โจทย์ใหญ่ “สมาร์ทฟาร์มมิ่ง” เมื่อ “เงิน” กีดกันเทคโนโลยี

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ โดย สร้อย ประชาชาติ

เมื่อสัปดาห์ก่อนได้มีโอกาสลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ สำรวจ “สมาร์ทฟาร์มมิ่ง” การใช้เทคโนโลยีเพื่อการเกษตรสมัยใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในการผลักดัน “ดิจิทัลไทยแลนด์” ที่ภาครัฐปักธงเป็นเป้าหมาย โดยการลงพื้นที่ครั้งนี้ได้เห็นทั้งการริเริ่มทดลองใช้ด้วยการที่หน่วยงานรัฐ อาทิ “ดีป้า” (สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล) และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เข้าไปช่วยสนับสนุนทั้งเงินทุน-องค์ความรู้ เพื่อหวังได้ต้นแบบศูนย์การเรียนรู้ให้กับเกษตรกรรายอื่น ๆ และฟาร์มที่เอกชนเป็นผู้ควักเงินลงทุนลุยทุกอย่างเอง อาทิ “สตรอว์เบอรี่ช้าง”

จากการได้พูดคุยกับเกษตรกรตัวจริง ไม่มีใครปฏิเสธว่า “เทคโนโลยีดิจิทัล” ช่วยให้กระบวนการผลิตทั้งหมดดีขึ้นได้ ทั้งแง่ของการใช้เวลา ใช้แรงงาน คุณภาพและปริมาณของผลผลิตดีขึ้น แต่โจทย์ใหญ่หินสุด คือ “เงินทุน” ที่จะเนรมิตเทคโนโลยีมาใช้

อย่างกรณีของ “สวนครูประทุม” ไม่ลังเลที่จะเข้าร่วมโครงการ เพราะไม่ต้องลงเงินติดตั้งอุปกรณ์ทั้งหมดเอง แค่ลงแรงและจดบันทึกข้อมูลทุกอย่างเพื่อเปรียบเทียบความแตกต่าง

แต่กรณีของ “สตรอว์เบอรี่ช้าง” เป็นสมาร์ทฟาร์มสตรอว์เบอรี่สายพันธุ์เกาหลีสุดล้ำ “สุธินี นิบุญกิจ” วิศวกรของโครงการระบุว่า ต้องใช้เงินทุนกว่า 40 ล้านบาท สำหรับ 7 โรงเรือนระบบปิด

บนพื้นที่ 5,600 ตารางเมตร โดยยกองค์ความรู้ทั้งหมดจากเกาหลีใต้มาเนรมิตสมาร์ทฟาร์มที่ใช้ระบบอัตโนมัติควบคุมทั้งหมด ตั้งแต่แสง-น้ำ-อุณหภูมิ-การให้สารอาหาร โดยมีจุดเด่นคือ hanging up-down bed หรือรางปลูกที่เลื่อนขึ้นลงแบบอัตโนมัติ ซึ่งจะช่วยให้การควบคุมการรับแสง การดูแลรักษาตัดแต่งต้น ทำให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ประหยัดแรงงานคนมากที่สุด และยังมีต้นทุนที่เป็นค่าใช้จ่ายหมุนเวียนพวกค่าน้ำ ค่าไฟ อีกราวเดือนละ 2 แสนบาท

ขณะที่ผลผลิตตามที่ประเมินไว้จะอยู่ที่ราว 7 หมื่นตันต่อปี และหากคุณภาพผลผลิตเป็นไปตามเกรดที่กำหนดไว้ จะได้ราคาขายที่ 700 บาทต่อกิโลกรัม สูงกว่าการผลิตแบบดั้งเดิมที่ราคาแพงสุด คือ ราว 180-200 บาทต่อกิโลกรัม และจะทำให้สามารถคืนทุนได้ภายใน 2 ปี

แต่ในความเป็นจริง ทุกอย่างไม่ได้ง่ายแค่คลิก และเป๊ะ ๆ ตามทฤษฎี เพราะธรรมชาติยังมีความซับซ้อน

อยู่เสมอ และคำว่า “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง” ยังใช้ได้ผลในทุกธุรกิจ หรือแม้แต่กรณีของ “สวนครูประทุม” ที่ได้ลงทุนกับเทคโนโลยีด้านแรงกลไปก่อนแล้ว เพื่อให้ใช้แรงงานแค่ 4 คน บริหารจัดการพื้นที่ 22 ไร่ แต่ก็ต้องใช้ความกล้าที่จะเป็นหนี้ เพราะต้อง “กู้” มา

ฉะนั้น “ทุนหนา-สายป่านยาว” ยังจำเป็น แต่ถ้ากวาดตาดูในระบบเศรษฐกิจทุกวันนี้ “เกษตรกร” ตัวจริงส่วนใหญ่อยู่ในสภาพ “กระเป๋าแบน” จึงต้องลงทุนด้วย “แรง” มากกว่าเงิน แม้ว่าทุกวันนี้ “ราคา” ของเทคโนโลยีจะลดฮวบลงมาเยอะแล้ว อย่างเมื่อก่อน “โดรน” ที่จะใช้พ่นปุ๋ยในแปลงปลูกได้ ราคาเป็นล้านบาท แต่วันนี้เหลือราว 3 แสนบาท และมีรูปแบบ “ให้เช่า” เป็นรายเดือน เดือนละ 2-3 หมื่นบาทได้

แต่สำหรับเกษตรกรส่วนใหญ่ก็ยังถือว่า “เกินเอื้อม” คือ รู้ว่าดี แต่ไม่มีตังค์ หรือบางส่วนก็มองว่า ยังไม่จำเป็น

ทางออกของปัญหานี้ “ศราวุธ เลาหะวิสุทธิ์” ผู้จัดการดีป้า สาขาภาคเหนือตอนบนระบุว่า ต้อง “สร้างเอง ไม่ซื้อสำเร็จรูป” เพื่อดึงเทคโนโลยีให้มีราคาถูกพอที่จะจับต้องได้ เพราะมีเกษตรกรไม่น้อยที่ตื่นตัวอยากนำเทคโนโลยีไปใช้ โดยหลายหน่วยงาน อาทิ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กำลังพยายามร่วมมือกันสร้างเทคโนโลยีต้นแบบของแต่ละโซลูชั่นขึ้นมาในราคาที่ถูกที่สุด เพราะถ้าลงทุนไม่แพง การตัดสินใจจะนำไปใช้ก็จะง่ายขึ้น หรืออย่างน้อยก็สามารถใช้รูปแบบของการร่วมลงทุนกันภายในชุมชน แล้วเวียนกันใช้สำหรับอุปกรณ์บางอย่าง อาทิ โดรน เป็นอีกความท้าทายในการก้าวสู่ “เกษตร 4.0”