สิ่งที่สำคัญกว่าเทคโนโลยี

ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. (แฟ้มภาพ)

คอลัมน์ สามัญสำนึก

โดย ดิษนีย์ นาคเจริญ

ถ้า “กสทช.” หรือที่จริงต้องร่วมด้วยช่วยกันหลายฝ่ายผลักดันทำให้การนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ได้จริงในบ้านเราในปี 2563 ตามที่รัฐบาล ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ประกาศไว้ปีที่แล้ว ประเทศไทยจะอยู่ในกลุ่มประเทศแรก ๆ ที่มีการใช้ ต้องรีบขนาดนั้นไหมน่าคิด แต่ก็ไม่ควรช้าเหมือนกรณี 3G

ในงาน “5G ปลุกไทยที่ 1 อาเซียน” โดย กสทช., กระทรวงดีอี, คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และมติชน 3 เม.ย.ที่ผ่านมา ชัดเจนว่าทุกฝ่ายเห็นประโยชน์จาก 5G และพร้อมสนับสนุนให้เกิดขึ้น โดยค่ายมือถืออยากให้ภาครัฐดูแล ต้นทุนในการให้บริการก็อย่างที่รู้กันว่าแต่ละรายเพิ่งควักกระเป๋าจ่ายค่าคลื่นและลงทุน 4G กันไป ถ้าต้องลงอีกคงคิดหนัก

“ฐากร ตัณฑสิทธิ์” เลขาธิการ กสทช.ย้ำว่า การเกิดขึ้นของ 5G จะทำให้ไทยเป็นที่ 1 ในอาเซียน ทั้งในแง่การดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจกว่า 2.3 ล้านล้านบาท ทั้งสำทับว่าในปี 2565 สังคมไทยจะเข้าสู่การเป็นสังคมสูงวัย จึงควรมี smart hospital เข้ามาช่วยลดต้นทุนด้านสาธารณสุขของประเทศ

ฟากผู้ให้บริการคิดไม่ต่างกัน “วีรวัฒน์ เกียรติพงษ์ถาวร” หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านธุรกิจสัมพันธ์และองค์กร เอไอเอสชี้ว่า ความเร็วสูงของ 5G จะทำให้การพัฒนาบริการดีขึ้น เช่น ยานยนต์ไร้คนขับ แต่จะให้บริการได้สมบูรณ์ต้องมี 3 ย่านความถี่ คือ high band, mid band และ low band ด้วยแบนด์วิดท์โดยรวมที่ 1 จิกะเฮิรตซ์ เทียบได้กับ 10 เท่าของ 4G แต่ผู้ให้บริการส่วนใหญ่มีคลื่นในมือแค่ 50-60 MHz เพราะราคาสูงมาก ทั้งคลื่น 4G ในไทยแพงสุดเมื่อเทียบกับมาตรฐานโลก ดังนั้น การก้าวไปสู่ 5G จึงต้องไม่ซ้ำรอย 4G

ประเทศที่มีโครงข่าย 5G ให้บริการแล้ว ล้วนเป็นผู้ผลิ9gทคโนโลยี ผลิตอุปกรณ์สำหรับเอไอเอส และประเทศไทยน่าจะสักปี 2564-2565 ข้อมูลจากหัวเว่ยได้เปรียบเทียบราคาแบนด์วิดท์ต่อ MHz ต่อประชากรของ 5G อย่างเกาหลีใต้ว่าอยู่ที่ 47% ของ 4G สเปน 30% อังกฤษ 58% ขณะที่ราคาคลื่น 4G ของไทยแพงมากจนไม่รู้จะเทียบ 5G อย่างไร ทั้งที่มาตรฐานโลกต้นทุน 5G ควรอยู่ที่ 5% ของ 4G

ระหว่างนี้ “เอไอเอส” ให้การสนับสนุน 5G เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์กับสถานศึกษา, นักศึกษา, นักประดิษฐ์รวมแล้วนับพันราย มีการทดสอบทดลอง อาทิ สมาร์ทมิเตอร์, สมาร์ทไลฟ์ รวมถึงรถยนต์ไร้คนขับ และร่วมกับคณะวิศวฯ จุฬาฯนำ 5G ไปทดลองใช้ในด้านต่าง ๆ

“วิเชาวน์ รักพงษ์ไพโรจน์” รองประธานคณะกรรมการบริหาร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น บอกว่า บริษัทตั้งเป้าผลักดันให้เกิด 5G ขึ้นโดยเร็ว 5G ยังไม่ใช่เทคโนโลยีสำหรับผู้บริโภคทั่วไปแต่จะเข้าไปสู่ภาคธุรกิจ ภาคการผลิตต่าง ๆ ก่อน อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ และการแพทย์ ซึ่งเป็นจุดแข็งของประเทศไทยอยู่แล้ว ดังนั้น หากผลักดันการนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ให้ถูกทางจะมีส่วนทำให้เศรษฐกิจมหภาคของไทยเปลี่ยนแปลง แต่ต้นทุนค่าคลื่นไม่ควรแพง

“ผู้บริหารทรู” ย้ำว่า บริษัทโฟกัส 5G เรื่องการแพทย์ สาธารณสุข ซีเคียวริตี้ทั้งส่วนบุคคลและสาธารณะ ขนส่ง โรโบติก และเกษตร เริ่มเทสต์ตั้งแต่ ธ.ค.ปีที่แล้ว เพราะจะทำให้ได้ดีต้องมี use case เหมาะสม 40-50% ของรายได้ 5G มาจากองค์กร ต้องพัฒนาคู่ไปกับ 4G อีกเป็น 10 ปี โอเปอเรเตอร์ต้องแบกรับการลงทุน 4G ให้มีคุณภาพสูงคู่กับ 5G จึงอยากให้ภาครัฐกำหนดราคาคลื่นที่เหมาะสมและยืดหยุ่นต่อการลงทุน

เช่นกันกับ “ซีอีโอดีแทค” มองว่าต้องมีแนวทางการกำกับดูแลที่เอื้อไม่ว่าจะเป็นการแชร์ใช้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม, แผนจัดสรรความถี่ที่ชัดเจน และความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

“ยอดชาย อัศวธงชัย” ผู้บริหารเครือจัสมินเสริมว่า 5G สนับสนุนให้ทุกอุตสาหกรรมมีศักยภาพในการผลิตเพิ่มขึ้น มีความหลากหลายในการใช้โซลูชั่นต่าง ๆ ลดต้นทุนการลากสาย fixed wireless broadband ทำให้นำ IOT มาใช้ประโยชน์มากขึ้นก่อให้เกิดข้อมูลมหาศาลที่จะนำไปใช้ได้ ซึ่งหลายประเทศมีโอเปอเรเตอร์หลายรายเพื่อให้เกิดการแข่งขัน

สิ่งที่สำคัญกว่าเทคโนโลยีจึงอยู่ที่การนำมาใช้ประโยชน์บนต้นทุนที่เหมาะสมเพื่อไม่ให้ภาระตกอยู่ที่ผู้ใช้บริการ