ต้นทุนของสังคมไทย จากมลพิษ-วิกฤตฝุ่นพิษ PM 2.5

คอลัมน์ ระดมสมอง

โดย รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์

 

หลายคนคงทราบจากคุณหมอหลาย ๆ ท่านว่าฝุ่นพิษ PM 2.5 ไม่ดีต่อสุขภาพอย่างมาก แต่หากจะตีมูลค่าความเสียหายที่สังคมไทยเผชิญจากสุขภาพที่แย่ลง ทราบหรือไม่ครับว่าคิดเป็นมูลค่าความเสียหายเท่าไหร่ ?

จากงานวิจัยที่ผมเคยทำเมื่อ 2 ปีที่แล้ว (Attavanich, 2017) ซึ่งคิดว่ายังคงใช้การได้ดีหากนำมาปรับค่าของเงิน

งานวิจัยชิ้นนี้ใช้แนวคิด Subjective Well-Being ซึ่งมีข้อสมมุติว่าสิ่งแวดล้อมเป็นหนึ่งในปัจจัยที่กำหนดคุณภาพชีวิตที่วัดจาก “ความพึงพอใจในชีวิต” ที่จะถูกประมาณให้เป็นฟังก์ชั่นของปัจจัยต่าง ๆ อาทิ รายได้ สิ่งแวดล้อม โดยมีการควบคุมปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ประชากรศาสตร์ และปัจจัยเชิงพื้นที่ จากนั้นใช้วิธีทางเศรษฐมิติเพื่อประมาณมูลค่าความเต็มใจที่จะจ่ายหน่วยสุดท้าย ที่แอบแฝงอยู่กับความพึงพอใจ โดยใช้หลายรูปแบบของการประมาณค่า และข้อมูลมลพิษทางอากาศรายชั่วโมง นำมาจากกรมควบคุมมลพิษซึ่งครอบคลุมทั้งหมด 11 สถานีทั่วกรุงเทพฯ (4 สถานีริมถนน และ 7 สถานีพื้นที่ทั่วไป)

ผลการศึกษาพบว่า มูลค่าความเต็มใจที่จะจ่ายหน่วยสุดท้ายมีค่าเท่ากับ 6,379.67 บาทต่อครัวเรือนต่อปีต่อไมโครกรัมต่อ ลบ.ม.ของฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 10) ที่ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 99 ถ้านำมูลค่าดังกล่าวมาคูณกับจำนวนครัวเรือนของกรุงเทพมหานคร (ปี พ.ศ. 2560) จำนวนทั้งสิ้น 2,887,274 ครัวเรือน จะพบว่า ทุก ๆ 1 ไมโครกรัมต่อ ลบ.ม.ของฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 10) ที่เกินกว่าระดับปลอดภัยตามเกณฑ์มาตรฐาน จะสร้างความเสียหายให้กับคนกรุงเทพฯถึง 18,420 ล้านบาท

หากเป็นฝุ่นพิษขนาดเล็กมากอย่าง PM 2.5 ค่าสร้างความเสียหายมากกว่านี้เยอะ แต่เสียดายที่ยังไม่มีข้อมูลมากพอ

ให้คำนวณได้ หลายคนคงถามว่าทำไมเยอะจัง ต้องไม่ลืมว่าฝุ่นละอองขนาดเล็กมาก ๆ อันตรายสุด ๆ มันสะสมในร่างกาย และเมื่อใดปรากฏอาการก็มักจะสายเกินแก้แล้ว ดังนั้นอย่าคิดว่าออกไปข้างนอกแล้วไม่เห็นเป็นอะไรเลย จริง ๆ มันเป็นภัยมืดที่น่ากลัวมาก ๆ คนไทยยังไม่ได้ตระหนักถึงความน่าสะพรึงกลัวจากเจ้าฝุ่นพิษนี้ ในต่างประเทศเขากลัวกันมากถึงขึ้นมีการเตือนภัยผ่านโทรศัพท์มือถือ สวมหน้ากากป้องกัน ซื้อเครื่องฟอกอากาศมาติดตั้งที่บ้าน เป็นต้น

เนื่องจากตอนนี้ปัญหาฝุ่นพิษทวีความรุนแรงมากขึ้น หลายคนคงอยากทราบว่าเราควรจะรับมือกับวิกฤตนี้อย่างไร

ทั้งระยะสั้น กลาง และยาว ? เราจะลดฝุ่นพิษจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงอย่างไร ? แล้วจะลดฝุ่นพิษจากการเผาในที่โล่งแจ้งในภาคเกษตรอย่างไร ? ควรมีมาตรการอะไรเพิ่มเติม ? ขอเป็นส่วนหนึ่งในการเสนอแนะแนวทางรับมือกับวิกฤตฝุ่นพิษโดยใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ดังนี้ครับ

ในทางเศรษฐศาสตร์ มาตรการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม จะต้องคำนึงถึง 3 องค์ประกอบ 1.กลไกในการควบคุมพฤติกรรม (บังคับ หรือสร้างแรงจูงใจ) 2.ระดับของการควบคุมมลพิษเป็นแบบทางตรงหรือทางอ้อม 3.ตัวแปรที่ใช้ในการควบคุม ได้แก่ ราคา ปริมาณ และเทคโนโลยี โดยคำนึงแหล่งที่ก่อให้เกิดมลพิษอย่างรถยนต์ หรือพื้นที่เพาะปลูกเกษตรกร โรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น

หลังจากที่นั่งทบทวนสาเหตุของปัญหา รวมถึงได้อ่านงานวิจัยของนักวิจัยหลายท่าน ขอเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษดังนี้ครับ

1.การสร้างความตระหนักรู้ถึงอันตรายของฝุ่นพิษ มาตรการระยะสั้น (ภายใน 1 ปี)

– สร้างความตระหนักรู้ถึงอันตรายของฝุ่นพิษอย่างทั่วถึง วิธีป้องกันตนเองและครอบครัว เป็นวิธีที่ต้นทุนต่ำสุดเกิดผลประโยชน์สูงมาก

– เพิ่มจุดตรวจวัดคุณภาพอากาศให้มากขึ้นในทุกพื้นที่เสี่ยงภัย และเชื่อมโยงแอปพลิเคชั่นเพื่อส่งข้อมูลเตือนภัยคุณภาพอากาศแบบ real time มาตรการระยะกลางและยาว (1-3 ปี)

– ส่งเสริมงานวิจัยเพื่อประเมินผลกระทบจากฝุ่นละอองต่อสุขภาพ

– สร้างความตระหนักรู้ถึงอันตรายของมลพิษประเภทต่าง ๆ ตั้งแต่เด็ก

– ปรับเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพอากาศในทุกมลพิษ รวมถึงฝุ่นพิษให้เข้มงวดมากขึ้นจากปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น ปัจจุบันไทยกำหนดมาตรฐานฝุ่นพิษเฉลี่ย 24 ชั่วโมงของ PM 2.5 และ PM 10 ที่ 50 และ 120 ไมโครกรัม/ลบ.ม. ขณะที่องค์การอนามัยโลกกำหนดมาตรฐานฝุ่นพิษรายปี PM 2.5 และ PM 10 ที่ 25 และ 50 ไมโครกรัม/ลบ.ม.

2.ลดการปล่อยฝุ่นพิษจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงในรถยนต์

มาตรการระยะสั้น (ภายใน 1 ปี)

– เคร่งครัดการตรวจจับควันดำ และการดัดแปลงเครื่องยนต์ในรถทุกชนิด การต่อทะเบียนรถยนต์ใหม่ทุกครั้งต้องเข้มงวดให้มากเรื่องการตรวจสภาพรถ ย้ำว่าต้องทำให้ต่อเนื่องและจับจริงหากพบการละเมิดมาตรการระยะกลาง (ภายใน 1-3 ปี)

– จำกัดปริมาณรถยนต์ในบริเวณเขตเมืองที่มีการจราจรคับคั่ง โดยใช้ระบบโซนนิ่ง ใครต้องการขับรถยนต์เข้าไปต้องเสียค่าผ่านเข้าเขต

– เพิ่มประสิทธิภาพระบบขนส่งมวลชนด้วยราคาที่สมเหตุสมผล

– ปรับปรุงแผนการขนส่งและจราจร ต้องทำให้ดีขึ้นกว่าเดิม

– เก็บภาษีสิ่งแวดล้อมและสุขภาพสำหรับรถยนต์ใหม่ นำเงินภาษีส่วนนี้มาใช้เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

– เก็บภาษีเพิ่มรถยนต์ที่มีอายุการใช้งานนานหลายปีแบบขั้นบันได รถยิ่งเก่าอัตราภาษียิ่งสูง

– ยกระดับมาตรฐานน้ำมันและไอเสียจากระดับยูโร 4 เป็นยูโร 5 หรือยูโร 6 สำหรับรถยนต์ขนาดเล็ก

– เนื่องจากเครื่องยนต์ไอเสียดีเซลถูกพบจากงานวิจัยว่าเป็นปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่นพิษและมลพิษอื่น ๆ ดังนั้นควรยกระดับมาตรฐานไอเสียและน้ำมันของเครื่องยนต์ดีเซลสำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่จากระดับยูโร 3 เป็นยูโร 5มาตรการระยะยาว (ตั้งแต่ 3 ปีเป็นต้นไป)

– ส่งเสริมและเตรียมความพร้อมในการใช้รถไฟฟ้า EV โดยลงทุนโครงสร้างพื้นฐานรองรับ และปรับลดอัตราการจัดเก็บภาษีรถยนต์ EV ให้แข่งขันได้กับรถยนต์ที่ใช้น้ำมันขับเคลื่อน

3.ลดฝุ่นพิษจากการเผาในที่โล่งแจ้งในภาคเกษตร

มาตรการระยะสั้น (ภายใน 1 ปี)

– ลดการเผาในที่โล่งแจ้ง

– สร้างความตระหนักรู้ให้กับเกษตรกร

– ออกมาตรการงดเผาช่วงเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ของทุกปีทุกพื้นที่ ฯลฯ

มาตรการระยะกลาง (ภายใน 1-3 ปี)

– ส่งเสริมให้เกษตรกรนำเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาทำปุ๋ยหมักในทุกพื้นที่ พร้อมพิจารณาให้เงินช่วยเหลือเกษตรกรต่อไร่ เพื่อชดเชยกับต้นทุนที่ต้องจ่ายเพิ่มกรณีไม่เผา

– เนื่องจากมลพิษเกิดขึ้นเพราะไม่มีตลาดรองรับเหมือนสินค้าทั่วไป ดังนั้นควรจะต้องส่งเสริมตลาดให้กับมลพิษ ซึ่งสามารถทำได้ผ่านการส่งเสริมตลาดวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร

มาตรการระยะยาว (ตั้งแต่ 3 ปีเป็นต้นไป)

– ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าโดยใช้ฟางข้าว และเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร

4.การเผาไหม้ของเชื้อเพลิงจากกระบวนการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม

มาตรการระยะสั้น (ภายใน 1 ปี)

– เคร่งครัดการตรวจสอบการปล่อยมลพิษ โดยดำเนินการปรับหรือปิดโรงงาน หากพบว่ามีการละเมิดไม่ปฏิบัติตามระเบียบอย่างเคร่งครัด

มาตรการระยะกลาง (ภายใน 1-3 ปี)

– เร่งส่งเสริมและยกระดับการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้แพร่หลายมากขึ้น

มาตรการระยะยาว (ตั้งแต่ 3 ปีเป็นต้นไป)

– ส่งเสริมเทคโนโลยีการผลิตที่ใช้พลังงานที่สะอาดมากขึ้น เช่น ลดการใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้า เป็นต้น

5.มลพิษมาจากประเทศเพื่อนบ้าน

มาตรการระยะสั้น (ภายใน 1 ปี)

– ขอความร่วมมือและสร้างข้อตกลงร่วมกันกับประเทศเพื่อนบ้าน ลดการเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในที่โล่งแจ้ง มาตรการระยะกลางและยาว (ภายใน1-3 ปี)

– พิจารณาเตรียมศึกษาและนำมาตรการกีดกันทางการค้าที่กระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมแบบค่อยเป็นค่อยไป หากการขอความร่วมมือยังไม่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติ

6.การประเมินผลความสัมฤทธิ์ของมาตรการ


ท้ายสุดที่ขาดไม่ได้ คือ การประเมินผลความสัมฤทธิ์ของมาตรการ