ปัญหาที่ถูกซุกไว้ใต้ฝุ่น

คอลัมน์ สามัญสำนึก

โดย ถวัลย์ศักดิ์ สมรรคะบุตร

ปัญหาฝุ่นละอองขนาด 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 กลายเป็นเรื่องใหญ่โตขึ้นมาทันที เมื่อสถานการณ์ “มลพิษฝุ่น” ดังกล่าวไม่มีทีท่าว่าจะจบลงในเร็ววัน อย่างที่หลายฝ่ายภาวนา แต่กลับยืดเยื้อยาวนานตามสภาวะอากาศที่มืดมัว

โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเช้ามืดกับช่วงเย็นที่แทบจะไม่มีลมพัดผ่านในพื้นที่ที่มีการจราจรหนาแน่น และพื้นที่ที่มีโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ในกรุงเทพฯ โดยมลพิษฝุ่นครั้งนี้ได้เปิดเผยให้เห็นถึง “ปัญหา” ด้านคมนาคมของกรุงเทพฯและปริมณฑลที่หมักหมมกันมานาน จากข้อเท็จจริงที่ว่าละอองฝุ่นขนาด PM 2.5 ที่ล่องลอยอยู่ในอากาศของกรุงเทพมหานคร ขนาดนี้กว่าร้อยละ 54.3 เกิดจากกิจกรรมบนท้องถนน (road transport) เป็นสาเหตุหลักมีรายงานการตรวจสอบแหล่งกำเนิดของฝุ่นมลพิษมาจากการขนส่งทางถนนได้ก่อให้เกิดฝุ่น PM 2.5 จำนวน 7.73 กิโลตัน และเมื่อตรวจสอบลึกลงไปอีกจะพบความจริงที่น่าตกใจว่า มลพิษฝุ่นเหล่านี้เกิดจากรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลเป็นหลัก

โดยประเภทรถยนต์ที่ก่อให้เกิดฝุ่นมากที่สุด 3 อันดับแรกก็คือ รถปิกอัพ มีการระบายฝุ่นออกจากการเผาไหม้เครื่องยนต์ทั้งที่สมบูรณ์และไม่สมบูรณ์ถึง 2.78 กิโลตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 36 ของการระบายฝุ่นบนท้องถนนทั้งหมด รองลงมาได้แก่ รถบรรทุกขนาดใหญ่ มีการระบายฝุ่นจำนวน 2.48 กิโลตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 32 และรถบัสขนาดใหญ่ มีการระบายฝุ่น 1.38 กิโลตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 17.9

โดยตัวเลขจดทะเบียนรถยนต์ล่าสุดของกรมการขนส่งทางบก ณ เดือนตุลาคม 2561 ทั้งประเทศมี “รถปิกอัพ” ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลรวม 1,227,585 คัน จากจำนวนรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลทั่วประเทศทั้งหมด 2,632,239 คัน รองลงมาได้แก่ รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล 1,010,397 คัน, รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล 170,488 คัน และรถโดยสาร-รถบรรทุกอีก 122,795 คัน

เท่ากับรถปิกอัพกำลังถูกกล่าวหาว่า เป็นตัวการหลัก ๆ ในการผลิตฝุ่นขนาด PM 2.5 ระบายออกมาตามท้องถนน โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถที่มีสภาพเครื่องยนต์ย่ำแย่ หรือพวกรถหมดสภาพที่พ่น “ควันดำ” ออกมาให้เห็นกันทุกวัน (รวมรถเมล์และรถร่วม) จนกลายเป็นเรื่องปกติสำหรับชีวิตคนกรุงเทพฯ

ประเด็นที่ไม่มีใครพูดถึงกันก็คือ ทำไมไม่แก้ปัญหา “มลพิษฝุ่น” ที่ต้นตอของการผลิตฝุ่น ทั้ง ๆ ที่ข้อเท็จจริงก็คือ รถที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลในการเผาผลาญเชื้อเพลิงนั้นเป็นผู้ผลิต PM 2.5 มากที่สุด ดังนั้น เรื่องที่ควรจะต้องมาพูดจาหารือกันก็คือ เราจะควบคุม “ปริมาณ” รถยนต์ที่ผลิตมลพิษฝุ่นเหล่านี้ได้อย่างไร ? หรืออีกนัยหนึ่ง ถึงเวลาที่จะต้อง “จำกัด” อายุการใช้งานของรถยนต์ทุกประเภทได้แล้วหรือไม่ ?

การแก้ไขปัญหาที่ต้นตอแบบนี้ ด้านหนึ่งจะช่วยลดปริมาณรถยนต์ที่ผลิตมลพิษฝุ่น อีกด้านหนึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ที่นับวันจะมีปริมาณรถยนต์เพิ่มขึ้น ๆ หรือ “รถเก่าขนาดไหนก็ไม่เคยหมดไป (หากตรวจสอบสภาพผ่าน) ในขณะที่รถป้ายแดงจดทะเบียนใหม่ก็เพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี”

แต่หน่วยงานภาครัฐกลับมาพูดจากันถึง การออกตรวจจับรถที่ปล่อย “ควันดำ” ให้มากขึ้น, การกำหนดมาตรฐานน้ำมันใหม่จาก EURO 4 เป็น EURO 5 ที่โรงกลั่นน้ำมันจะต้องลงทุนเพิ่มในการปรับเปลี่ยนกระบวนการกลั่นน้ำมันใหม่ แต่ไม่ยักพูดถึงภาระของประชาชนที่จะต้องจ่ายค่าน้ำมันดีเซล EURO 5 ที่แพงขึ้นอีกไม่ต่ำกว่าลิตรละ 50 สตางค์

หรือการรณรงค์ให้ใช้น้ำมันไบโอดีเซล B 20 แต่ไม่ยอมบอกข้อเท็จจริงที่ว่า กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่เรียกเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันนั้น ต้องจ่ายเงินอุดหนุน B 20 อยู่ระหว่างลิตรละ 3-5 บาท เป็นข้อเท็จจริงที่จมอยู่ใต้กองฝุ่น PM 2.5

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!