แบงก์ชาติมนต์เสน่ห์งานศิลป์ (จบ)

"ประตูเงิน ประตูทอง" ผลงาน ธงชัย ศรีสุขประเสริฐ

คอลัมน์ ระดมสมอง โดย รณดล นุ่มนนท์

ฉบับที่แล้วผมได้เกริ่นไว้ว่า จะขอยกตัวอย่างงานศิลป์ที่ผ่านสายตาพวกเราเกือบทุกวัน มาถ่ายทอดให้ทราบกัน ดังนั้น เพื่อไม่ให้เสียเวลา เราเดินชมไปด้วยกันเลยครับ ผลงานชิ้นแรกไม่ต้องก้าวไปไกล เพราะเมื่อเงยหน้าขึ้นภายหลังจากก้าวเข้ามาภายในอาคาร 1 เพียงไม่กี่ก้าวก็จะเห็นเป็นจิตรกรรมผืนใหญ่ ตั้งเด่นสง่าอยู่ตรงโถงประตูทางเข้าก่อนเดินมาถึงปีกผีเสื้อ มีชื่อผลงานว่า “ประตูเงิน ประตูทอง” ประตูนี้จะเปิดต้อนรับผู้มาเยือนทุกคน

แสดงให้เห็นถึงความละเอียดประณีตและสง่างามของไทยที่เน้นความร่วมสมัย เน้นรูปลักษณ์ความเป็น “เงิน” และ “ทอง” ก่อให้เกิดความรู้สึกมหัศจรรย์ ปีติ และอิ่มเอิบใจ เมื่อเดินผ่านประตูเข้ามา เป็นผลงานของศิลปิน “ธงชัย ศรีสุขประเสริฐ” ใช้สีอะคริลิก ผสมทองคำเปลวลงบนผ้าใบ โครงสร้างและโลหะผสมน้ำหนักเบา และเมื่อมองตรงไปข้างหน้าจะเห็นประติมากรรมสัมฤทธิ์ สูงเด่นเป็นสง่า ซึ่งเพื่อนพนักงานจะเรียกชื่อแตกต่างกัน เช่น “มะรุม” “มะเฟือง” แต่แท้จริงแล้วผลงานดังกล่าวมีชื่อว่า “กลุ่ม” โดยศิลปินแห่งชาติ “ชำเรือง วิเชียรเขตต์”

“กลุ่ม” ผลงาน ชำเรือง วิเชียรเขตต์

แนวคิดเกิดจากพลังเคลื่อนไหวของคลื่นอันอ่อนหวาน และจากหน้าผาภูกระดึงที่สง่างาม จากพืชพันธุ์ ที่อุดมสมบูรณ์ จากปริมาตรส่วนโค้งของมนุษย์และจากเอกลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมไทยเพื่อสื่อถึงการรวมพลัง สร้างสรรค์ เก้าปริมาตร เคลื่อนไหวสู่ความบริสุทธิ์ ความมั่นคง ความดีงาม เป็นพลังของความรักความสามัคคี เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ร่วมกันฟันฝ่าอุปสรรคทั้งหลาย เพื่อสร้างสรรค์ความดีงาม นำความเจริญก้าวหน้ามั่นคงมาสู่ประเทศชาติ

ผลงานทั้งสองนำมาประดับไว้ตั้งแต่เริ่มเปิดใช้อาคารสำนักงานใหญ่แห่งใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2550 งานศิลป์ชิ้นต่อมาต้องเดินขึ้นมาตรงทางเชื่อมอาคาร 1 ชั้น 4 เป็นงานประติมากรรมที่พวกเราสัมผัสได้ใกล้ชิดที่สุดเมื่อเดินผ่านเพื่อไปห้องประชุมป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นรูปผีเสื้อ

สีสดใสโบยบินผ่านสถานที่สำคัญ ๆ โดยรอบแบงก์ชาติ เช่น สะพานพระราม 8 บางลำพู ท่าพระอาทิตย์ ท่าช้าง สามย่าน ถนนเสือป่า และสถานที่ที่เป็นใจกลางกรุงเทพมหานคร เช่น มาบุญครอง ภูเขาทอง สีลม

ประติมากรรมดังกล่าวยังเล่าเรื่องราววิถีชีวิตของชุมชนและสภาพแวดล้อมต่าง ๆ โดยรอบ เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา รถตุ๊กตุ๊ก และยังผสมผสานวัฒนธรรมจีนของคนไทยเชื้อสายจีนที่ตั้งหลักปักฐานในประเทศไทย โดยมีตัวอักษรจีน (ฮก ลก ซิ่ว) 3 เทพเจ้าจีน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนความเป็นมงคล

3 ประการ ได้แก่ โชคดี ยศถาบรรดาศักดิ์ และอายุยืนยาว

ประติมากรรมดังกล่าวมีชื่อว่า “โบยบินในมหานคร” โดยศิลปิน “ธนพล ไชยช่วย”

ประดับด้วยกระเบื้อง อะลูมิเนียมไม้อัดแกะร่อง จำนวน 9 ชิ้น นำมาประกอบต่อเนื่องกันไป โดยมีแนวคิดนำเสนอ

รูปทรงของสิ่งที่แทนความงาม อันได้แก่ ธรรมชาติ และวัตถุที่เกิดขึ้นจากมนุษย์ สองสิ่งนี้มีการเจริญเติบโตและมีความสวยงามเฉพาะตัว และสามารถอยู่ร่วมกัน

ได้อย่างสันติต่อเมื่อเรารู้จักถ้อยทีถ้อยอาศัยซึ่งกันและกัน

ชิ้นสุดท้ายที่จะขอนำเสนอเป็นประติมากรรมที่เคยถูกตั้งไว้หลายสถานที่ เพราะถูกตั้งคำถามในเรื่องฮวงจุ้ย คิดว่าจะทำให้พวกเรามีแต่งานยุ่ง ๆ น่าปวดหัว ซึ่งในที่สุดก็นำมาตั้งไว้บริเวณด้านหลังอาคาร 2 เมื่อเดินเข้ามาจากด้านหน้าอาคาร 2 และมองทะลุกระจกไปด้านหลังจะเห็นรูปปั้นผู้หญิงนั่งเอามือข้างหนึ่งจับศีรษะ ตั้งเด่นสง่าอยู่บนสนามหญ้าที่เขียวขจี

เมื่อมองที่รูปปั้นนี้ แต่ละคนจะมีความรู้สึกที่แตกต่างกัน เช่น “เธอกำลังนั่งคิดอะไรอยู่นะ” “เธอปวดหัวหรือเปล่า” “เธอมีเรื่องทุกข์ใจอะไรไหม” มุมมองของแต่ละบุคคลย่อมแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับประสบการณ์และทัศนคติ ห้ามใครคิดไม่ได้ แต่อย่างน้อย งานศิลป์ก็ได้ทำหน้าที่สะท้อนให้ผู้คนที่พบเห็นเกิดความรู้สึกมีอารมณ์ร่วมเมื่อได้ชมผลงาน ช่างสมกับคำกล่าวของถวัลย์ ดัชนี ที่เคยกล่าวไว้ว่า “ศิลปะไม่ได้มีไว้ให้เข้าใจ แต่มีไว้ให้รู้สึก”

ผลงานดังกล่าวเป็นของศิลปินแห่งชาติ “ชลูด นิ่มเสมอ” ชื่อผลงาน “คิด” ผลงานนี้ได้รับรางวัลเหรียญเงิน

ประเภทประติมากรรม ในงานแสดง

ศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 6

พ.ศ. 2498 ชิ้นที่ได้รางวัลจะเป็นรูปหล่อ ปูนปลาสเตอร์ ปัจจุบันจัดแสดงที่อยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์ ภายหลังได้มีการหล่อเป็นสำริดรมดำจำนวน 5 ชิ้น และชิ้นที่ 3 เป็นกรรมสิทธิ์ของแบงก์ชาติ เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2536

ผลงานนี้เป็นมุมมองการตีความเรื่อง “ความเป็นไทย” “ชลูด” กล่าวว่า “…ฝรั่งนั่งอย่างนี้ไม่ได้ นั่งไม่เป็นหรอก

คนไทยต้องนั่งผ้าถุงตึงอย่างนี้ คนกรุงเทพฯ

ยังไม่รู้จักเลย นั่งผ้าถุงตึงแล้วตรงนี้มันคล้ายกระเป๋าจิงโจ้ เลี้ยงลูกก็เอาใส่ไว้ในนั้น มันก็ดิ้นไม่ได้ไปไหนก็ไม่ได้อยู่ในกระเป๋าแม่” การปั้นโดยการลดทอน

รายละเอียด คงเหลือในรูปทรงที่เป็นรูปธรรม แต่ยังคงสัมผัสรับรู้ได้ถึงความรู้สึก สื่อด้วยอากัปกิริยา ท่วงท่าการนั่งคิดของผู้หญิงชนบท ซึ่งเป็นปกติของชาวชนบท ดูเรียบง่าย เหมือนชีวิต

ความเป็นอยู่ และความนึกคิดของชาวชนบท

ผลงานชิ้นนี้อาจสื่อว่า แบงก์ชาติเป็นศูนย์รวมของผู้ที่มีความรู้ความสามารถเป็นนักคิด ที่ต้องครุ่นคิดด้วยความละเอียดรอบคอบ เพราะการ

ตัดสินใจในแต่ละเรื่องนั้น มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ งานศิลป์

ที่ผมได้ยกตัวอย่างให้ได้ชื่นชมกันนั้น เป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของงานศิลป์ที่แบงก์ชาติได้สะสมไว้

หากเพื่อนพนักงานต้องการชื่นชมงานศิลป์ของศิลปินท่านใดสามารถสืบค้นได้จากลิงก์ด้านล่าง นอกจากนี้ ผมได้เชิญคุณประดิษฐ์ ปริฉัตร์ตระกูล และคุณสุกันยา ย่านเดิม จากฝ่ายธุรการและบริหารอาคาร ผู้ให้ข้อมูลในการเขียน เป็นวิทยากรนำชมงานจิตรกรรมและประติมากรรมภายในแบงก์ชาติ ในวันศุกร์ที่ 12 เมษายน 2562 นี้ เวลา 11.30 น.