ส่องโอกาส “ข้าวหอมมะลิไทย” ในตลาด EU

คอลัมน์ มองข้ามชอต

โดย กัญญารัตน์ กาญจนวิสุทธิ์ Economic Intelligence Center (EIC) ธ.ไทยพาณิชย์

ข้าวหอมมะลิถือเป็นหนึ่งในสินค้าสำคัญที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนการส่งออกข้าวของไทย โดยมูลค่าการส่งออกข้าวหอมมะลิในแต่ละปีคิดเป็นสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 25% ของมูลค่าการส่งออกข้าวไทยโดยรวม อีกทั้งราคาส่งออกข้าวหอมมะลิยังสูงกว่าข้าวประเภทอื่น ๆ ค่อนข้างมาก โดยในปี 2018 ราคาส่งออกข้าวหอมมะลิอยู่ที่ 1,139 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน ในขณะที่ราคาส่งออกข้าวชนิดอื่น ๆ อย่างข้าวขาว 5% และข้าวขาว 100% อยู่ที่ 421 และ 444 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน ตามลำดับ

ทั้งนี้ ในปี 2018 ไทยส่งออกข้าวหอมมะลิไปยังตลาดโลก รวม 1.3 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 1,413 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ สหรัฐ จีน ฮ่องกง และ EU คิดเป็นสัดส่วนปริมาณการส่งออก 33%, 14%, 12% และ 8% ของปริมาณการส่งออกข้าวหอมมะลิไทยโดยรวม ตามลำดับ

เมื่อพิจารณาอัตราการเติบโตของปริมาณการส่งออกข้าวหอมมะลิไทยไปยังตลาดส่งออกหลักในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2015-2018) พบว่า อัตราการเติบโตเฉลี่ยของตลาดจีน และฮ่องกง มีแนวโน้มลดลงเล็กน้อยที่ราวร้อยละ 1 ต่อปี ในขณะที่อัตราการเติบโตเฉลี่ยของตลาดสหรัฐ และ EU ขยายตัวร้อยละ 3 และ 9 ตามลำดับ ซึ่งการเติบโตอย่างโดดเด่นของปริมาณการส่งออกข้าวหอมมะลิไทยไป EU

สะท้อนถึงโอกาสในการขยายตลาดส่งออกข้าวหอมมะลิ โดยมีปัจจัยหนุนจากผู้บริโภคในกลุ่ม EU ที่มีการเปิดรับการรับประทานข้าวที่หลากหลายประเภทและหลากหลายสายพันธุ์ รวมทั้งยังมีปริมาณนำเข้าข้าวที่สีบ้างแล้ว หรือสีทั้งหมด โดยรวมเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นการนำเข้าจากอิตาลี ซึ่งเป็นประเทศในกลุ่ม EU ด้วยกันมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วน 24%

รองลงมาเป็นการนำเข้าจากกัมพูชาและไทย คิดเป็นสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน คือ 15% และ 14% ตามลำดับ

ปฏิเสธไม่ได้ว่า กัมพูชา คือ คู่แข่งสำคัญของไทย ในการส่งออกข้าวไปยังตลาด EU โดยข้าวที่กัมพูชาส่งออกไป EU ส่วนใหญ่เป็นข้าวหอมสายพันธุ์เมล็ดยาว ซึ่งเป็นคู่แข่งโดยตรงของข้าวหอมมะลิไทย ทั้งนี้ ข้อได้เปรียบหลักของกัมพูชาอยู่ที่ราคาส่งออกที่อยู่ในระดับต่ำกว่าไทย 200-300 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน

โดยราคาส่งออกข้าวที่สีบ้างแล้ว หรือสีทั้งหมดของกัมพูชา อยู่ที่ 600-700 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน เทียบกับไทยซึ่งอยู่ที่ 800-1,000 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน อนึ่ง ส่วนต่างของราคาส่งออกข้าวที่สูงนี้ เป็นผลมาจากการที่กัมพูชาได้รับสิทธิพิเศษในการยกเว้นภาษีนำเข้าข้าว

จากมาตรการ Everything But Arms (EBA) ซึ่งเป็นมาตรการที่ EU ยกเว้นการเก็บภาษีและไม่จำกัดโควตาการนำเข้าสินค้าทุกชนิด ยกเว้นสินค้ากลุ่มอาวุธยุทโธปกรณ์ ให้กับกลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ในขณะที่ปัจจุบันไทยต้องเสียภาษี 145 ยูโร/ตัน สำหรับการส่งออกข้าวไปยัง EU

ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา EU เริ่มนำเข้าข้าวจากกัมพูชาเพิ่มสูงขึ้นมาก ในระดับที่กระทบต่อประเทศผู้ผลิตข้าวใน EU เอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อิตาลี ซึ่งมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยของปริมาณข้าวที่นำเข้าจากกัมพูชาในช่วงปี 2014-2017 สูงถึง 26% ต่อปี จึงได้มีการร้องเรียนให้ใช้มาตรการปกป้องผู้ผลิตข้าวใน EU ส่งผลให้ EU ประกาศยกเลิกมาตรการ EBA ที่ให้กับกัมพูชา ในเดือนมกราคม 2019 โดยเริ่มดำเนินการเก็บภาษีการนำเข้าข้าวจากกัมพูชาเป็นเวลา 3 ปี ซึ่งในปี 2019 ได้เริ่มเก็บภาษี 175 ยูโร/ตัน และจะลดการเก็บภาษีลงเหลือ 150 และ 125 ยูโร/ตัน ในปี 2020 และ 2021 ตามลำดับ

Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์มองว่า สถานการณ์ดังกล่าวจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคาให้กับข้าวไทย เนื่องจากราคาส่งออกข้าวของกัมพูชาไป EU ในปี 2019 จะเพิ่มสูงขึ้น จากต้นทุนด้านภาษีอีกประมาณ 175 ยูโร/ตัน หรือประมาณ 200 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน ซึ่งจะทำให้ราคาส่งออกข้าวของกัมพูชาขยับขึ้นมาใกล้เคียงกับราคาข้าวไทย และอาจจูงใจให้ชาวยุโรปหันมาเลือกบริโภคข้าวไทยแทนที่ข้าวกัมพูชามากขึ้น

ทั้งนี้ ภาครัฐและผู้ส่งออกข้าวไทยอาจใช้โอกาสนี้นำเสนอจุดแข็งของข้าวหอมมะลิไทย ทั้งด้านความหอมและนุ่มที่เป็นเอกลักษณ์ แตกต่างจากข้าวของคู่แข่ง รวมถึงยังสามารถใช้ข้อได้เปรียบด้านช่องทางในการทำการตลาดข้าวหอมมะลิผ่านร้านอาหารไทยในฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นประเทศที่มีร้านอาหารไทยให้บริการจำนวนมาก อีกทั้งยังได้รับความนิยมสูงจากผู้บริโภค นอกจากนี้ยังสามารถใช้โอกาสจากการที่ประชากร EU เปิดรับการรับประทานข้าวหลากหลายประเภทและสายพันธุ์ ขยายตลาดส่งออกข้าวประเภทอื่น ๆ ไปพร้อม ๆ กัน เช่น ข้าวสี ข้าวกล้อง ข้าวออร์แกนิก เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดสำคัญของข้าวหอมมะลิไทยยังอยู่ที่ปริมาณผลผลิตที่ผันผวน โดยแปรผันไปตามภาวะน้ำแล้งและน้ำท่วม ยกตัวอย่าง เช่น ในปี 2018 ซึ่งเป็นปีที่แหล่งเพาะปลูกข้าวหอมมะลิที่สำคัญในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเผชิญภาวะน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ส่งผลให้ผลผลิตข้าวหอมมะลิโดยรวมทั้งประเทศลดลงมาอยู่ที่ 6.6 ล้านตันข้าวเปลือก จากในปีปกติที่มีผลผลิตข้าวหอมมะลิ 7.7-7.9 ล้านตันข้าวเปลือกซึ่งภาครัฐอาจบรรเทาปัญหาโดยการวางแผนบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติอย่างเป็นระบบในพื้นที่แหล่งเพาะปลูกข้าวหอมมะลิที่สำคัญ รวมถึงขยายพื้นที่ชลประทานให้เพียงพอ เพื่อช่วยให้ผลผลิตและคุณภาพของข้าวหอมมะลิไทยสมบูรณ์และสม่ำเสมอ

ขณะเดียวกัน ผู้ส่งออกข้าวไทยก็ยังต้องรักษามาตรฐานของข้าวหอมมะลิที่ส่งออกไป EU ให้เป็นไปตามกฎหมายความปลอดภัยด้านอาหารของ EU อย่างสม่ำเสมอ ทั้งการปฏิบัติตามมาตรฐาน GMP และ HACCP ไปจนถึงการควบคุมปริมาณสารตกค้างและสารปนเปื้อนต่าง ๆ ไม่ให้เกินปริมาณที่กำหนดได้ รวมถึงการยกระดับคุณภาพข้าวหอมมะลิไทยให้ผ่านมาตรฐานอื่น ๆ ของ EU เพิ่มเติม อย่างการควบคุมการผลิตและการติดฉลากสินค้าอินทรีย์ ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพข้าวหอมมะลิไทยให้มีความพรีเมี่ยมมากยิ่งขึ้น

ในระยะต่อไป ภาครัฐควรมุ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการบริโภคข้าวของตลาด EU ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการส่งออกข้าวของไทยได้ในระยะยาว นอกจากนี้ยังต้องควบคุมคุณภาพตลอดห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่การใช้เทคโนโลยีมาช่วยเพาะปลูก เก็บเกี่ยว สีข้าว เก็บรักษา ไปจนถึงขนส่งข้าว เพื่อช่วยรักษาคุณภาพผลผลิตข้าวไทยให้มีความหอมและนุ่มที่เป็นเอกลักษณ์ และลดการปนเปื้อน ซึ่งจะเป็นการช่วยยกระดับคุณภาพข้าวไทยให้มีความพรีเมี่ยมได้มากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ภาครัฐและผู้ส่งออกข้าวไทยควรส่งเสริมการวิจัย และพัฒนาเพื่อแปรรูปข้าวไปสู่สินค้าอื่น ๆ เช่น อาหาร เครื่องดื่ม เวชสำอาง เป็นต้น เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับข้าวไทย และลดความเสี่ยงด้านราคาที่ยังต้องเผชิญกับความผันผวนและขึ้นอยู่กับสถานการณ์ความไม่แน่นอนในตลาดโลก

ทั้งนี้ ภาครัฐอาจผลักดันให้มีข้าวหอมมะลิ และข้าวสายพันธุ์อื่น ๆ ขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (geographical indication : GI) กับ EU เพิ่มเติม นอกเหนือจากข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ และข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนแล้ว เพื่อยกระดับข้าวไทยให้มีชื่อเสียง และเป็นที่ยอมรับใน EU และตลาดโลกต่อไป