เลือกแล้วรวย !

คอลัมน์สามัญสำนึก
โดย อิศรินทร์ หนูเมือง

การเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 เป็นครั้งประวัติศาสตร์ในรอบ 8 ปี ที่คณะรัฐบาล-รัฐประหารครองอำนาจยาวนานที่สุด หลังจากยุคสงครามเย็น

เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในรัชสมัย รัชกาลที่ 10

เปลี่ยนระบบเลือกตั้งใหม่ในรอบ 18 ปี ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับจักรี

น่าจะเป็นการเลือกตั้งที่นักการเมืองเปลี่ยนขั้ว ย้ายค่ายมากที่สุดในรอบ 2 ทศวรรษ

เป็นการเลือกตั้งบนฐานเศรษฐกิจขยายตัวระดับ 4%

แต่ชาวบ้านระดับฐานรากทั่วทุกหัวระแหงที่มีสิทธิเลือกตั้งเกือบทั้ง 52 ล้านคน เรียกร้องเป็นเสียงเดียวกันว่า “อยากได้รัฐบาลที่แก้ปัญหาปากท้อง อยากให้เศรษฐกิจดี มีกิน รายได้เพิ่ม” 

ขณะที่นักธุรกิจทั้งระดับยักษ์ใหญ่ บริษัทข้ามชาติ และเหล่าสตาร์ตอัพ เอสเอ็มอี แทบทุกบริษัทบอกไปในทิศทางเดียวกันว่า ยังต้อง wait and see

การลงทุนใหม่ โครงการใหญ่ จึงตั้งเป้าหมาย ปักหมุดลงทุนไว้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

ที่เห็นเร่งรีบ-อลหม่าน คือโครงการสัมปทาน-ลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ของรัฐบาลที่รีบเจรจา รวบรัด ให้เซ็นสัญญาให้ได้ก่อนเลือกตั้ง

หน้าพรรคทุกคนปราศรัยเป็นเสียงเดียวกันว่า หัวใจในการชิงชัยในสนามเลือกตั้งครั้งนี้ คือ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรม

พรรคการเมืองว่าที่แกนนำจัดตั้งรัฐบาล และว่าที่พรรครอ-ร่วมรัฐบาล ครีเอตแคมเปญหาเสียงด้วยคีย์เวิร์ด “แจก-จ่าย-เพิ่มรายได้” 

การอุบัติขึ้นของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในรัฐบาลทหาร ชิงความได้เปรียบล่วงหน้าไป 5 เดือน ก่อนที่พรรคคู่แข่งจะเริ่มจุดสตาร์ตในวันรับสมัครเลือกตั้ง

เริ่มด้วยการจัดโปรฯไฟไหม้ ลด-แลก-แจก-จ่ายไปแสนกว่าล้าน ก่อนการประกาศพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) การเลือกตั้ง

พปชร.ใช้แนวทางแจก “สวัสดิการประชารัฐ” เป็นธงนำในการนำทัพกลับเข้าทำเนียบ

แน่นอนว่ามาตรการ “เอ็กซ์ตร้า-ประชานิยม” นั้นต้องใช้เงินภาษีประชาชนปีละกว่าแสนล้าน

พรรคเก่าแก่-เก๋าเกมในกติกาการเมืองอย่างประชาธิปัตย์ (ปชป.) ยังยืนยันทฤษฎี “ประกันรายได้” 

เปิดตัวด้วยนโยบาย “เกิดปั๊บรับสิทธิ์เงินแสน” หวังใช้งบประมาณรายจ่ายของรัฐอุดหนุนสูงสุดราว 7 หมื่นล้าน

หลักการคือ “เด็กที่เกิดใหม่ทุกคนจะได้สิทธิ เป็นรัฐสวัสดิการ เป็นภาระทางการคลังปีละ 12,000 ล้านบาท ในปีแรกจะมีเด็ก 400,000 กว่าคนได้รับสิทธิ”

“โฉนดสีฟ้า” คือภาค 2 ของ ส.ป.ก.4-01 ในการแก้ปัญหาที่ดินทำกิน เพิ่มบริการเสริม-เติมเงินสดเข้า “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โอนตรงเข้าบัญชี รายละ 800 บาทต่อเดือน”

“ข้าวไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นบาท/เกวียน ปาล์ม 4 บาท/กิโลกรัม ยางพาราไม่ต่ำกว่า 60 บาท/กิโลกรัม ค่าแรงไม่ต่ำกว่า 120,000 บาท/ปี และเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็น 1,000 บาท/ดือน”

ภายใต้แคมเปญ “แก้จน สร้างคน สร้างชาติ” 

ฟากพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะแชมป์เก่า-เจ้าตำรับประชานิยม ยังคงย้ำตรงจุด ด้วยคีย์เวิร์ด “เลือกแล้วรวย” 

ยังไม่เปิดเผยรายละเอียดนโยบายมากนัก มีแต่ลีลา 2 ผู้นำกระเป๋าตุง “สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค และ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” หัวหน้าคณะทำงานด้านเศรษฐกิจ

“เพื่อไทยจะทำการ rematching resources ของประเทศใหม่ จะใช้งบประมาณอย่างชาญฉลาด เช่น โครงการที่เคยทำมาแล้ว 30 บาท รักษาทุกโรค OTOP กองทุนหมู่บ้าน”

พรรคตัวแปรเกรดเอ อย่างภูมิใจไทย (ภท.) ภายใต้กระเป๋าหนัก ๆ ของ “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล เปิดบริสุทธิ์แคมเปญ “ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน” และทำงานจากที่บ้าน 1 วัน/สัปดาห์

ชู “Buriram Model” บ้านเกิดเนวิน ชิดชอบ เป็นต้นแบบการพัฒนาเมืองท่องเที่ยว

ทุกพรรคปักธงเป็นแกนนำรัฐบาล ทำให้คนไทยรวยด้วยเงินภาษีประชาชน

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!