New Food Warrior สู้ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม

แฟ้มภาพ

คอลัมน์ แตกประเด็น

โดย ยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร

 

ต้องยอมรับครับว่า ในปัจจุบันอุตสาหกรรมอาหารเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ล่าช้า และไม่ขยายตัวไปในวงกว้างเท่าใดนัก เพราะกว่า 99% ของผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร คือ กลุ่มเอสเอ็มอี ซึ่งมีอยู่ประมาณ 1 แสนราย จากจำนวนผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารทั้งหมดราว 1.1 แสนราย

ขณะเดียวกัน เทคโนโลยีที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นเทคโนโลยีขั้นพื้นฐาน ไม่สามารถสนองตอบเทคโนโลยีใหม่ที่ทันสมัยได้ เพราะข้อจำกัดหลายเรื่อง ยกเว้นผู้ประกอบการรายใหญ่ในกลุ่ม big brother ที่นับวันจะก้าวล้ำไปไกลมาก บางรายมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและอินเทอร์เน็ตมาใช้ในทุกกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำอย่างครบวงจรแบบ “smart factory”

ผมขอยกตัวอย่างกระบวนการผลิตบางส่วนในอุตสาหกรรมอาหารที่มีการนำเทคโนโลยี AI หรือ “ปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence)” มาใช้ได้อย่างลงตัว หรือคาดว่าจะมีการประยุกต์ใช้ในอนาคตอันใกล้ ซึ่งผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถนำไปเป็นไอเดียได้ครับ เช่น ขั้นตอนของการคัดขนาดและจัดเรียงวัตถุดิบเพื่อบรรจุในบรรจุภัณฑ์ หรือเข้าสู่กระบวนการแปรรูปสินค้า

เพราะวัตถุดิบที่รับซื้อมาจากเกษตรกรมีขนาดหลากหลาย อาทิ มันฝรั่งหัวใหญ่และรูปทรงไม่สม่ำเสมอ อาจเหมาะกับการทำเฟรนช์ฟราย ในขณะที่มันฝรั่งหัวที่มีรูปร่างยาวเป็นทรงกระบอกจะเหมาะกับการทำมันฝรั่งทอดกรอบ เป็นต้น หรือกรณีการคัดมะเขือเทศแต่ละลูกโดยใช้สีเป็นเกณฑ์ในการจัดกลุ่ม ปัญหาดังกล่าวจะหมดไปโดยใช้เซ็นเซอร์ชนิดใช้แสง (optical sensor) เป็นตัวช่วยในการตรวจสอบขนาดและรูปร่างของวัตถุ ประสานกับความสามารถในการเรียนรู้ของเครื่องจักร ซึ่งจะสร้างภาพที่เหมือนกับที่ผู้บริโภคมองเห็น ระยะเวลาในการคัดเลือกและจัดเรียงสินค้าสั้นลง ได้รับผลผลิตมากขึ้น ลดของเสีย และทำให้ได้สินค้ามีคุณภาพดีขึ้น

ในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ บริษัทสามารถผลิตอาหารได้ตรงใจผู้บริโภคมากขึ้น โดยการเรียนรู้จากข้อมูลผู้บริโภคที่ถูกป้อนเข้ามาในระบบ จากนั้นก็จะใช้กระบวนการ data mining ในการประมวลผลและคาดการณ์เพื่อกำหนดลักษณะรสชาติที่ผู้บริโภคต้องการ

การทำความสะอาดเครื่องจักรอุปกรณ์ ไม่นานมานี้มีนักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยน็อตติ้งแฮมแห่งสหราชอาณาจักร ได้พัฒนาระบบที่ใช้เทคโนโลยี AI เพื่อลดระยะเวลาในการทำความสะอาด และลดความสิ้นเปลืองทรัพยากรได้ไม่น้อยกว่า 20-40% มีหลักการทำงานโดยอัลตราโซนิกเซ็นเซอร์ (ultrasonic sensors) ในการตรวจจับและวัดเศษอาหาร รวมถึงจุลินทรีย์ในชิ้นส่วนอุปกรณ์หรือเครื่องจักร ในทางปฏิบัติจะไม่มีการถอดประกอบเครื่องจักร คาดว่าจะประหยัดต้นทุนในอุตสาหกรรมอาหารในสหราชอาณาจักรได้ไม่น้อยกว่า 100 ล้านปอนด์ต่อปี

ปัจจุบันมีการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ในตลาดอีกเป็นจำนวนมาก ที่ผู้ประกอบการสามารถนำไปปรับใช้เพื่อเพิ่มผลิตภาพทางธุรกิจได้ เทคโนโลยี AI เป็นเพียงหนึ่งในตัวอย่างของเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ในเรื่องดังกล่าว แต่การที่ยังไม่มีการนำเทคโนโลยีไปใช้ในวงกว้าง ส่วนหนึ่งมาจากการขาดองค์ความรู้ในการปรับใช้เทคโนโลยีนั่นเอง

ในปี 2562 นี้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) จึงได้ร่วมกับสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม ริเริ่มพัฒนาศักยภาพทางธุรกิจให้กับอุตสาหกรรมอาหารผ่าน “โครงการยกระดับอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร โดยนำมาตรฐาน ผลิตภาพ และนวัตกรรม เป็นเครื่องมือในการเพิ่มขีดความสามารถนักรบอุตสาหกรรมพันธุ์ใหม่ (New Food Warrior 2019)” ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมอาหารในกลุ่มอาหารอนาคต (future food) โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี ตั้งเป้าไว้จำนวน 250 ราย ให้เข้าร่วมกิจกรรมการพัฒนาศักยภาพทางธุรกิจ และมุ่งหน้าสู่ความสำเร็จด้วยกัน โดยจะได้รับการอบรมและให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ

จากนั้นคัดเลือกไว้ 25 สถานประกอบการที่มีศักยภาพเพื่อเข้ารับการอบรมเชิงปฏิบัติการ-เชิงลึกเพื่อสร้างเครือข่าย New Food Warrior และเข้าสู่โปรแกรมเพิ่มผลิตภาพ พาไปศึกษาดูงานเรื่องการทำธุรกิจกับคู่ค้าต่างประเทศ ผลักดันให้เกิดการจับคู่ธุรกิจ (business matching) ร่วมออกบูทแสดงสินค้า สร้างพันธมิตรทางธุรกิจ เกิดการสร้างเครือข่ายและการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน ซึ่งโครงการนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ และจะแล้วเสร็จในช่วงเดือนสิงหาคมปีนี้ โดยจะทยอยทำอย่างต่อเนื่องในรุ่นต่อ ๆ ไป

การสร้างนักรบพันธุ์ใหม่ในอุตสาหกรรมอาหาร เป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นมากครับ ประเมินว่าหากทำได้อย่างน้อยปีละ 1,500 คน และตั้งเป้าหมายพัฒนาให้ได้ 30,000 คน ภายใน 20 ปี จะมีส่วนช่วยผลักดันภาคการผลิตของประเทศให้ขยายตัวได้ 7-8% จากปัจจุบันอยู่ที่ 3% และจะยกระดับเป็นผู้สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีคุณภาพและมีมูลค่าเพิ่มสูงออกสู่ตลาด ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้เกิดการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การเติบโตของธุรกิจเกี่ยวเนื่อง

ท้ายที่สุดก็จะเกิดการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากได้อย่างแน่นอนครับ