ชำแหละ พ.ร.บ.ข้าว

คอลัมน์ สามัญสำนึก

โดย ถวัลย์ศักดิ์ สมรรคะบุตร

ในช่วงโค้งสุดท้ายของรัฐบาลก่อนที่จะเข้าสู่โหมดการเลือกตั้งของประเทศ ร่าง พ.ร.บ.ข้าว พ.ศ. … กลับกลายมาเป็นเรื่องร้อนของอุตสาหกรรมข้าวขึ้นมาทันที หลังจากที่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ถูก “ต่อต้าน” อย่างหนัก

โดยต้นเรื่องของ พ.ร.บ.ข้าว ฉบับนี้ถูก “ยกร่าง” ขึ้นมาโดยสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไม่ได้ยกร่างมาจากหน่วยงานราชการ (กระทรวงเกษตรฯ-กระทรวงพาณิชย์) ที่ทำหน้าที่กำกับดูแลบริหารจัดการข้าวอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งผู้ที่ยกร่างขึ้นมาได้ให้เหตุผลและความจำเป็น มีสาระสำคัญอยู่ที่การมีกลไกในการบริหารจัดการข้าวทั้งด้านการผลิตและด้านการตลาดให้สอดคล้องกันทั้งระบบ การพัฒนาด้านการตลาดแข่งขัน และการรวมกลุ่มของชาวนาเพื่อสร้างความเข้มแข็ง

การจะไปสู่วัตถุประสงค์ข้างต้นได้นั้น ทางผู้ยกร่างได้ “ดีไซน์” อำนาจและหน้าที่ของ “คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.)” ขึ้นมาใหม่ ด้วยการใช้ระบบการ “รักษาการร่วม” สองกระทรวงด้วยกัน คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงไปจนกระทั่งถึงตัวเลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการ จะเป็นปลัดกระทรวงเกษตรฯ ร่วมกับปลัดกระทรวงพาณิชย์ และอธิบดีกรมการข้าว ร่วมกับอธิบดีกรมการค้าภายใน ซึ่งแตกต่างจาก นบข.ชุดปัจจุบันที่กำหนดให้ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นประธานคณะกรรมการ (ตามคำสั่ง คสช.ที่ 172/2557) มีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นเลขานุการ แต่เพียงผู้เดียว

ด้านตัวกรรมการของ นบข. ใช้ระบบ 12/6/3 หรือเต็มไปด้วยข้าราชการถึง 12 คน ภาคเอกชน (ผู้ส่งออก-โรงสี-ชาวนา) รวม 6 คน และผู้ทรงคุณวุฒิอีก 3 คน โดยสัดส่วนข้าราชการจำนวนมากมายนี้ยังถูกนำไปใช้ในชั้น “คณะอนุกรรมการ” ที่จะต้องตั้งขึ้นมาใหม่อีก 2 คณะด้วยกัน คือ คณะอนุกรรมการนโยบายข้าวด้านการผลิต มีปลัดกระทรวงเกษตรฯเป็นประธาน ในสัดส่วนข้าราชการ 16 คน เอกชน 7 คน และผู้ทรงคุณวุฒิอีก 1 คน กับคณะอนุกรรมการนโยบายข้าวด้านการตลาด มีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน ในสัดส่วนข้าราชการ 11 คน เอกชน 6 คน และผู้ทรงคุณวุฒิ 1 คน

คณะอนุกรรมการทั้ง 2 ชุดนี้ถือเป็น “หัวใจ” สำคัญในการกำหมด “มาตรการการผลิตข้าวและมาตรการด้านการตลาดข้าว” เสนอต่อ นบข. นั่นหมายความว่า มาตรการช่วยเหลือชาวนา-การผลิต-การตลาด-การอุดหนุน หรือมาตรการอื่นใด (จำนำข้าว-ประกันราคาข้าวที่อาจจะถูกนำมาใช้อีก) จะถูกพิจารณาจากคณะอนุกรรมการทั้ง 2 ชุดนี้ เนื่องจากคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ไม่มีหน้าที่ในการกำหนด “มาตรการเกี่ยวกับสินค้าข้าว” นบข.เป็นเพียงผู้กำหนดกรอบนโยบายและอนุมัติให้ความเห็นชอบแผนงาน-โครงการ และมาตรการเกี่ยวกับการผลิต/ตลาดข้าวเท่านั้น

นอกจากนี้ ในร่าง พ.ร.บ.ข้าวฉบับใหม่ ยังมีการกำหนดสิ่งที่เรียกว่า “เขตศักยภาพการผลิตข้าว (zoning)” ของทั้งประเทศ โดยให้กระทรวงเกษตรฯเป็นผู้ประกาศพื้นที่ไหนควรผลิตข้าวพันธุ์ใด ซึ่งอาจจะมีผลต่อการกำหนดมาตรการช่วยเหลือชาวนาในอนาคต การกำหนดการทำ “ฐานข้อมูล (big data)” การผลิต-ตลาดข้าวแบบครบวงจร โดยให้ผู้จำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว-ชาวนา-องค์กรการเกษตร-โรงสีข้าว-ผู้รวบรวมข้าว-ผู้ให้บริการทำนา (เพิ่มขึ้นมาใหม่) และผู้ตรวจสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าว มีหน้าที่ต้องรายงาน

แต่ที่ดูจะเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก และกลายเป็นการ “ควบคุมธุรกิจ” แทนที่จะเป็นการอำนวยความสะดวกก็คือ การ “บังคับ” ให้ผู้รับซื้อข้าวเปลือก (โรงสีข้าว) ต้องออก “ใบรับซื้อข้าวเปลือก” ทุกครั้งที่มีการซื้อ และสำเนาใบรับซื้อข้าวให้กับกรมการข้าว ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่าจะเกี่ยวกับการจัดทำฐานข้อมูลอะไร

ในขณะที่เรื่องของการตรวจสอบและรับรองพันธุ์ข้าวที่จะนำไปจำหน่ายให้ชาวนาของกรมการข้าว ตามมาตรา 27 (1) (3) เพียงมาตราเดียว ได้ถูกตัดออกจากร่าง พ.ร.บ.ข้าวไปแล้ว เนื่องจากถูกต่อต้านหนัก จนดันต่อไปไม่ได้