หลักสูตรต้านโกง

คอลัมน์ สามัญสำนึก 

โดย พิเชษฐ์ ณ นคร

สมรภูมิเลือกตั้งโค้งสุดท้าย นักการเมืองแข่งขายฝันกันฝุ่นตลบ ลด แจก แถม สารพัดแพ็กเกจ ที่พรรคการเมืองแต่ละพรรคนำเสนอ แม้ส่วนใหญ่จะย้ำว่า ไม่ใช่ “ประชานิยม” แต่การแปลงโฉมนโยบายแจก แถม เป็นเหล้าเก่าในขวดใหม่ กินขาด “ประชานิยม” เดิม ๆ กระจุย

การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ และการป้องกันแก้ไขทุจริตคอร์รัปชั่น เป็นประเด็นหลักอีก 2 เรื่องที่พรรคการเมืองทั้งใหญ่ เล็ก นำมากำหนดเป็นนโยบายและชูเป็นจุดขาย ส่วนจะทำจริงจังแค่ไหน สาธารณชนมีส่วนสำคัญในการเร่งรัดผลักดันให้นโยบายเหล่านี้ถูกแปรไปสู่การปฏิบัติ ไม่ใช่แค่ให้นักการเมืองท่องจำเป็นสูตรคูณตอนหาเสียงเลือกตั้ง

อย่างการป้องกันปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ จะให้ได้ผลต้องทำให้คนรู้ผิด ชอบ ชั่ว ดี ไม่เห็นแก่เงินทอง สิ่งของ หรือลาภไม่สมควรได้ ปลูกฝังค่านิยมเรื่องการซื่อสัตย์สุจริต ให้เคารพกฎหมาย ควบคู่กับส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และรณรงค์ปลุกจิตสำนึกให้เป็นคนดีตั้งแต่วัยเด็ก

Anticorruption Education หลักสูตรต้านทุจริตศึกษา หรือ “หลักสูตรต้านโกง” ตามข้อเสนอของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น (ป.ป.ช.) และได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 22 พฤษภาคม 2561 กำลังถูกนำมาใช้ขยายผล ต่อยอดสร้างเยาวชนพันธุ์ใหม่ “ไม่ทนต่อการทุจริต”

โดยจะถูกบรรจุไว้ในการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับปฐมวัย หรือศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล สถานศึกษาระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอาชีวศึกษาทุกแห่ง ทั้งจัดสอน
เป็นรายวิชาเพิ่ม นำไปใช้ในชั่วโมงลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ นำไปบูรณาการกับการจัดการเรียนการสอนในกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม หรือจัดสอนในกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2562

ขณะเดียวกันก็ให้หน่วยงานภาครัฐตั้งแต่ระดับกระทรวง ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือกับ ป.ป.ช. เพื่อนำหลักสูตรนี้ไปปรับใช้ในโครงการ หรือหลักสูตรฝึกอบรมข้าราชการ บุคลากรภาครัฐ หรือพนักงานที่บรรจุใหม่ โดยให้ครอบคลุมถึงบุคลากรทางการศึกษา เช่น ครู อาจารย์ หรือผู้ที่ทำหน้าที่เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน และหลักสูตรอุดมศึกษา ให้บุคลากรเหล่านั้นสามารถนำความรู้ไปใช้ในการถ่ายทอด หรือประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

วัตถุประสงค์เพื่อปลูกฝังและสร้างวัฒนธรรมต่อต้านการทุจริต โดยให้สามารถแยกแยะได้ว่า สิ่งใดเป็นประโยชน์ต่อส่วนตน สิ่งใดเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ยึดประโยชน์ส่วนร่วมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน มีจิตพอเพียงต้านทุจริต ละอายและเกรงกลัวที่จะทุจริต ที่สำคัญ ไม่ทนต่อการทุจริตทุกรูปแบบ

แต่ละหลักสูตรประกอบด้วย เนื้อหาหลัก 4 ชุดวิชา คือ 1.การคิดแยกแยะระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ส่วนรวม 2.ความละอายความไม่ทนต่อการทุจริต 3.Strong : จิตพอเพียงต้านทุจริต และ 4.พลเมืองและความรับผิดชอบต่อสังคม

ล่าสุด กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น โดยอธิบดี สุทธิพงษ์ จุลเจริญ ขานรับนโยบายต้านโกง สร้างวัฒนธรรมต่อต้านการทุจริต ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ ให้สั่งการหน่วยงานท้องถิ่นนำหลักสูตร ต้านทุจริตศึกษา หรือ Anticorruption Education บรรจุไว้ใน

การเรียนการสอนของโรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เริ่มจากภาคเรียนที่ 1 ปีนี้ ตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย แต่ละระดับชั้นจะมีชั่วโมงเรียนตลอดปี รวม 40 ชั่วโมง

จากนั้นจะมีการประเมินผลโดยใช้เครื่องมือ แบบทดสอบ แบบประเมินการปฏิบัติงาน และแบบสังเกตพฤติกรรมการปฏิบัติงาน โดยนักเรียนที่ผ่านการประเมินทุกกิจกรรมร้อยละ 80 ขึ้นไป จะถือว่าผ่านเกณฑ์ประเมิน

ตั้งเป้าหล่อหลอมกล่อมเกลาเยาวชนให้เป็นพลเมืองดี สร้างวัฒนธรรมต่อต้านการทุจริต ปลูกฝังความพอเพียง มีวินัย และซื่อสัตย์สุจริต มีภูมิคุ้มกันคอร์รัปชั่น…โตไปไม่โกง