ตรวจโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เพื่อความปลอดภัย

คอลัมน์ เปิดมุมมอง โดย ดร.สหพล ทิมพงษ์ ทีมกรุ๊ป

 

การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เพื่อตอบสนองการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทั้งทางด้านอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว การพัฒนาเมืองใหม่ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) และการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศอย่างยั่งยืน ทั้งในเรื่องการคมนาคมขนส่ง การบริหารจัดการน้ำ การผลิตไฟฟ้าและพลังงาน

ปัจจุบันมีโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐที่ได้รับการอนุมัติให้ดำเนินการแล้วหลายโครงการ เช่น รถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล สนามบิน ท่าเรือพาณิชย์ ระบบป้องกันน้ำท่วม อุโมงค์ส่งน้ำและอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่

การออกแบบโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่จะดำเนินการโดยวิศวกรผู้มีความรู้ความชำนาญและมีประสบการณ์ในการออกแบบและก่อสร้าง ผู้ออกแบบจะดำเนินการวิเคราะห์คำนวณและออกแบบโครงสร้างต่าง ๆ ให้มีความมั่นคงแข็งแรงตามมาตรฐานทางวิศวกรรมเพื่อให้โครงสร้างสามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัย อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าโครงสร้างดังกล่าวจะออกแบบมาเป็นอย่างดีเพื่อการใช้งาน แต่ยังมีความเสี่ยงด้านความปลอดภัย โดยเฉพาะในขั้นตอนการก่อสร้างที่อาจจะส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่อยู่บริเวณพื้นที่ใกล้เคียง

การออกแบบโครงสร้างที่ดีก็เปรียบเสมือนสุขภาพร่างกายของคนเรา ถึงแม้ว่าเราจะรับประทานอาหารถูกหลักโภชนาการ หลีกเลี่ยงอบายมุข นอนหลับเพียงพอ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอแล้วก็ตาม แต่ร่างกายเราก็ยังคงมี “ปัจจัยเสี่ยง” ในการเจ็บป่วยและการเกิดโรคต่าง ๆ

ดังนั้น การตรวจสุขภาพเพื่อประเมินสภาพความสมบูรณ์ของร่างกาย และค้นหาความผิดปกติหรือความบกพร่องของร่างกายก่อนจะลุกลาม สามารถทำให้การป้องกันและดูแลรักษาเป็นไปได้อย่างทันท่วงที และลดโอกาสเสี่ยง

การตรวจสุขภาพโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่นั้น จะมุ่งเน้นไปที่การตรวจวัดและประเมินความปลอดภัยของโครงสร้างทั้งในระหว่างการดำเนินงานก่อสร้างและตลอดระยะเวลาการใช้งาน และใช้เป็นข้อมูลประกอบในการควบคุมคุณภาพงานก่อสร้างและแจ้งเตือนภัย ในกรณีที่มีเหตุผิดปกติเพื่อป้องกันความเสียหายต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นจากเหตุการณ์อันไม่พึงประสงค์ รวมถึงการประเมินผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อโครงสร้างและสาธารณูปโภคต่าง ๆ ที่อยู่ในบริเวณพื้นที่ก่อสร้าง

การตรวจสุขภาพโครงสร้างพื้นฐานจะทำการตรวจวัดค่าต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อเสถียรภาพของโครงสร้างและฐานราก เช่น ระดับและแรงดันน้ำใต้ดิน การเคลื่อนตัวและเอียงตัวของโครงสร้าง การสั่นสะเทือนของโครงสร้าง รอยแตกรอยแยกของโครงสร้าง การรั่วซึมของน้ำ การเคลื่อนตัวและทรุดตัวของชั้นดินฐานราก

ซึ่งข้อมูลผลการตรวจวัดต่าง ๆ ดังกล่าวจะเป็นตัวบ่งชี้พื้นฐานที่สำคัญสำหรับการวิเคราะห์และประเมินพฤติกรรมและความปลอดภัยของโครงสร้าง

เช่นเดียวกับการตรวจสุขภาพร่างกายที่จะตรวจวัดความดันโลหิต อุณหภูมิร่างกาย อัตราการเต้นของหัวใจ ระดับน้ำตาล ไขมัน คอเลสเตอรอล รวมทั้งการตรวจเอกซเรย์ เพื่อใช้ในการวิเคราะห์และประเมินสภาพความแข็งแรงของร่างกายโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

การตรวจสุขภาพร่างกายโดยทั่วไปจะใช้เครื่องมือทางการแพทย์ต่าง ๆ ส่วนเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการตรวจสุขภาพความปลอดภัยของโครงสร้างนั้น จะถูกออกแบบมาเพื่อให้สามารถตรวจวัดค่าความผิดปกติต่าง ๆ ของโครงสร้างและชั้นดินฐานรากเช่น Observation Well/Piezometer (วัดระดับและแรงดันน้ำใต้ดิน) Inclinometer/Extensometer/Settlement Plate (วัดการเคลื่อนตัวและทรุดตัวของชั้นดินฐานราก) Settlement Plate/Inclinometer/Tilt Meter (วัดการทรุดตัวและเอียงตัวของโครงสร้าง) Accelerometer (วัดการสั่นสะเทือนของโครงสร้าง) Crack Meter (วัดรอยแตกรอยแยกของโครงสร้าง) Flow Me-ter (วัดการรั่วซึมของน้ำ) ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม การตรวจสุขภาพความปลอดภัยของโครงสร้างนั้นในปัจจุบันข้อมูลผลการตรวจวัดที่ได้ในสนามจะถูกบันทึกและส่งข้อมูลแบบอัตโนมัติทางไกล (Remote Monitoring System) ข้อมูลดังกล่าวจะถูกเชื่อมโยงและจัดเก็บอย่างเป็นระบบที่ศูนย์ประมวลผลกลาง (Central Server) และมีการวิเคราะห์ประเมินผลการตรวจวัดแบบ Real-Time โดยวิศวกรผู้เชี่ยวชาญผ่าน Web Application เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้เป็นแนวทางสำหรับการควบคุมงานก่อสร้างเพื่อความปลอดภัย และสามารถใช้ในการแจ้งเตือนภัยได้ในกรณีวิกฤต รวมทั้งการบำรุงดูแลรักษาโครงสร้างตลอดระยะเวลาการใช้งาน


การตรวจสุขภาพโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เพื่อความปลอดภัยที่ดีนั้น ต้องเริ่มต้นจากการเลือกโปรแกรมที่สามารถตรวจหาปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ได้อย่างละเอียดครบถ้วน และมีความเหมาะสม ร่วมกับการใช้เทคโนโลยีและเครื่องมือตรวจวัดที่ทันสมัย เพื่อให้ได้ข้อมูลผลการตรวจที่มีความถูกต้อง สามารถใช้ในการประเมินสภาพความมั่นคงแข็งแรงปลอดภัยของโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงและผลกระทบต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในระหว่างการดำเนินงานก่อสร้างและตลอดระยะเวลาการใช้งาน