จิสด้า ไขข้องใจ ขับหนีรถติดสงกรานต์ GPS พาลงเขื่อนไปได้อย่างไร?

ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการจิสด้า
จากกรณีระบบ GPS พาผู้ใช้รถเลี่ยงรถติดบนถนนมิตรภาพแต่กลับพบว่าถนนที่นำทางมาถูกน้ำในเขื่อนลำตะคองท่วมจนเลิกใช้ทางไปแล้ว เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงการทำงานของระบบ GPS ว่าเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหนนั้น

ในฐานะที่ระบบ GPS นี้เป็นผลิตผลโดยตรงของ “เทคโนโลยีอวกาศ” ซึ่งนำมาใช้เป็น “ภูมิสารสนเทศ” สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า จึงขอมีส่วนช่วยคลายความสงสัยให้กับคนไทย ดังนี้

GPS ย่อมาจาก Global Positioning System เป็นชื่อของกลุ่มดาวเทียมของสหรัฐอเมริกาซึ่งเริ่มโครงการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2516 เพื่อส่งข้อมูลเพื่อกำหนดตำแหน่งบนโลกรวมถึงในห้วงอากาศด้วย

โดยในปัจจุบัน ระบบ GPS มีดาวเทียมประมาณ 30 ดวงโคจรอยู่เหนือพื้นโลก ณ ความสูงประมาณ 20,000 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ทุกจุดของโลก ผู้ใช้งานจะต้องมีเครื่องรับสัญญาณตรงจากดาวเทียมเพื่อนำมาคำนวณตำแหน่ง ในปัจจุบันระบบรับสัญญาณตั้งแต่ขนาดใหญ่ที่ติดตั้งบนเรือเดินสมุทรหรืออากาศยาน จนถึงขนาดจิ๋วที่อยู่ในโทรศัพท์มือถือแบบ Smart Phone ซึ่งโดยปกติ เครื่องที่มีขนาดใหญ่หรือมีการติดตั้งบนสถานที่ที่มีความเสถียรสูงก็มักจะมีความถูกต้องแม่นยำมากกว่าเครื่องขนาดเล็กหรือเครื่องที่ใช้งานแบบมือถือ แต่ก็ไม่เสมอไป

ในปัจจุบัน นอกจากสหรัฐอเมริกาแล้ว ประเทศอื่นๆ เช่น รัสเซีย จีน สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และอินเดีย ก็มีระบบดาวเทียมแบบเดียวกันเพื่อใช้งานในชื่อต่างๆ กัน ดังนั้น จึงได้มีการกำหนดชื่อกลางของระบบดาวเทียมแบบนี้ว่า Global Navigation Satellite System หรือ GNSS

ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการจิสด้า กล่าวว่า ความผิดพลาดของระบบ GNSS หรือ GPS มาจากหลายสาเหตุ โดยอย่างแรกคือสัญญาณตรงจากดาวเทียมเองจะคลาดเคลื่อนประมาณ 5-10 เมตร หรือกว่านั้นขึ้นกับจำนวนดาวเทียมที่เครื่องวัดรับสัญญาณได้ในขณะนั้นรวมถึงปัจจัยอื่นๆ เช่น สภาพอากาศอีกด้วย ซึ่งการแก้ไขในเรื่องนี้สามารถทำได้โดยการใช้สถานีอ้างอิงภาคพื้นดินที่ให้บริการค่าแก้แบบต่อเนื่อง ที่เรียกว่า Continuously Operating Reference Stations หรือ CORS ซึ่งจะทำให้ความคลาดเคลื่อนลดลงเหลือเพียงระดับเป็นเซนติเมตรเท่านั้น ในหลายประเทศเช่น ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีสถานี CORS เป็นจำนวนมาก มีการให้บริการค่าแก้แก่ประชาชนทั่วไปทั้งแบบฟรีและคิดค่าบริการแล้ว

สำหรับในประเทศไทย กรมที่ดินได้ติดตั้งระบบ CORS เพื่อการรังวัดแปลงที่ดินมาระยะหนึ่งแล้ว รวมถึงกรมแผนที่ทหารก็ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการภูมิสารสนเทศแห่งชาติให้ดำเนินการติดตั้งสถานี CORS อีกกว่า 100 สถานีทั่วประเทศและจัดตั้งศูนย์ข้อมูล CORS แห่งชาติ ดังนั้นในอนาคตอันใกล้นี้เราก็จะสามารถใช้งานระบบ GNSS ในระดับความแม่นยำสูง

แต่ทั้งนี้เครื่องรับสัญญาณ GNSS หรือ GPS ที่ใช้งานนั้นจะต้องสามารถรับค่าแก้จากสถานี CORS ได้แบบ real-time ผ่านระบบสื่อสาร เช่น อินเตอร์เนตหรือสัญญาณโทรศัพท์มือถือด้วย ดังนั้นเครื่องรับสัญญาณ GPS รุ่นเก่าที่ไม่มีระบบสื่อสาร ก็จะไม่สามารถใช้งานระบบ CORS ได้

ความผิดพลาดอีกประการหนึ่งของระบบ GNSS หรือ GPS มาจากแผนที่ที่เครื่องรับสัญญาณแต่ละเครื่องใช้งาน

โดยอาจจะแบ่งประเภทของเครื่องได้เป็น 3 ประเภท คือ ประเภทที่ 1 ได้แก่เครื่องที่ไม่สามารถ update แผนที่ได้ มาจากโรงงานอย่างไรก็เป็นอย่างนั้นตลอดไป เครื่องเหล่านี้จึงมีโอกาสผิดพลาดมากที่สุดเพราะพื้นที่มีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เช่น การก่อสร้างหรือการปิดยกเลิกถนน สะพาน ฯลฯ หรือ การเปลี่ยนแปลงกฏการจราจร เป็นต้น เครื่องประเภทที่ 2 ได้แก่เครื่องที่สามารถ update แผนที่ได้ แต่ผู้ใช้งานต้องทำเองแบบ manual ดังนั้นผู้ใช้งานจึงต้องใส่ใจและติดตามกับผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายเครื่องอย่างสม่ำเสนอ มิฉะนั้นเครื่องของท่านก็จะไม่แตกต่างจากเครื่องประเภทที่ 1 ส่วนเครื่องรับสัญญาณ GNSS

ประเภทที่ 3 คือเครื่องที่สามารถ update แผนที่ได้แบบ online ซึ่งทำให้ได้ข้อมูลล่าสุดแบบอัตโนมัติ ตัวอย่างเช่นแอพพลิเคชั่นที่อยู่บนโทรศัพท์มือถือ หรือเครื่อง GPS/GNSS ที่สามารถเชื่อมต่อกับอินเตอร์เนตหรือสัญญาณโทรศัพท์ได้

ถึงแม้ว่าเครื่องรับสัญญาณ GPS จะมีการ update แผนที่อย่างสม่ำเสมอ แต่ถ้าตัวแผนที่นั้นไม่มีความถูกต้องเพียงพอ ความผิดพลาดดังเช่นที่เกิดขึ้นที่อ่างเก็บน้ำลำตะคองก็จะยังสามารถเกิดขึ้นได้อีก ซึ่งในปัจจุบันการผลิตและปรับปรุงแผนที่ของระบบ GPS/GNSS นั้นดำเนินการโดยบริษัทเอกชน โดยใช้วิธีการและมาตรฐานการทำแผนที่ที่แตกต่างกัน โดยมีทั้งการนำแผนที่กระดาษมาแปลงเป็นข้อมูลดิจิทัล ประกอบกับการสำรวจพื้นที่จริงมากบ้างน้อยบ้างตามศักยภาพของบริษัท รวมถึงการใช้ภาพถ่ายจากดาวเทียมรายละเอียดสูงที่ทันสมัยมาใช้ด้วย


ทั้งนี้ จิสด้า ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของรัฐที่มีส่วนในการกำหนดมาตรฐานด้านการสำรวจจากระยะไกลและระบบภูมิสารสนเทศของประเทศจึงจะได้เร่งดำเนินการให้มีกำหนดและกำกับมาตรฐานแผนที่ฐานของระบบ GPS/GNSS ของประเทศ เพื่อเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือและเพิ่มความสะดวกในการใช้งานของประชาชนต่อไป