เปิดเสรีพลังงาน แบบไทยแลนด์ 4.0

คอลัมน์ แตกประเด็น โดย ปรศักดิ์ งามสมภาค กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ

กระทรวงพลังงานรับหน้าที่ดูแลยุทธศาสตร์ด้านพลังงานมาแล้วกว่า 10 ปี มีเป้าหมายที่ชัดเจน นั่นคือ ประโยชน์ของประชาชน ในการบริหารจัดการด้านพลังงานโดยเฉพาะการดำเนินการ “เปิดเสรี” นั้น ทำให้ภาพพลังงานของประเทศเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งย่อมมีทั้งผู้ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ รวมไปจนถึงความพอใจและไม่พอใจเกิดขึ้น แต่ในเมื่อต้องทำเรื่องใหญ่บางปัญหาก็ต้องปล่อยให้เป็นเพียงเรื่องที่เกิด ขึ้นระหว่างทาง และมุ่งไปสู่เรื่องที่ใหญ่กว่านั้น และสิ่งที่สำคัญคือ การแตกแยกทางความคิดเกิดขึ้นได้ แต่ก็ควรอยู่ภายใต้กรอบที่กำหนดไว้

ปัญหาที่หมักไว้ และซ้ำซาก กำลังถูกแก้ไขเป็นลำดับ ภายใต้ยุครัฐบาลพิเศษของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แม้จะดูว่าดำเนินการไม่รวดเร็ว แต่ “ทำแน่” หากพิสูจน์แล้วว่าเรื่องเหล่านั้นเป็นประโยชน์ต่อประเทศจริง ไม่ใช่เป็นประโยชน์เพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเปิดเสรีพลังงานทั้งระบบ นับเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ที่ต้องจัดการเร่งด่วน ไม่ใช่เรื่องง่าย และมีปัจจัยหลายอย่างเข้ามากระทบ

เมื่อมองย้อนกลับไปในอดีต “ความยากที่สุด” ของการเปิดเสรี ที่เป็นโจทย์ให้หาคำตอบว่า หากราคาพลังงานปรับสูงขึ้นจะทำอย่างไร ทั้งนี้ในอดีตภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากราคา พลังงาน แต่อาจจะช่วยแบบที่เรียกว่า “เตี้ยอุ้มค่อม” ก็ได้ เพราะในขณะนั้นกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไม่มีเงินกองไว้เพื่อถมส่วนต่างราคา มากนัก ทั้งการชดเชยราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ทั้งระบบ ก๊าซ LPG ถูกใช้ในภาคขนส่งเป็นจำนวนมาก เพราะมีราคาถูกกว่าเมื่อเทียบกับน้ำมัน ยิ่งอุ้ม การใช้ยิ่งเพิ่ม จนกระทั่งประเทศต้องเปลี่ยนสถานะจากผู้ส่งออกก๊าซ LPG มาเป็นผู้นำเข้าแทน

ในขณะนั้นไม่ได้อุ้มแค่ก๊าซ LPG ภาครัฐยังอุ้มน้ำมันดีเซล ด้วยการใช้เงินจากกองทุนน้ำมันฯตรึงราคาไม่ให้เกินเพดานที่ 30 บาท/ลิตร ทั้งที่ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกที่แท้จริงควรอยู่ที่ 40 บาท/ลิตรด้วยซ้ำ เมื่อมองดูในสถานการณ์ปัจจุบัน กองทุนต่าง ๆ เริ่มกลับมาเป็นบวกจากการบริหารจัดการที่ดี รวมถึงราคาพลังงานที่ลดลง การเปิดเสรี LPG ครั้งนี้ ถูกมองว่าไม่เสรีจริง เพราะยังต้องประคองราคาขายขั้นสุดท้าย ในส่วนภาคครัวเรือนไม่ให้ได้รับผลกระทบ ซึ่งในที่สุดก็จะไม่มีการอุดหนุนราคาต่อไป เพื่อเริ่มต้นการเปิดเสรี 100% ซึ่งขณะนี้ยังคงเป็นเสรีแบบมีกรอบ ที่ต้องสร้างความเข้มแข็งให้ผู้เล่นรายใหม่ ดังนั้นจึงต้องมีการชดเชยราคาในประเทศให้กับผู้ค้ารายอื่น เพื่อให้สามารถเป็นผู้นำเข้าได้ (ถ้าไม่นำเข้าก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้) ซึ่งนับเป็นผลดีกับรายใหญ่ที่จะไม่ถูกกดราคาที่ผลิตได้จากต้นทุนที่ต่ำจาก ความสามารถ เพราะเมื่อมองไปถึงอนาคตที่ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยหมดลง รายเก่าจะมีกลุ่มเพื่อนช่วยในการนำเข้า LPG ทำให้ประเทศไทยเป็นตลาดในอุดมคติที่การแข่งขันเป็นไปอย่างยุติธรรม แม้แต่รายเก่าจะพ้นจากคำว่า ทุ่มตลาด

ราคาพลังงานที่ค่อนข้างต่ำใน ช่วงนี้เหมาะที่จะเปิดเสรีที่สุด แต่ในทุกภาคส่วนอาจเกิดมุมมองที่แตกต่างกันได้ แต่ต้องการให้มองที่ว่า การเปิดเสรีครั้งนี้เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด อย่างไรก็ตามในสถานการณ์นี้อาจมีบางกลุ่มหรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องเสีย อาณาจักรไปบ้าง แต่ในภาพใหญ่ของประเทศแล้ว จะทำให้ราคาถูกลง เพิ่มผู้ขาย แต่ผู้ซื้อเท่าเดิม

ในขั้นตอนต่อไปคือ การเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG สามารถมั่นใจได้ว่าเป็นการเปิดเสรีแบบเต็มรูปแบบ ไม่มีแต้มต่อให้ใคร แต่มีกรอบที่ชัดเจนในการดำเนินการ เป็นการแข่งขันเสรีอย่างแท้จริง แม้จะไม่สามารถยืนยันได้ว่าราคาจะถูกลงหรือไม่ แต่ภาพที่จะสะท้อนชัดเจนคือ ความสามารถในการแข่งขันของแต่ละรายจะสูงขึ้น จนเจ้าตลาดรายเก่าอาจจะต้องตกใจ แต่สุดท้ายแล้ว ใครที่พร้อมที่สุดจะเป็นผู้ครองตลาด

สรุปคือ การเปิดเสรีธุรกิจ LNG จะกำหนดสัดส่วนการนำเข้าแบบ long term และ short term เพื่อเน้นด้านความมั่นคง และกำหนดเพดานราคาการนำเข้าทั้ง 2 รูปแบบดังกล่าว รายใดมีราคานำเข้าสูงก็ไม่ได้รับการอนุมัติให้นำเข้า เพื่อเป็นระบบตรวจกรองขั้นแรก ซึ่งกฎเกณฑ์ทั้งหมดจะดำเนินการโดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เพื่อให้เป็นไปตามมติคณะกรรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อตลาดเสรีอย่างจริงจังประเทศจะมีความมั่นคงทางพลังงาน และขอเน้นย้ำว่า การเปิดเสรีนั้น “ไม่จำเป็น” ที่ราคาจะต้องถูกลงในทันที เหมือนที่หลายฝ่ายปรามาสกัน..!!