บั่นทอนความเชื่อมั่น

(แฟ้มภาพ)นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต.
คอลัมน์ สามัญสำนึก โดย สมปอง แจ่มเกาะ

 

การเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ของประเทศเสร็จสิ้นลงไปแล้ว

หลังปิดหีบหลายคนติดตามความเคลื่อนไหวการนับคะแนนอย่างใจจดจ่อ ลุ้นกันตั้งแต่เย็นย่ำค่ำยันดึกดื่นเที่ยงคืน

ลุ้นว่าพรรคไหนจะชนะการเลือกตั้ง ใครจะได้เป็น ส.ส. ผู้สมัครคนใดสอบได้หรือสอบตก

แต่น่าเสียดาย ประชาชนคนไทยออกมาใช้สิทธิใช้เสียงน้อยไปหน่อย

จากข้อมูลของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุมีผู้ออกมาใช้สิทธิเพียง 65% จากผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด 51.2 ล้านคน

ต่ำกว่าเป้าที่ กกต. คาดว่าจะมีผู้ออกมาใช้สิทธิ 80%

ถัดมาเช้าวันจันทร์ ตลาดหุ้น เปิดซื้อขาย ปรากฏว่าแดงเถือก ช่วงเช้าร่วงไป 14.68 จุด ปิดตลาดช่วงเย็นลดลงไปถึง 20.38 จุด มูลค่าการซื้อขายราว ๆ 47,000 ล้านบาท

คงสะท้อนเรื่องความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อการเลือกตั้งและการเมืองไทยได้ไม่มากก็น้อย

ระหว่างทางที่ กกต. ยังไม่ประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ หัวข้อสนทนายอดฮิตของนักธุรกิจ ชาวบ้านร้านตลาด ร้อยทั้งร้อยคุยเรื่องการเลือกตั้ง…พรรคไหนจะได้คะแนนมากได้คะแนนน้อย, ใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี

อีกเรื่องหนึ่งก็มีการกล่าวขานถึงมากกว่าก็เห็นจะเป็น

การทำงานการทำหน้าที่ของ กกต. ที่ถูกตำหนิติเตียนว่า ไม่โปร่งใส ไม่ชอบธรรม

เสียดายตังค์ เสียดายงบประมาณ

หลายคนถึงขนาดว่ามีการล่ารายชื่อเพื่อถอดถอน กกต. เลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม จากผลการนับคะแนนของหน่วยเลือกตั้งต่าง ๆ ที่ กกต. ทยอยประกาศออกมา แม้จะยังไม่ใช่ผลการเลือกตั้งและการรับรองรายชื่อผู้ที่ได้เป็น ส.ส.อย่างเป็นทางการ แต่เบื้องต้นคงพอจะอนุมานได้ว่า การที่การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่มี

พรรคไหนที่ได้เสียงชนะแบบขาดลอย จึงมีความเป็นไปได้สูงที่รัฐบาลใหม่จะต้องออกมาในรูปของ “รัฐบาลผสม” 

ขณะที่อีกด้านหนึ่งก็เริ่มมีภาพของการร้องเรียน กกต. ที่ทยอยมีเข้ามาเรื่อย ๆ เช่น ร้องเพื่อขอให้ กกต. นับคะแนนใหม่,ร้องว่าพรรคโน้นพรรคนี้ ผู้สมัครคนโน้นคนนี้ ทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง หรือบ้างพรรคก็มีความข้องใจ ร้องให้ กกต. เปิดเผยคะแนนเป็นรายหน่วย เพราะมั่นใจว่าพรรคตัวเองมีคะแนนชนะ หรือบางรายถึงกับมีการร้องให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะเลยทีเดียว ฯลฯ

จากนี้ไป กกต.ก็คงต้องพิจารณาสำนวนไต่สวนต่าง ๆ ที่มีการร้องเข้ามา

หากมีการระงับสิทธิสมัคร มีการเลือกตั้งใหม่ ลำดับบัญชีรายชื่อ ส.ส. ก็จะเปลี่ยนไปด้วย

นี่คือสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นตามมา

ระหว่างปิดต้นฉบับ (เช้าวันอังคารที่ 26 มีนาคม) 2 พรรคใหญ่ พรรคเพื่อไทย (พท.) และพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่ได้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) อันดับ 1 และ 2 กำลังประกาศช่วงชิงความได้เปรียบในการจัดตั้งรัฐบาล สูตรการรวมพรรคเพื่อตั้งรัฐบาลผสมมีออกมาให้คิดคำนวณหลายโมเดล

แต่ก็ดูท่าทีจะไม่จบง่าย ๆ ส่วนเกมจะพลิกมาพลิกไปอย่างไร ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

เผลอ ๆ อาจจะลากยาวจากเดือน หรือมากกว่านั้น 

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า จากความไม่แน่นอน ความไม่ชัดเจนที่เป็นอยู่ ยังไม่รู้ว่าพรรคไหนจะจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ หรือหลังจากที่ตั้งรัฐบาลผสมได้แล้วผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร

รัฐบาลใหม่จะมีเสถียรภาพมากน้อยแค่ไหน จะอยู่ได้ยาวนานหรือไม่ ฯลฯ ล้วนเป็นสิ่งที่นักธุรกิจนักลงทุนให้ความสำคัญ

ล่าสุด เท่าที่ได้พูดคุยกับนักธุรกิจ นักลงทุน ที่กำลังพิจารณาโครงการลงทุนใหม่จำนวนหนึ่ง ทุกคนพูดไปในทิศทางเดียวกันว่า ตอนนี้ขอชะลอโครงการไว้ก่อน เพื่อรอดูความชัดเจน 

หากสถานการณ์ยิ่งยืดเยื้อมากแค่ไหน ก็จะกระทบกับการลงทุนใหม่ ๆ มากขึ้นเท่านั้น

คงไม่มีใครอยากจะเอาเงินร้อยล้านพันล้านมาแขวนไว้บนเส้นด้าย

ได้แต่ภาวนาว่า ขอให้สิ่งที่เกิดขึ้นนี้จะเป็นเพียงจุดเล็ก ๆ ที่ไม่ขยายตัวเป็นวงใหญ่ขึ้น

 

คลิกอ่านเพิ่มเติม ธุรกิจรุกเสนอวาระรัฐบาลใหม่ เทเงินลงทุน…ชุบชีวิตเศรษฐกิจ