การผ่อนคลายนโยบายการเงินสหรัฐ การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์

คอลัมน์ นอกรอบ

โดย ถนอมศรี ฟองอรุ่นรุ่ง

การที่ Jerome Powell ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ และคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐ ปรับท่าทีผ่อนคลายนโยบายการเงิน

จากเดิมที่ประเมินว่าต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 2 ครั้ง (ครั้งละ 0.25%) ในปีนี้ ปรับมาเป็นการตอกย้ำว่าจะใจเย็นและยับยั้งชั่งใจ (patient) ในการตัดสินใจเกี่ยวกับการปรับขึ้นดอกเบี้ย และยังแสดงความพร้อมที่จะปรับแผนการลดทอนงบดุลของธนาคารกลาง (quantitative tightening) ทำให้นักลงทุนคลายความกังวลทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกาปรับตัวเพิ่มขึ้น 7-10% ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา

นอกจากนั้น ความกังวลเรื่องการปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐที่ลดลงก็ส่งผลให้เงินเหรียญสหรัฐอ่อนค่าลง ช่วยให้ประเทศตลาดเกิดใหม่ซึ่งนักลงทุนเคยเทขายหุ้นและขนเงินออกในปีที่แล้ว เพราะกลัวการอ่อนตัวของค่าเงินกลับมาให้ความสนใจในตลาดเกิดใหม่อีกครั้ง

ในกรณีของประเทศไทยนั้น ราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 5% และเงินบาทก็แข็งค่าขึ้นอีกเกือบ 5% ทำให้ผลตอบแทนในเดือนมกราคมที่ผ่านมานั้นมีความน่าสนใจไม่แพ้ตลาดหุ้นอื่น ๆ ในโลก

การตัดสินใจของคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐคงจะเกิดขึ้นจากการคาดการณ์ว่า การชะลอตัวลงอย่างมากของเศรษฐกิจจีนและยุโรปจะนำไปสู่การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจสหรัฐในเร็ววันนี้ ดังนั้น การตัดสินใจที่จะยับยั้งการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจึงน่าจะเป็นสิ่งที่สมควรทำ เพราะการตึงตัวของตลาดแรงงานในขณะนี้จะอ่อนแรงลงและไม่กดดันให้เงินเฟ้อในสหรัฐปรับตัวสูงขึ้นดังที่ Powell ย้ำว่า ตราบใดที่เงินเฟ้อยังต่ำ เขาก็สามารถจะชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยไปได้อย่างต่อเนื่อง

หากมองในแง่ดี ผลพวงของการชะลอการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ คือการผ่อนคลายนโยบายการเงิน ไม่เพียงแต่ของสหรัฐ แต่เป็นการผ่อนคลายสภาวะทางการเงินของโลกโดยรวม และเศรษฐกิจสหรัฐก็จะขยายตัวเพื่อรองรับการอ่อนตัวของเศรษฐกิจยุโรปและจีนในปี 2019 นี้ ทำให้หลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่สภาวะถดถอย

แต่ในอีกแง่หนึ่ง ก็อาจมองได้ว่าการอ่อนตัวของค่าเงินเหรียญสหรัฐนั้น คือการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐจากการช่วยให้สหรัฐส่งออกได้มากขึ้นและนำเข้าน้อยลง (สหรัฐขาดดุลการค้าลดลง) ซึ่งหมายความว่าประเทศคู่ค้าของสหรัฐก็จะเกินดุลการค้าลดลง กล่าวคือ การแข็งค่าของเงินสกุลอื่น ๆ ก็จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศดังกล่าวชะลอตัวลง

มองในอีกด้านหนึ่ง การอ่อนค่าของเงินเหรียญสหรัฐก็คือการที่สหรัฐ “ส่งออก” การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจสหรัฐไปทำให้เป็นภาระของประเทศอื่น ๆ นั่นเอง แม้ว่าในช่วงแรก ๆ ประเทศตลาดเกิดใหม่ต่าง ๆ อาจจะพอใจที่เงินของตนเองแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ เรื่องนี้เห็นได้จากความเป็นห่วงในประเทศไทยว่าเงินบาทแข็งค่ามากเกินไปจะทำให้การขยายตัวของการส่งออกของไทยในปีนี้จะต่ำกว่าปีที่แล้วครึ่งต่อครึ่ง (จาก 8% เหลือ 4%) ซึ่งย่อมจะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ลดลงในปีนี้ตามไปด้วย นอกจากนั้น การที่สหรัฐมีนโยบายกีดกันการค้ามากขึ้น ก็ยิ่งจะทำให้การขายสินค้าให้สหรัฐทำได้ยากขึ้นด้วยกล่าวคือ อย่าประเมินว่าการชะลอการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (ซึ่งเป็นประโยชน์กับสหรัฐ) นั้นจะเป็นประโยชน์กับเศรษฐกิจโลกโดยรวมเสมอไป

แต่สิ่งที่น่ากังวลกว่าคือ การชะลอการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ อาจจะกลายเป็นโทษกับเศรษฐกิจสหรัฐเองก็ได้ ถ้าเศรษฐกิจสหรัฐประสบปัญหาการปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วของเงินเฟ้อใน 3-4 เดือนข้างหน้า ซึ่งอาจเกิดขึ้น

จากการตึงตัวอย่างมากของตลาดแรงงานของสหรัฐ ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับขึ้นราคาสินค้าเพราะต้นทุนในการผลิตที่สำคัญคือค่าจ้างแรงงานปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก นอกจากนั้น ในกรณีที่ประธานาธิบดีทรัมป์ปรับขึ้นภาษีศุลกากรเพื่อกีดกันการนำเข้าจากจีน (และจากยุโรป-ญี่ปุ่นในส่วนของรถยนต์) ก็จะกระตุ้นให้ราคาสินค้าปรับเพิ่มขึ้นอย่างกว้างขวาง แม้แต่การสร้างกำแพงที่ชายแดนเม็กซิโกและนโยบายกีดกันคนเข้าเมือง ก็อาจมีส่วนในการทำให้การขาดแคลนแรงงานทวีความรุนแรงและทำให้เงินเฟ้อเร่งตัวสูงขึ้น


ในกรณีดังกล่าว การชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยตอนนี้จะส่งผลเสียในอนาคตที่เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐต้องขึ้นดอกเบี้ยไล่ตามเงินเฟ้อ ซึ่งการต้องรีบปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างฉับพลันจะเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เศรษฐกิจต้องชะลอตัวลงอย่างรวดเร็ว และในอดีตเมื่อตกอยู่ในสภาวะเช่นนี้ ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะเข้าสู่สภาวะถดถอยจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก