรื่องนโยบายการเงินที่ตึงตัวขึ้น (เฟดขึ้นดอกเบี้ย และธนาคารกลางยุโรปหยุดซื้อพันธบัตร) และอันดับสามคือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน

4.นอกจากนี้ 46% ของผู้จัดการกองทุนมองว่าบริษัทต่าง ๆ มีการก่อหนี้เกินตัว เทียบกับ 15% เมื่อตอนต้นปี ซึ่งความกังวลเรื่องการก่อหนี้ของภาคธุรกิจเพิ่มสูงสุดนับแต่ตุลาคมปี 2009 โดยมูดี้ ได้เตือนว่าหุ้นกู้ที่ออกโดยบริษัทสหรัฐที่มีเรตติ้ง Baa (อยู่ในระดับต่ำสุดของ investment grade) เพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งผลจากดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และเศรษฐกิจที่ชะลอตัว มีโอกาสที่หุ้นกู้ดังกล่าวจะถูกปรับลดเครดิตเป็น “Junk” (มีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับดอกเบี้ยและเงินต้น) ได้ ซึ่งหากมีการปรับลดเครดิตของหุ้นกู้อย่างต่อเนื่อง น่าจะทำให้ตลาดการเงินผันผวนได้

5.ส่วนในด้านการลงทุนนั้น ผู้จัดการกองทุนส่วนใหญ่ เพิ่มการลงทุนพันธบัตรรัฐบาล และเงินสด หันมาซื้อหุ้น defensive (กลุ่มอุปโภคบริโภค และ สาธารณูปโภคพื้นฐาน) ขายหุ้นกลุ่มพลังงานและเทคโนโลยี ถือหุ้นขนาดใหญ่และขายหุ้นขนาดเล็ก

ความกังวลเรื่องเศรษฐกิจและความเสี่ยงข้างต้น ทำให้ผู้จัดการกองทุนมีความระมัดระวังในการลงทุน และเน้นลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย ซึ่งเป็นมุมมองในทางตรงข้ามกับปลายปี 2017 ที่นักลงทุนมองภาพเศรษฐกิจและการลงทุนปี 2018 เป็นขาขึ้น และคาดหวังว่าจะต่อเนื่องถึงปี 2019

สำหรับในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้านั้น มีปัจจัยเสี่ยงที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจและการลงทุนที่ต้องติดตาม ดังนี้

1.ในช่วง 1-2 สัปดาห์แรก ความสนใจน่าจะอยู่ที่สหรัฐจะสามารถผ่านร่างกฎหมายงบประมาณประจำปีได้หรือไม่ ซึ่งนับแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2018 รัฐบาลสหรัฐต้องหยุดทำการ (shutdown) บางส่วน จากความล้มเหลว

ในการผ่านงบฯดังกล่าว ซึ่งนับเป็นการ shutdown ครั้งที่ 3 ในรอบปี แม้ว่าการ shutdown น่าจะสามารถตกลงกันได้ในที่สุด แต่ 2 ปีที่เหลือของการบริหารประเทศของทรัมป์ น่าจะไม่ราบรื่นนัก และจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นและบรรยากาศการลงทุนได้

2.การเจรจาข้อตกลงทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ซึ่งต้องตกลงให้ได้ก่อนเดือนมีนาคม หากไม่สามารถตกลงได้สหรัฐจะปรับภาษีสินค้านำเข้าจากจีนขึ้นเป็น 25% จาก 10% ซึ่งจะทำให้ความตึงเครียดทางการค้ากลับมาอีกครั้ง อย่างไรก็ดีมีความคาดหวังว่าทั้งสองฝ่ายน่าจะตกลงกันได้และสหรัฐน่าจะคงอัตราภาษีไว้ที่ 10% แต่ก็น่าจะไม่ยกเลิก เพราะข้อเรียกร้องบางส่วน โดยเฉพาะ ประเด็นอุตสาหกรรมไฮเทคของจีนยังน่าจะยืดเยื้อต่อไปได้ แต่หากการเจรจาเป็นไปด้วยดีก็จะเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดการเงินอย่างมาก

3.การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งอ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมเดือนมกราคมปรับตัวลดลงต่ำกว่า 50 (แสดงถึงการหดตัวของการผลิต) เป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปีครึ่ง และคาดว่า การขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐจะเริ่มส่งผลต่อเศรษฐกิจจีนชัดเจนขึ้นในต้นปีนี้ สิ่งที่กังวลคือ จีนจะสามารถผ่อนคลายนโยบายเพื่อช่วยลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนได้หรือไม่

4.Brexit อังกฤษจะสามารถผ่านข้อตกลงเกี่ยวกับขั้นตอนออกจากอียูได้อย่างราบรื่นหรือไม่ ซึ่งกรณีเลวร้ายคือ ถึงกำหนด 29 มีนาคม โดยปราศจากข้อตกลง

ดูจากปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวแล้ว ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมตลาดการเงินจึงหวั่นไหว และหันเข้าหาการลงทุนในสินทรัพย์ที่ปลอดภัยไว้ก่อน