เร่งสร้างภูมิคุ้มกันรับมือค่าบาทแข็ง

เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2562 ที่ผ่านมา จากปัจจัยการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ บวกกับช่วงปลายสัปดาห์เงินบาทแข็งค่าขึ้นทุบสถิติในรอบ 9 เดือน ที่ 31.23 บาท/ดอลลาร์ สูงสุดเมื่อเทียบกับสกุลค่าเงินอื่นในภูมิภาค ทำให้ภาคเอกชนโดยเฉพาะผู้ส่งออก กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเริ่มวิตกกังวลมากขึ้น

โดยนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ออกมาเรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.75% ต่อปีไว้ตลอดปีนี้ พร้อมกับให้ดูแลค่าเงินบาทให้เคลื่อนไหวในกรอบ 31.50-32.50 บาท หรือ 33 บาท/ดอลลาร์

ขณะที่นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ระบุว่า ธปท.ต้องเข้ามาดูแลเงินบาทไม่ให้แข็งค่ากว่าที่เป็นอยู่ และควรเข้ามาแทรกแซงค่าบาทให้ทันสถานการณ์ จะได้ไม่สร้างปัญหาให้กับเศรษฐกิจเหมือนช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง

ในส่วนของดอกเบี้ยนโยบายนั้น ล่าสุดแม้เสียงที่ประชุม กนง.วันที่ 6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จะมีมติ 4 ต่อ 2 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ระดับเดิมที่ 1.75% ต่อปี แต่ยังต้องจับตาดูว่าการประชุม กนง.ครั้งต่อไปวันที่ 20 มีนาคมว่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยหรือเคาะให้ปรับดอกเบี้ยขึ้น

ส่วนเรื่องค่าเงิน กนง.มองว่า เวลานี้เงินบาทยังแข็งค่าในทิศทางเดียวกันกับสกุลเงินในประเทศตลาดเกิดใหม่ และชี้ว่าการแข็งค่าของเงินบาทช่วงที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับตลาดเกิดใหม่แล้วอยู่ในระดับกลาง ๆ ไม่ได้แข็งค่ามากเกินไป

อย่างไรก็ตาม ข้อเรียกร้องของเอกชนเป็นสิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องรับฟัง และหาทางป้องกันไม่ให้ผู้ประกอบการรายกลางรายเล็กได้รับผลกระทบอีกด้านหนึ่งเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันปัญหาการผันผวนของค่าเงินในระยะยาว นอกจากเรียกร้องขอความช่วยเหลือจากภาครัฐแล้ว ผู้ประกอบการก็ต้องปรับตัวให้ยืนอยู่ได้ด้วยตนเองด้วย

ที่ต้องเร่งดำเนินการคือการพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขัน ทั้งด้านการผลิต การตลาด โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาสร้างมูลค่าเพิ่มในตัวสินค้าและบริการ เป็นการปรับเปลี่ยนให้สอดรับกับโลกยุคใหม่ซึ่งนับวันการแข่งขันจะยิ่งดุเดือดรุนแรง

หากทำได้สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นภูมิคุ้มกันสร้างความแข็งแกร่ง ทำให้ผู้ประกอบการรายกลางรายเล็กรับมือปัจจัยลบและสุ่มเสี่ยงผันผวนที่จะเกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญจะยืนอยู่ได้อย่างมั่นคงในระยะยาว