เศรษฐกิจไทยโตมาจากไหน ไปต่ออย่างไร (1)

คอลัมน์ ช่วยกันคิด

โดย ดร.นครินทร์ อมเรศ ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธปท.

เมื่อมองย้อนไปในปี 2561 นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันว่า เศรษฐกิจไทยดูสดใสในภาพรวม โดยคาดกันว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 4 เป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี ขณะที่การจ้างงานขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับมาอยู่ในกรอบนโยบายการเงินเป็นปีแรกในรอบ 4 ปี

น่าสังเกตว่าตัวเลขเหล่านี้ล้วนแต่เป็นตัวเลขเชิงสัมพัทธ์กล่าวคือ ดูดีเมื่อเทียบกับช่วงหลายปีก่อน ซึ่งเป็นห้วงเวลาที่เศรษฐกิจโลกและไทยเผชิญกับสถานการณ์ไม่ปกติหลายประการ ทั้งการค้าโลกตกต่ำ ตลาดการเงินโลกผันผวน ตลอดจนการเมืองภายในประเทศมีความไม่แน่นอน เป็นต้น

นอกจากนี้ นี่เป็นเพียงมุมมองภาพรวมแต่ไม่ได้แสดงรายละเอียด เช่น การเติบโตนี้กระจายตัวทั่วถึงหรือไม่ ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจการเงินโลกที่มีความเสี่ยงด้านลบอยู่มากเช่นในปัจจุบัน ตัวเลขเศรษฐกิจเหล่านี้อาจไม่มีทิศทางที่ชัดเจนและคาดเดาได้ยาก การทำความเข้าใจสถานการณ์เศรษฐกิจจึงต้องมองลงลึกถึงพัฒนาการเชิงโครงสร้างมากกว่าแค่เฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวของตัวเลขระยะสั้น

ในวันนี้จึงขอเชิญทุกท่านมาร่วมกันทบทวนว่า เศรษฐกิจไทยโตมาจากไหน ไปต่ออย่างไร โดยขอเริ่มต้นด้วยการประเมินปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจ คือ ความสามารถในการสร้างมูลค่าเพิ่มของแรงงานแต่ละคน ดังที่แสดงในรูป ผลิตภาพแรงงานในแต่ละกิจกรรมของภาคอุตสาหกรรมและบริการ ซึ่งครอบคลุมเกือบ 600 กิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทย (ลูกบอลหนึ่งลูกแทนหนึ่งกิจกรรม)

โดยพบว่าแรงงานไทยเกือบ 4 ล้านคนคิดเป็นร้อยละ 10 กระจุกตัวอยู่ในเพียง 7 กิจกรรมบริการหลัก เช่น ร้านอาหาร ร้านขายของชำ ร้านค้าปลีก โรงแรม และร้านทำผม (กลุ่มลูกบอลสีฟ้าอ่อนขนาดใหญ่) ซึ่งเป็นกลุ่มที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคธุรกิจได้เฉลี่ยเพียง 1.7 แสนบาทต่อคนต่อปี น้อยกว่าค่าเฉลี่ยในภาพรวมที่ 4.1 แสนบาทต่อคนต่อปี โดยกิจกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูงส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มกิจกรรม อุตสาหกรรมซึ่งมีการใช้แรงงานรวมแล้วไม่มากนัก (กลุ่มลูกบอลสีแดงเข้มขนาดเล็ก)

หากคิดในเชิงคณิตศาสตร์ง่าย ๆ แล้ว เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้โดยการยกระดับความสามารถในการสร้างมูลค่าเพิ่มของแรงงานในสาขาเศรษฐกิจที่มีแรงงานอยู่มาก หรือเคลื่อนย้ายแรงงานจากสาขาเศรษฐกิจมูลค่าเพิ่มต่ำ ไปยังกิจกรรมมูลค่าเพิ่มสูง ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วเศรษฐกิจไทยเติบโตมาด้วยวิธีการดังกล่าวผ่านกระบวนการที่เรียกว่า structural transformation 1

โดยมีการเคลื่อนย้ายคนออกจากภาคเกษตรมาสู่ภาคอุตสาหกรรมและบริการอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายทศวรรษก่อน ยกเว้นเพียงแต่ในช่วงวิกฤตการณ์การเงินเอเชียในปี 2540 ที่ภาคเกษตรทำหน้าที่รองรับแรงงานที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ และในบางช่วงที่นโยบายสนับสนุนด้านเกษตรของภาครัฐมีส่วนทำให้ผลตอบแทนในภาคเกษตรสูงมากจนดึงดูดแรงงานกลับเข้าสู่ภาคเกษตร อาทิ นโยบายจำนำข้าว กลไกที่ทำให้กระบวนการดังกล่าวสามารถผลักดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ได้แก่

(1) ขับเคลื่อนการใช้ทรัพยากรมนุษย์ให้มีประสิทธิภาพ ทั้งในด้านปริมาณเห็นได้จากการจ้างงานที่อยู่ในระดับสูง ตลาดแรงงานไทยมีอัตราการว่างงานในระดับต่ำมากมาโดยตลอดในช่วงหลัง และมีการพึ่งพาแรงงานข้ามชาติเป็นจำนวนมาก รวมทั้งในด้านคุณภาพแรงงานที่ได้รับการยกระดับผ่านการลงทุนใช้เครื่องจักรและระบบอัตโนมัติของภาคธุรกิจ

(2) สนับสนุนความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ เอื้อให้แรงงานสามารถเคลื่อนย้ายได้ทั้งภายในและระหว่างกิจกรรมที่มีความเชื่อมโยงและเกื้อหนุนกัน เช่น กิจกรรมผลิตยานยนต์และชิ้นส่วน หรือกิจกรรมโรงแรมและการค้า ทำให้กิจกรรมเหล่านี้มีปัจจัยการผลิตเพียงพอ ตลอดจนกระตุ้นให้กิจกรรมที่มีผลิตภาพแรงงานสูงสามารถส่งผ่านผลบวกไปยังกิจกรรมที่เกี่ยวข้องจนช่วยยกระดับผลิตภาพในกลุ่ม cluster ด้านอาหาร เคมีภัณฑ์ อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์

(3) ส่งเสริมให้ภาคเศรษฐกิจปรับตัวได้อย่างต่อเนื่อง แรงงานสามารถเคลื่อนย้ายจากธุรกิจที่มีความสำคัญลดลงไปสู่ธุรกิจที่เกิดขึ้นใหม่ ภายใต้สถานการณ์ที่รูปแบบการดำเนินธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องสอดคล้องกับการก้าวกระโดดทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น เช่น การเปลี่ยนช่องทางการค้าจากหน้าร้านมาเป็น e-Commerce เมื่อมีการพัฒนาการให้บริการอินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่ 3G และ 4G ทำให้เกิดผลบวกต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในวงกว้าง ผ่านทั้งการลงทุน การจ้างงาน และการยกระดับผลิตภาพแรงงาน

โดยสรุปแล้ว เศรษฐกิจไทยในอดีตขยายตัวจากกระบวนการพัฒนาโครงสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยมีการจัดสรรแรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดความเชื่อมโยงในระดับกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินธุรกิจมาโดยตลอด

เมื่อมองไปข้างหน้า เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญความท้าทายหลายประการ เช่น การก้าวเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยที่ประชากรขยายตัวลดลงและมีผู้สูงอายุมากขึ้น จึงอาจขาดความคล่องแคล่วและปรับตัวได้ช้าลง การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรุนแรงที่ทำให้แรงงานที่ไม่มีทักษะเพียงพอต้องได้รับผลกระทบ

จึงขอทิ้งท้ายบทความในวันนี้ไว้ด้วยคำถามว่า เศรษฐกิจไทยจะเดินหน้าไปต่อได้อย่างไร และจะขอชวนทุกท่านมาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันต่อในโอกาสหน้า

 

หมายเหตุ – บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)