60 วัน “พันล้าน” เลือกตั้ง…ดัน “ธุรกิจ” อู้ฟู่

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ โดย ก้อย ประชาชาติ

การเลือกตั้งเมื่อปี 2554 ภาพรวมของพรรคการเมืองที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ใช้เม็ดเงินในการซื้อสื่อโฆษณาและประชาสัมพันธ์ประมาณ 294,728,000 บาท แบ่งเป็น สื่อทีวี 46% และหนังสือพิมพ์ 50% สื่อวิทยุ 3% และสื่อกลางแจ้ง 1%

และการเลือกตั้งในครั้งนี้ อุตสาหกรรม โฆษณาได้คาดการณ์กันว่า จะมีเม็ดเงินในการใช้ผ่านสื่อโฆษณาสะพัดถึง 1,000 ล้านบาท ในแค่ช่วงระยะเวลาสั้น ๆ 2 เดือนนี้

และส่วนใหญ่พรรคการเมืองจะใช้งบฯผ่านการซื้อโฆษณาทางตรงกับเจ้าของสื่อ นอกจากนี้ เม็ดเงินที่สะพัดยังกระจายไปสู่การใช้จ่ายในรูปแบบอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องจากการเลือกตั้ง อาทิ ค่าอาหาร เครื่องดื่ม สถานที่ รถแห่ โรงแรมที่พัก ที่จะไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอีกทางด้วย

รูปแบบการใช้งบฯโฆษณาในช่วงการเลือกตั้งปีนี้ได้เปลี่ยนรูปแบบการใช้สื่อ โดยส่วนใหญ่จะใช้ผ่านสื่อออนไลน์และสื่อนอกบ้านเป็นหลัก จากเดิมการเลือกตั้งหลาย ๆ ครั้งที่ผ่านมา จะใช้ผ่านสื่อหลักอย่างทีวีและหนังสือพิมพ์

อย่างไรก็ตาม คาดการณ์กันว่า “ป้ายโฆษณา” ยังเป็นสื่อหลักที่ได้รับอานิสงส์จากการเลือกตั้งครั้งนี้ ตามด้วย ทีวี วิทยุ เนื่องจากสามารถเข้าถึงคนในวงกว้างได้ทั่วประเทศ เช่นเดียวกับ “สื่อดิจิทัล” จะเป็นอีกช่องทางสำคัญในการโปรโมต นโยบายของพรรคการเมืองใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นจำนวนมากด้วย

การใช้งบฯโฆษณาเลือกตั้งจะถูกกระจายเข้าสู่ทุกสื่อมากขึ้น เพียงแต่รูปแบบการโฆษณาของพรรคการเมืองครั้งนี้จะเปลี่ยนไป โดยจะเป็นมากกว่าแค่โฆษณา แต่เป็นการแทรกนโยบายของพรรคการเมืองผ่านคอนเทนต์ในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งสื่อออนไลน์สามารถทำหน้าที่นี้ได้ดี และเจาะกลุ่มเป้าหมายได้แม่นยำ

สอดคล้องกับข้อมูลของ “มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย” ระบุว่า การเลือกตั้งจะทำให้มีเม็ดเงินสะพัดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจกว่า 80,000 ล้านบาท และช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้เพิ่มขึ้น 0.3% โดย 10 อันดับธุรกิจแรกที่จะได้รับอานิสงส์นี้ ได้แก่ ป้ายโฆษณา คาดมีเงินหมุนเวียน 12,663 ล้านบาท ค้าส่ง-ค้าปลีกสินค้า 10,264 ล้านบาท การผลิตกระดาษ 5,200 ล้านบาท ภัตตาคารและร้านอาหาร 4,407 ล้านบาท การผลิตน้ำมันปิโตรเลียม 3,813 ล้านบาท การบริการทางด้านธุรกิจ 2,967 ล้านบาท โรงแรมและที่พัก 2,663 ล้านบาท การผลิตไฟฟ้า 1,876 ล้านบาท การผลิตรถยนต์ รถจักรยานยนต์ 1,586 ล้านบาท และอื่น ๆ 4,651 ล้านบาท

ทั้งนี้ พรรคการเมืองสามารถหาเสียงเลือกตั้งผ่านวิทยุได้ไม่เกิน 5 นาทีต่อพรรค และทีวีได้ไม่เกิน 10 นาที และกำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบเขตเลือกตั้งแต่ละคน ใช้จ่ายในการเลือกตั้งไม่เกิน 1.5 ล้านบาท ส่วนพรรคการเมืองไม่เกิน 35 ล้านบาท ไปในทิศทางเดียวกับ “ธุรกิจทีวี” ที่ได้เริ่มเคลียร์ผังรายการรอบใหม่ควบคู่กับการเติมรายการเลือกตั้งเพื่อรับสีสันและบรรยากาศการเลือกตั้ง

การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่เพียงกระตุ้นเม็ดเงินโฆษณาสะพัดแต่ยังทำให้บรรยากาศโดยรวมของประเทศทั้งในแง่ของความเชื่อมั่นและการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคดีขึ้นแม้จะเป็นแค่ช่วงสั้น ๆ 2 เดือน