น่านน้ำ “เจ้าพระยา” ระอุ เรือดินเนอร์ (ยัง) ก๊อบปี้

ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข่าว

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย ณัฎฐ์พิชญ์ วงษ์สง่า [email protected]

ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจเรือนำเที่ยวในแม่น้ำเจ้าพระยาของกรุงเทพฯ มีสีสันเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ผู้ประกอบการรายใหญ่ต่างลงทุนต่อเรือออกมากันเป็นจำนวนมาก เนื่องจากการล่องเรือเที่ยว หรือการดินเนอร์บนเรือนั้น ถือเป็นหนึ่งในรายการนำเที่ยวที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติได้ตลอดทั้งปี

บวกกับจุดขายที่โดดเด่นในด้านความสวยงามยามค่ำคืนของโค้งน้ำเจ้าพระยา รวมถึงศิลปวัฒนธรรม โบราณสถานทางประวัติศาสตร์ วิถีชุมชนริมแม่น้ำ และอาหารไทย ที่เป็นต้นทุนด้านการท่องเที่ยวที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทุกมุมโลก รวมถึงคนไทยด้วยกันเองด้วย ทำให้ตลาดล่องเรือท่องเที่ยวตามลำน้ำเจ้าพระยาได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง และเกิดการลงทุนใหม่ ๆ เพิ่มมากขึ้น

ว่ากันว่า วันนี้ในแม่น้ำเจ้าพระยาของกรุงเทพฯ มีเรือดินเนอร์ให้บริการอยู่ทั้งหมดร่วม 40 ลำต่อคืน

ผู้เขียนเองเคยมีโอกาสได้ไปสำรวจการท่องเที่ยวทางน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อไม่นานมานี้ ยอมรับว่ามีกลุ่มทุนใหม่ ๆ หันมาลงทุนในธุรกิจเรือนำเที่ยวเพิ่มขึ้นมากจริง ๆ ขณะล่องเรือก็จะเห็นเรือนำเที่ยวลอยอยู่เต็มน่านน้ำเจ้าพระยา ไม่ว่าจะเป็นเรือแกรนด์ เพิร์ล, วันเดอร์ฟูล เพิร์ล, เจ้าพระยาปริ๊นเซส, เรือเจ้าพระยาครุยส์, เจ้าพระยา ริเวอร์ไซด์, ไวท์ออคิด ริเวอร์ครูซ, เมอริเดียน ครูซ ฯลฯ ถามว่า ทำให้บรรยากาศยามค่ำคืนของ 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาคึกคักไหม

ถ้ามองมุมบวกตอบเลยว่า “โคตรคึกคัก” เพราะเรือทุกลำที่ลอยอยู่กลางแม่น้ำนั้นบรรเลงดนตรีกันสด ๆ ครึกครื้น สวนกันไปมา นักท่องเที่ยวโบกมือทักทายกันและกันอย่างเป็นมิตร ทุกคนมีรอยยิ้ม

แต่ถ้ามองอีกมุม การที่มีเรือจำนวนมากถึง 30-40 ลำ ให้บริการอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ทุก ๆ คืนนั้น น่าจะเป็นจำนวนที่มากเกินไป ไร้ระเบียบ สุดท้ายจะเป็นตัวที่ทำให้เสน่ห์ของ 2 ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาลดลงไปหรือไม่

นี่คือประเด็นที่น่าเป็นห่วงมาก หากหน่วยงานที่ดูแลไม่ลุกมาจัดระเบียบเพราะแม้ว่าเรือแต่ละเจ้าจะมีท่าเรือขึ้น-ลง ของตัวเองตามจุดต่าง ๆ แต่เส้นทางการล่องเรือในแม่น้ำนั้น ส่วนใหญ่ก็เป็นเส้นทางเดียวกันแทบทั้งหมด โดยเฉพาะเส้นทางระหว่างสะพานสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ถึงสะพานพระราม 8 ผ่านวัดสำคัญ ๆ หลายแห่ง, พระบรมมหาราชวัง ฯลฯ

และถ้าจะสรุปว่า วันนี้การแข่งขันของธุรกิจเรือนำเที่ยวนั้นก็รุนแรงไม่น้อยทีเดียว ทั้งการโหมลงทุนต่อเรือใหม่ของกลุ่มทุนทั้งรายเก่าและรายใหม่

การใช้กลยุทธ์ด้านราคามา “เรียกแขก” ซึ่งหากสังเกตจะเห็นว่า ขณะนี้ราคาดินเนอร์บนเรือส่วนใหญ่จะมีให้เลือกตั้งแต่ 750, 790, 890 ฯลฯ ไปจนถึง 2,000-2,500 บาทต่อคน บริการบนเรือก็จะคล้าย ๆ กัน คือ อาหารค่ำ 1 มื้อ การแสดงต่าง ๆ และดนตรีเล่นสด ๆ ฯลฯ

ซึ่งจากที่ผู้เขียนได้เซอร์เวย์น่านน้ำมายังพบว่า ในจำนวนเรือร่วม 40 ลำ ในแม่น้ำเจ้าพระยานั้น 80-90% มีระดับราคาอยู่ที่ราว 790-890 บาทต่อคน จะมีที่ราคาสูงกว่าชาวบ้านเขาอยู่รายหนึ่ง คือ “เรือวันเดอร์ฟูล เพิร์ล” ซึ่งเป็นเรือดินเนอร์ของกลุ่ม “แกรนด์ เพิร์ล” ที่ออกสู่ตลาดเมื่อ 4 ปีก่อน

โดยเรือลำนี้กำหนดราคาขายไว้ที่หัวละ 2,000 บาท สำหรับคนไทย และ 2,500 บาท สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ขณะที่ “พิชิต กุลเกียรติเดช” เจ้าของเรือลำนี้ยอมรับว่า ขณะนี้ธุรกิจเรือนำเที่ยวในแม่น้ำเจ้าพระยานั้นแข่งด้านราคากันสูงมาก สูงจนน่าห่วงว่าสุดท้ายจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของการท่องเที่ยวทางเรือของไทย

พร้อมประกาศว่า ไม่สนใจสงครามราคา จะยืนราคามาตรฐานไว้ เพราะมั่นใจในโปรดักต์ว่ามีคุณภาพ ที่สำคัญ เขาโฟกัสลูกค้ากลุ่ม “พรีเมี่ยม” เป็นหลัก

แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นคือ มีข่าวแว่วมาว่ามีกลุ่มผู้ประกอบการเรือรายหนึ่ง ที่มองเห็นโอกาสของธุรกิจนี้กำลังสั่งต่อเรือดินเนอร์ลำใหม่ และกำลังจะออกมาให้บริการเร็ว ๆ นี้

โดยลักษณะภายนอกแทบจะเหมือนเรือวันเดอร์ฟูล เพิร์ล ทั้ง 100% ที่สำคัญ ใช้อู่ต่อเรือเดียวกับของ “วันเดอร์ฟูล เพิร์ล” ด้วย

หรือเรียกว่า แทบจะสั่ง “ก๊อบปี้” กันออกมาเลยทีเดียว

จะเกิดอะไรในน่านน้ำ “เจ้าพระยา” ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ โปรดติดตาม…