แบงก์ชาติมนต์เสน่ห์งานศิลป์ (1)

(ซ้ายบน)อนาคต วาดโดย อ.ถวัลย์ ดัชนี (ขวาบน)สัมมาทิฐิ วาดโดย อ.อังคาร กัลยาณพงศ์ (ซ้ายล่าง)สวรรค์บนดิน วาดโดย อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ (ขวาล่าง) ฝ่าวิกฤต : วาดโดยผู้ว่าการกำจร สถิรกุล
คอลัมน์ ระดมสมอง โดย รณดล นุ่มนนท์

 

ผมยังจำวันที่ต้องเข้ามาสอบสัมภาษณ์ที่แบงก์ชาติเมื่อ 30 ปีที่แล้วได้ว่า ต้องขึ้นมาที่ชั้น 4 อาคารสำนักงานใหญ่ (อาคาร 2 ปัจจุบัน) ได้เห็นห้องทำงานและห้องประชุมที่ดูเข้มขรึม สมกับเป็นสถานที่ทำงานของธนาคารกลาง พร้อม ๆ กับสังเกตเห็นภาพเหมือนของผู้ว่าการแบงก์ชาติจากอดีตตั้งแต่ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ผู้ว่าการแบงก์ชาติพระองค์แรก จนถึงผู้ว่าการ นุกูล ประจวบเหมาะ ที่ติดเรียงรายอยู่ตามฝาผนังก่อนเข้าห้องประชุมใหญ่ และเมื่อเข้ามาทำงานอย่างเต็มตัวจึงสังเกตได้ว่าภายในบริเวณที่ทำงานแวดล้อมไปด้วยงานศิลปะ ทั้งงานด้านจิตรกรรมและประติมากรรม เรียกได้ว่าเป็น art museum แห่งหนึ่งที่หลายคนคงไม่คาดคิดว่าแบงก์ชาติที่มีแต่งานเครียด ๆ จะมีอารมณ์สุนทรีย์กับเขาด้วย

การสะสมงานศิลปะเริ่มต้นตั้งแต่สมัยท่านผู้ว่าการป๋วย ท่านเป็นผู้ที่สนใจในงานศิลปะ เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งมูลนิธิศิลป์พีระศรี ท่านมักจะไปชมงานแสดงจิตรกรรมของนักศึกษา พร้อมทั้งสั่งภาพเหล่านั้นไปติดตั้งในตัวอาคารที่ทำงานบ่อยครั้ง ซึ่งนักศึกษาบางคนได้กลายมาเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงในปัจจุบัน ทั้งนี้ คุณชุมพล ดอนสกุล อดีตผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักผู้ว่าการ ได้กล่าวว่า “สมัยอาจารย์ป๋วย” ท่านได้เก็บรูปของ ม.ล.ปุ่ม มาลากุล ไว้เยอะยุคสมัยนั้นประมาณปี 2510 ซื้อกันในราคา 3-4 พันบาท ก็ดูเหมือนว่ามีราคาแพง แต่พอมาถึงปัจจุบันมีราคาแพงมาก ซึ่งแบงก์ชาติมีสะสมร่วม 10 รูป แสดงให้เห็นถึงสายตาอันแหลมคมของผู้ที่เก็บสะสมไว้ ผู้ว่าการป๋วยได้กล่าวไว้ว่า

“…ประชาคมใดที่เพิกเฉยต่อความงามและศิลปะ ประชาคมนั้นย่อมจะเจริญสมบูรณ์มิได้ และประชาคมใดที่เอาใจใส่บำรุงศิลปวิทยา ประชาคมนั้นย่อมประสบความเจริญ มิใช่แต่ในด้านศิลปะอย่างเดียวย่อมจะเจริญในด้านความดีและความจริง อันเป็นองค์ประกอบแห่งสันติสุขแห่งมนุษย์ประชาคม…”

ความสนใจในงานศิลปะของผู้บริหารและพนักงานแบงก์ชาติมีมาอย่างต่อเนื่อง ในสมัยของผู้ว่าการ พิสุทธิ์ นิมมานเหมินท์ ท่านได้เริ่มเก็บงานแกะสลักของ “ครูคำอ้าย” ปรมาจารย์ด้านการแกะสลักของจังหวัดเชียงราย พร้อมติดต่อให้ คุณจักรพันธุ์ โปษยกฤตมาวาดภาพเหมือนของผู้ว่าการแบงก์ชาติ จนมาถึงในช่วงยุคของผู้ว่าการกำจร สถิรกุล และผู้ว่าการ ชวลิต ธนะชานันท์ ที่มีการจัดหาภาพจิตรกรรมเข้ามาเพิ่มเติม

โดยเฉพาะผู้ว่าการกำจรที่มอบภาพที่ท่านลงมือวาดรูปสีน้ำมันที่สวยงามด้วยตนเองให้กับธนาคารหลายรูป จึงไม่แปลกใจที่ปัจจุบันมีภาพวาดของศิลปินดังแทบทุกคนในประเทศไทยไม่ว่าจะเป็น อ.ถวัลย์ ดัชนีอ.อังคาร กัลยาณพงศ์ อ.ประเทือง เอมเจริญ อ.สวัสดิ์ ตันติสุข และ อ.อวบ สาณะเสน ฯลฯ ที่สะสมอยู่ที่แบงก์ชาติ

แบงก์ชาติเคยจัดนิทรรศการประกวดงานศิลป์ เมื่อปี พ.ศ. 2525 ในโอกาสเปิดอาคารสำนักงานใหม่ และในปี 2535 ในโอกาสครบรอบ 50 ปี ทำให้ได้ภาพศิลป์เพิ่มเติม แต่งานศิลป์ที่ประดับที่แบงก์ชาตินั้น มิใช่ว่ามีเงินก็จะซื้อได้ ศิลปินแต่และท่านจะมีความเป็นศิลปินสูง เข้าถึงยาก จึงต้องตระเวนไปหาถึงบ้าน หรือติดตามไปถึงสถานที่ที่ศิลปินออกไปหาบรรยากาศสร้างผลงาน เช่น อาจารย์สวัสดิ์ ตันติสุข และ อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ที่ทีมงานได้ไปหาท่านถึงจังหวัดเชียงราย บ้านเกิด เพื่อไปอ้อนวอนขอซื้อภาพจากท่าน

“อย่างอาจารย์ถวัลย์เป็นคนที่รักสถาบันแบงก์ชาติอยู่แล้ว ดังนั้น งานท่านจะพิถีพิถันแล้วเลือกเก็บไว้ให้เรา ท่านบอกไม่ขายใคร แต่หากแบงก์ชาติจะเอา… ให้ เพราะภาพได้นำมาแขวนไว้ในสถาบันที่มีความสำคัญนั้นถือว่าเป็นเกียรติ”

ในขณะที่ภาพของอาจารย์ประเทือง เป็นภาพใบบัวมีหยดน้ำค้างสวยมาก ท่านไม่ยอมขาย จึงใช้หลักในการอ้อนวอนศิลปินให้ขายภาพ ด้วยวิธีการ คือ “ถ้าคุณขายภาพให้แบงก์ชาติก็เท่ากับว่า คุณยังเป็นเจ้าของอยู่นะ คิดถึงมันเมื่อไหร่มาหาเราจะพาไปดู มันอยู่ตรงนี้ มันไม่ใช่สมบัติของใครคนใดคนหนึ่ง แต่ว่ามันเป็นของส่วนรวม เท่ากับเอาผลงานของเขามาเป็นของชาติ”

ในวงการศิลปินนั้น หากใครได้มีผลงานไปปรากฏบนอาคารแบงก์ชาติจะถือเป็นความภาคภูมิใจ ที่ผลงานของตนได้รับความสนใจจากสถาบันของชาติ มีบ่อยครั้งที่ อาจารย์อังคาร กัลยาณพงศ์ แวะเวียนไปเยี่ยมผลงานของตนที่แบงก์ชาติ แล้วก็ชื่นชมว่า “เอ๊ะ…ตัวเราก็มีพลังสามารถวาดภาพได้ยิ่งใหญ่ขนาดนี้”

ด้วยความภูมิใจอันนี้ แบงก์ชาติเห็นว่าน่าจะมีผลงานของ อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ประดับไว้ที่บนผนังของแบงก์ชาติสักชิ้นหนึ่ง ผู้บริหารจึงได้ติดต่ออาจารย์เฉลิมชัย ผ่านทาง อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี แล้วยิงประโยคจี้ใจว่า “แบงก์ชาติปัจจุบันเก็บงานของศิลปินที่มีชื่อเสียงหลายท่านแล้ว แต่ยังไม่มีงานของอาจารย์เฉลิมชัยเลย” ปรากฏว่าได้ผล อาจารย์เฉลิมชัยกลับบ้านหอบงานชิ้นเยี่ยมมาให้กับแบงก์ชาติ

แม้ว่าในช่วงหลังมีการสะสมงานศิลปะที่น้อยลง ด้วยภาวะเศรษฐกิจ แต่ก็ยังมีการจัดสรรให้งบประมาณอยู่บ้างในโอกาสพิเศษ เช่น การเปิดอาคารสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ (อาคาร 1) และศูนย์การเรียนรู้ ธปท. คุณประดิษฐ์ ปริฉัตร์ตระกูล เจ้าหน้าที่งานบริหารอาวุโส ฝธอ. ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า งานศิลป์ที่แบงก์ชาติได้สะสมไว้จากอดีตถึงปัจจุบันมีมากกว่า 500 ชิ้น จากศิลปินร่วม 200 คน ด้วยผลงานของศิลปินทั้งหลาย ทำให้เราได้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของศิลปวัฒนธรรมต่าง ๆ ในแต่ละยุคสมัย ผ่านงานศิลป์ในครั้งหน้า ผมจะขอยกตัวอย่างงานศิลป์ที่อยู่คู่แบงก์ชาติมาถ่ายทอดให้พวกเราได้ชื่นชมกันครับ