เผือกร้อน “พาราควอต” หมากเกมนี้ใครได้-ใครเสีย ?

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย กฤษณา ไพฑูรย์ 

เรื่องของผลประโยชน์หลายหมื่นล้านบาทของยาฆ่าหญ้า “พาราควอต” จนถึงวันนี้ผ่านมาเกือบ 2 ปียังไม่จบ โดยวันที่ปิดต้นฉบับนี้ยังไม่รู้ผล “ชี้ชะตา” ของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ว่าจะใช้ต่อ หรือยกเลิก !

หากย้อนไปลำดับเหตุการณ์มีข้อน่าสังเกต ! ขนาด 3 กระทรวงหลักที่มีรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขนั่งหัวโต๊ะ มีมติชัดเจน 2 ครั้งให้ “ยกเลิก” การใช้สารเคมี 3 ตัวแต่ยังดึงดันจะใช้ต่อไป !

นับตั้งแต่วันที่ 5 เม.ย. 60 ในการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งมี 5 กระทรวงหลักเข้าร่วม “มีมติให้ยกเลิก” การใช้ “พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส” และเตรียมกำหนดการใช้ “ไกลโฟเซต” ซึ่งองค์การอนามัยโลกระบุเป็นสารที่อาจก่อมะเร็ง

แต่มติดังกล่าวถูก “เตะถ่วง” พร้อมกับมีการตั้ง “คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการควบคุมวัตถุอันตราย พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต” ที่มี นายภักดี โพธิศิริ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการวัตถุอันตรายเป็นประธาน เพื่อหาข้อเท็จจริงเมื่อเดือนธ.ค.60 โดยขีดเส้นให้จบใน 3 เดือน ระหว่างนั้นมีกลุ่มเกษตรกรร้องเรียนว่าได้รับผลกระทบหากเลิกใช้

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ศึกษาข้อมูลอีกครั้ง เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 61 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เชิญ นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ปัจจุบันเกษียณ) และ นายสมบูรณ์ ยินดียั่งยืน รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม (ปัจจุบันเกษียณ) มาประชุม ซึ่งที่ประชุม 3 กระทรวงยืนมติเดิมให้ระงับการใช้ และเสนอให้คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจทราบ

ระหว่างนั้น “มูลนิธิชีววิถี ไบโอไทย” ได้ออกแถลงการณ์เปิดเผยเบื้องลึก ในการพิจารณาของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจว่า ไม่ให้มีการนำเอาข้อมูลการวินิจฉัยความสัมพันธ์ของโรคเนื้อเน่ากับสารพาราควอตของ พญ.ฉันทนา ผดุงทศ ผู้อำนวยการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค บรรจุอยู่ในรายงาน

รวมทั้งการตัดทิ้งรายงานการวิจัยของ ศ.พรพิมล กองทิพย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งพบขี้เทาในเด็กทารกจำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่งของตัวอย่างการศึกษา โดยอ้างว่ายังไม่มีการตีพิมพ์ แต่กลับนำข้อมูลของบริษัทที่ขายสารเคมีและข้อเขียนของอดีตข้าราชการ ซึ่งทำงานให้บริษัทสารเคมี และตีพิมพ์ในวารสารที่มีรายได้จากการโฆษณาสารพิษนำมาอ้างอิงในรายงานฉบับดังกล่าวเข้าพิจารณา

และซ้ำซ้อนอีกครั้งเมื่อนายกฯแต่งตั้ง “คณะกรรมการแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมี ป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง” มี นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯเป็นประธาน

แต่เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2562 กรรมการ 3 คนในคณะกรรมการชุดนี้ได้ยื่นหนังสือลาออกต่อนายกฯ ประกอบด้วย ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วย ศ.พรพิมล กองทิพย์ และ รศ.พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล

โดย ศ.นพ.ธีระวัฒน์ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กพอสรุปได้ว่า “นักวิชาการได้นำเสนอข้อมูลที่มีหลักฐานน่าเชื่อถือทางวิทยาศาสตร์ ทั้งงานวิจัยในประเทศ และงานวิจัยซึ่งตีพิมพ์ในวารสารวิจัยต่างประเทศจำนวนมาก แต่มิได้มีการพิจารณา บรรจุวาระ แต่ในทางตรงกันข้ามกลับมีหนังสือของ “สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย” ที่คัดค้านมติและคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน และข้อเสนอของสภาวิจัยแห่งชาติ (วช.) ที่เสนอให้มีการยกเลิกการใช้สารพิษที่มีความเสี่ยงสูง บรรจุในวาระการประชุม ครั้งที่ 1/2562 ในวันที่ 6 ก.พ. 62 ทั้งที่องค์กรที่ยื่นข้อคัดค้านเป็นองค์กรของสมาคมผู้ค้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืช มิใช่ตัวแทนเกษตรกร แสดงเจตนาว่าการดำเนินงานของคณะกรรมการเป็นไปเพื่อสร้างแรงกดดันไม่ให้

มีการทบทวนมติของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งจะจัดประชุมเร็ว ๆ นี้ มิใช่การดำเนินการอย่างโปร่งใส และพบหลักฐานว่า คณะกรรมการชุดนี้ 4 คน มีความเกี่ยวข้องกับบริษัทที่มีการผลิต นำเข้า และจัดจำหน่ายสารเคมีกำจัดศัตรูพืช 3 ชนิดนี้”

และร้อนแรงสุดเมื่อ “แพทยสภา” ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 62 ลงนามโดย ศาสตราจารย์แพทย์หญิงสมศรี เผ่าสวัสดิ์ นายกแพทยสภา มีใจความพอสรุปได้ว่า ในการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนฯของ สธ. 2 ครั้งที่ได้เห็นชอบให้มีการยกเลิกการใช้สารเคมี 3 ชนิด ทางคณะอนุกรรมการบริหารของแพทยสภาได้พิจารณาปัญหาดังกล่าวแล้ว เห็นชอบกับการยกเลิกการใช้สารเคมี 3 ชนิด ตามที่คณะกรรมการขับเคลื่อนฯของ สธ.เสนอ เพื่อคุ้มครองประชาชนให้ได้รับความปลอดภัยในสุขภาพและอนามัย

เช่นเดียวกับ รศ.ดร.เภสัชกรหญิงจิราพร ลิ้มปานานนท์ นายกสภาเภสัชกรรม ได้ออกแถลงการณ์ลงวันที่ 13 ก.พ. 62 พอสรุปได้ว่า สภาเภสัชกรรมขอเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการวัตถุอันตราย ให้ยกระดับสารเคมี 3 ชนิดเป็นวัตถุอันตรายประเภท 4 (เป็นวัตถุอันตรายที่ห้ามผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง) ด้วยเหตุผลสารเคมีทั้ง 3 ชนิดมีพิษสูง โดยเฉพาะพาราควอตได้รับเพียง 1-2 ช้อนชาก็อาจถึงแก่ชีวิต ปัจจุบันกว่า 53 ประเทศได้ยกเลิกการใช้แล้ว

ปัญหาสารเคมี 3 สารเปรียบเหมือนฝุ่น PM2.5 ที่ซ่อนตัวมาระยะหนึ่งและค่อยๆเผยโฉมหน้าออกมา ดังนั้น การตัดสินใจชี้ชะตาใน “วันแห่งความรัก” 14 ก.พ.นี้คาดเดาว่า ยังคงไม่จบง่าย ๆ คงต้องมีการต่อสู้นอกรอบกันต่อไป

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!