
คอลัมน์ ดุลยธรรม
โดย ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต
ขณะนี้พรรคการเมืองแต่ละพรรคได้แข่งขันกันนำเสนอนโยบายโดยเฉพาะนโยบายทางด้านเศรษฐกิจและสวัสดิการต่าง ๆ บางพรรคการเมืองเสนอให้ไทยพัฒนาสู่ระบบรัฐสวัสดิการ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นนโยบายที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อประชาชน
อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอนโยบายทางด้านสวัสดิการต่าง ๆ และการก้าวสู่ระบบรัฐสวัสดิการนั้นยังไม่สามารถทำได้ในขณะนี้ และอาจส่งผลกระทบต่อฐานะทางการคลังได้ หากไม่มีการปฏิรูประบบภาษีและระบบงบประมาณ รวมทั้งลดการจัดซื้ออาวุธโดยกองทัพ และลดการทุจริตรั่วไหลจากงบฯการใช้จ่ายภาครัฐ
ประเทศที่ใช้ระบบรัฐสวัสดิการนั้นต้องมีสัดส่วนของรายได้ภาษีต่อจีดีพีไม่ต่ำกว่า 40-50% และมีรายจ่ายทางด้านสวัสดิการสังคมต่อจีดีพี 25-30% ขึ้นไป ขณะที่ประเทศไทยมีสัดส่วนรายได้ภาษีต่อจีดีพี 15-18% เท่านั้น นอกจากนี้ ไทยยังจำเป็นต้องปรับโครงสร้างงบประมาณโดยลดสัดส่วนของงบฯประจำลงด้วยการปรับปรุงระบบราชการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดการใช้จ่ายเงินงบประมาณจำนวนมากในการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพ และป้องกันการทุจริตรั่วไหลจากการใช้จ่ายเงินภาครัฐ
นโยบายและมาตรการต่าง ๆ ของหลายพรรคการเมืองมุ่งไปที่การดูแลคนยากจนและผู้มีรายได้น้อย เป็นนโยบาย “เอื้อคนจน” (propoor policy) ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี และนโยบายเหล่านี้ล้วนเป็นประโยชน์ในการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ เพิ่มความเป็นธรรมทางสังคม รวมทั้งมีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากที่หลายปี
ที่ผ่านมาเศรษฐกิจเติบโตเฉพาะเศรษฐกิจฐานบน ขณะที่เศรษฐกิจฐานรากยังมีความอ่อนแออยู่ แต่ก่อนจะนำระบบรัฐสวัสดิการมาใช้ พรรคการเมืองต่าง ๆ ต้องตอบคำถามให้ได้ว่าจะนำเงินงบประมาณจากส่วนไหนมาจัดสรร หรือเก็บภาษีจากไหนมาใช้ให้เป็นไปตามนโยบายต่าง ๆ ที่ได้ประกาศเอาไว้โดยไม่ก่อให้เกิดปัญหาฐานะทางการคลัง และปัญหาวินัยการเงินการคลัง
ขณะเดียวกัน ก็ต้องสามารถอธิบายได้ว่าจะจัดสรรงบประมาณอย่างไร จัดสรรทรัพยากรอย่างไรด้วย หากอธิบายได้จะทำให้เราทราบถึงจุดยืนของพรรคการเมือง และเห็นว่าพรรคการเมืองให้ความสำคัญกับเรื่องใดชัดเจนขึ้น
อย่างเช่นรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งอาจจำเป็นต้องเก็บภาษีลาภลอย ภาษีทรัพย์สินเพิ่มเติม หรือเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีมรดกในอัตราก้าวหน้ามากขึ้น หรือศึกษาการเก็บภาษีจากกำไรการซื้อขายในตลาดทุน เป็นต้น
นอกจากนี้ รัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งต้องเสนอให้มีการตัดลดงบประมาณในการจัดซื้ออาวุธ เพราะในช่วง 4 ปีที่ผ่านมามีการจัดซื้อรถถังไปแล้ว 52 คัน คิดเป็นเม็ดเงินงบประมาณ 9.2 พันล้านบาท จัดซื้อเรือดำน้ำด้วยงบฯผูกพันมูลค่า 3.6 หมื่นล้านบาท เป็นต้น
เพราะหากสามารถลดงบประมาณที่ไม่จำเป็นลง ลดการรั่วไหล ลดความสูญเปล่า และเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งบประมาณให้ตรงเป้าหมาย ลดการจัดซื้ออาวุธลงได้ ทำให้รัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งสามารถจัดสรรงบประมาณเพื่อสวัสดิการสำหรับประชาชน และเพื่อการลงทุนต่าง ๆ ได้ไม่ต่ำกว่า 2-5 แสนล้านบาท ที่สำคัญผู้มีอำนาจรัฐก็ไม่ควรใช้
“กรอบยุทธศาสตร์ 20 ปี” และ “พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง” มาบังคับใช้อย่างไม่เป็นธรรม หรือทำให้พรรคการเมืองต่าง ๆ มีความยากลำบากในการนำเสนอนโยบายสาธารณะที่จะตอบสนองความต้องการของประชาชน เนื่องจากจะทำให้พรรคการเมืองขาดความยืดหยุ่น และขาดความเป็นอิสระในการนำเสนอนโยบาย หรือทำให้รัฐบาลหลังการเลือกตั้งมีความยากลำบากในการดำเนินการตามนโยบายที่สัญญาไว้กับประชาชน
อย่างไรก็ตาม หากผู้มีอำนาจกำกับการทำงานอย่างมีธรรมาภิบาลและตรงไปตรงมา ก็จะช่วยถ่วงดุลไม่ให้มีการนำนโยบายที่อาจก่อให้เกิดปัญหาวินัยการเงินการคลัง และความเสี่ยง
ต่อระบบเศรษฐกิจมาใช้ในการหาเสียงได้มองในแง่บวก พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ด้านหนึ่งอาจทำให้พรรคการเมืองเวลานำเสนอนโยบายต้องคิดให้ละเอียดรอบคอบ มีการศึกษาวิจัยว่าจะ
นำเงินรายได้ นำงบประมาณมาจากไหนเพื่อสนับสนุนนโยบายไม่ให้เกิดปัญหาทางการเงินการคลังในระยะยาว