แก้ปัญหาจราจร ลดวิกฤต “ฝุ่นพิษ PM 2.5”

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย กษมา ประชาชาติ

เปิดศักราชปีหมูไฟด้วยภัยธรรมชาติร้อนแรง นับจากการก่อตัวของพายุโซนร้อน “ปาบึก” เมื่อช่วงต้นเดือนมกราคม ที่คาดว่าจะมีความรุนแรงที่สุดในรอบ 30 ปี แต่โชคดีช่วยทำให้อ่อนกำลังลงเป็นดีเปรสชั่น ยังไม่ทันพ้นเดือนก็เกิดปัญหาฝุ่นควันพิษขนาดเล็ก 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 เกินมาตรฐานสร้างความปั่นป่วนให้กับคนกรุงเทพฯและปริมณฑล

เหตุการณ์นี้ ทำให้ประชาชนตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตื่นตัวถึงความสำคัญของการแก้ปัญหารับมือภาวะวิกฤต (crisis management) มากขึ้น

เรกูเลเตอร์ที่มีบทบาทสำคัญในการดูแลเรื่องนี้ เห็นจะเป็น “คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ” ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลภาพรวม และกำหนดนโยบาย ตลอดจนแนวทางในการรักษาสิ่งแวดล้อม ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535

คณะกรรมการชุดนี้มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี รองประธานกรรมการ คนที่ 1 พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รองประธานกรรมการคนที่ 2 พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นกรรมการ พร้อมด้วย ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นกรรมการและเลขานุการ รวมทั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องมาบูรณาการกัน

โดยล่าสุดคณะกรรมการได้จัดประชุมครั้งที่ 1/2562 ไปเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2562 เพื่อรับทราบสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ตลอดจนการดำเนินงานแก้ไขปัญหาของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ดำเนินการมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561

นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อธิบายว่า ภาวะฝุ่นควันนี้จะเกิดขึ้นทุกปีในช่วงนี้ แต่ด้วยปีนี้ความกดอากาศสูงจากจีนมาเร็วกว่าปกติ ประกอบกับลมทะเลและลมจากแม่น้ำที่พัดเข้ามา ทำให้เห็นภาพหมอกและควันขุ่นมัวมากกว่าทุกปี และต้นตอสำคัญของฝุ่น PM 2.5 มาจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของรถยนต์ดีเซลที่เกิดในช่วงการจราจรติดขัด คาดว่าเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯมีจำนวนถึง 2.5 ล้านคัน จากจำนวนรถทั้งหมด 9.8 ล้านคัน

แนวทางเร่งด่วนที่แต่ละหน่วยงานที่ได้แบ่งหน้าที่กันไป เช่น 1) กองบังคับการจราจร (บก.จร.) เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบควันดำในพื้นที่กรุงเทพฯ 18 จุด 2) กรมการขนส่งฯห้ามรถบรรทุกเข้าในพื้นที่กรุงเทพฯชั้นในตามช่วงเวลา โดยอาศัย พ.ร.บ.ขนส่งฯ 3) สำนักงาน กทม. สั่งผู้รับเหมาก่อสร้างรถไฟฟ้าเร่งคืนพื้นผิวจราจร เพื่อลดปัญหาจราจร 6) กรมอนามัยจัดหาหน้ากากอนามัยแจกประชาชน 7) กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เร่งทำฝนหลวงเพิ่ม 8) ผู้ว่าราชการ 5 จังหวัด สั่งห้ามเผาเศษวัชพืช ด้วยมาตรการเฉพาะหน้าทั้งหมดนี้ทำให้กรมมั่นใจว่าสถานการณ์จะคลี่คลายในเร็ววัน

ส่วนมาตรการระยะยาวที่สำคัญ คือ การเร่งประกาศใช้มาตรฐานเครื่องยนต์ Euro 5 ให้เร็วขึ้น จากเดิมในปี 2566 (2023) เป็น 2564-2565 (2021-2022) ซึ่งต้องเตรียมความพร้อม ทั้งส่วนของผู้ผลิตรถยนต์และผู้ผลิตเชื้อเพลิงว่าจะสามารถผลิตได้หรือไม่ โดยปัจจุบันโรงกลั่นน้ำมันในประเทศไทยผลิตอยู่ภายใต้มาตรฐาน Euro 4

ประเด็นคือหากจะยกเครื่องการผลิตเป็น Euro 5 จำเป็นต้องลงทุนเพิ่ม ซึ่งจะใช้เม็ดเงินหลายหมื่นล้านบาท ทางผู้ผลิตอาจบวก “ต้นทุน” ส่วนนี้เข้ามาในราคาน้ำมันอีก 0.50-1.00 บาทต่อลิตร

แล้วผู้บริโภคจะแบกรับภาระค่าน้ำมันได้หรือไม่ หรือหากประชาชนรับไม่ได้ก็จะนำไปสู่ “สูตรสำเร็จ” ของกระทรวงพลังงาน คือ การชดเชยส่วนต่างราคาเพิ่มขึ้น ซึ่งจะกลายเป็นภาระของหลวงอีก ซ้ำรอยกับนโยบายการกระตุ้นการใช้น้ำมันไบโอดีเซล บี 20 ทดแทนการใช้ดีเซล ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปีก่อน แต่ยังไม่ได้ผลเป็นรูปธรรมนัก เพราะน้ำมันสูตรพิเศษดังกล่าวยังไม่ได้รับการยอมรับจากกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ และรัฐบาลใช้สูตรสำเร็จในการอุดหนุนราคาจำหน่ายเช่นกัน

ขณะที่ความหวังเกี่ยวกับมาตรการด้านอื่นก็ยังเลือนรางและห่างไกล ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างรถไฟฟ้าทั้งหมดให้เสร็จสิ้น เพื่อให้ประชาชนหันไปใช้บริการขนส่งสาธารณะ หรือการเร่งรัดการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อเพิ่มสัดส่วนรถยนต์ไฟฟ้าแทนรถยนต์ดีเซล

ถึงตอนนี้ผ่านมานานกว่า 1 สัปดาห์แล้ว ฝุ่นควันยังไม่มีทีท่าสลายไป และบานปลายกลายเป็นปัญหาลูกโซ่ ประชาชนที่ตื่นกลัวต้องเร่งหาหน้ากากอนามัยมาสวมใส่จนเกิดปัญหาราคาแพง ขาดแคลน ไม่นับรวมความเสียหายทางเศรษฐกิจที่ศูนย์ข้อมูลกสิกรไทยประเมินว่า มีมูลค่ากว่า 6.6 พันล้านบาท ทั้งจากการสูญเสียโอกาสด้านสุขภาพ และด้านการท่องเที่ยวที่นับวันจะยิ่งเพิ่มขึ้น

นำมาสู่คำถามว่าเหตุใดเรกูเลเตอร์ด้านสิ่งแวดล้อมของชาติ จึงไม่ฟันธงแก้ไข “ปัญหาการจราจร” โดยใช้ไม้แข็งลดปริมาณรถที่ใช้ดีเซลซึ่งเป็นต้นตอปัญหาทั้งหมดเสียก่อนอันดับแรก หรือซื้อเวลาถึงกลางเดือนมีนาคม ปัญหานี้จะถูกลมฤดูร้อนพัดพาไป หนีไม่พ้นต้องรอให้รัฐบาลใหม่มาแก้อีก

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!