ธรรมดา…ไม่ทำ “ทุกสนามที่ลง เราต้องชนะ”

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย ก้อย ประชาชาติ

 

3 เมกะโปรเจ็กต์ยักษ์ที่พร้อมจะทยอยอวดโฉมในปี 2021-2022 ต่อจากนี้ จะกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญอย่างยิ่งของ “กลุ่มเดอะมอลล์” 

ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของเม็ดเงินลงทุนจำนวนมหาศาลกว่าแสนล้าน ซึ่งถือว่ามากนับตั้งแต่กลุ่มเดอะมอลล์ได้ลงทุนมา แต่การเคลื่อนทัพครั้งนี้ยังหมายถึงการประกาศ grand statement ของกลุ่มเดอะมอลล์ในสมรภูมิค้าปลีกรอบใหม่ ที่บ่งบอกตัวตนว่า “ธรรมดา…ไม่ทำ” 

บางนา “แบงค็อก มอลล์”, สุขุมวิท “เอ็มสเฟียร์” และเดอะมอลล์ รามคำแหง ที่ทุบตึกเก่าพร้อมสร้างใหม่ จะกลายเป็น 3 หัวหอกที่จะเข้ามาพลิกโฉมกลุ่มเดอะมอลล์อย่างเต็มรูปแบบ

เป็นการ “ทรานส์ฟอร์ม” ครั้งสำคัญ ไม่เพียงเพื่อสร้างการเติบโตที่ต่อเนื่องและยั่งยืน เพื่อก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่ 4 ของกลุ่มเดอะมอลล์ แต่ยังเป็นการปรับและเปลี่ยนเพื่อรับมือกับความท้าทายของธุรกิจรีเทลในยุคดิจิทัล

“ธรรมดา…เราไม่ทำ การแข่งขันของธุรกิจเราไม่จำเป็นต้องไปสู้ทุกสนาม แต่ทุกสนามและทุกทำเลที่เราไปลงทุน เราต้องชนะ เพราะฉะนั้น สูตรในการทำธุรกิจของเราจึงต้องเลือกว่าอันไหน แบบไหน จะเป็น winning formula ที่สอดคล้องกับการทำงานของเรา”

“คุณแอ๊ว” ศุภลักษณ์ อัมพุช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป ย้ำตลอดถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญถึงการทำงานของเดอะมอลล์ นอกจากการขยายสาขาใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นแล้วนั้น big data ที่ถูกต้องและแม่นยำ เป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับการแข่งขันในธุรกิจค้าปลีกในยุคปัจจุบันที่ต้องเจอความท้าทายมากขึ้นจากเดิม การเข้ามาของอีคอมเมิร์ซหรือค้าปลีกออนไลน์ทำให้ธุรกิจต้องมีการปรับตัว

เช่นเดียวกับการทรานส์ฟอร์มครั้งสำคัญของกลุ่มเดอะมอลล์ ที่เราเรียกว่า M transformation เพื่อเป็นการโตแบบก้าวกระโดดครั้งสำคัญของเดอะมอลล์ กรุ๊ป เพื่อเข้าสู่ทศวรรษที่ 4 เราจะทำอย่างไรเพื่อดึงคนเข้ามาในศูนย์การค้า ให้คนอยากมาเดินในศูนย์การค้า กลายเป็นโจทย์ที่สำคัญว่า เราต้องมีอะไร และเราต้องให้มากกว่าที่ลูกค้าคาดหวัง

“เมื่อก่อนทำเลเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจศูนย์การค้า ตอนนี้ก็ยังสำคัญ แต่มันต้องมากกว่านั้น ที่สำคัญ คือ แม็กเนตใหม่ ๆ เราต้องหาว่าอะไรที่จะเป็นตัวดึงทราฟฟิกให้คนอยากมาเดินห้าง อยากมาเดินศูนย์การค้า คำตอบนอกจากทำเล-ความใหญ่ของศูนย์การค้า-ครบเครื่องของสินค้าและบริการแล้วนั้น เอ็นเตอร์เทนเมนต์ มิกซ์ยูส และพาร์ตเนอร์ที่หลากหลาย กลายเป็นส่วนสำคัญ ซึ่งการที่เดอะมอลล์ร่วมทุนกับ AEG เป็นคำตอบ เพราะ attraction และ powerfull magnet เป็นอาวุธที่สำคัญมากและสร้างความแตกต่างให้โดดเด่นในการทำธุรกิจจากนี้”

และหลังจากนี้จะเห็นภาพการทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์ต่าง ๆ ที่มากขึ้นทั้งในระดับโลคอลและโกลบอลที่จะสร้างการเติบโตของธุรกิจร่วมกัน ทิศทางของกลุ่มเดอะมอลล์จะไม่เป็นเพียงห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าเท่านั้นอีกต่อไปแล้ว

ในยุคของการแข่งขันทุกธุรกิจมีการปรับตัวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ในแต่ละทำเลแต่ละสาขาจะมีความหลากหลาย ภาพของเดอะมอลล์จากนี้จึงเป็นได้หมดทั้งศูนย์การค้า มิกซ์ยูส โรงแรม อสังหาฯ attraction เอ็นเตอร์เทนเมนต์ ที่จะเข้ามาเสริมเป็นแม็กเนตของแต่ละทำเล

ช่วง 2-4 ปีจากนี้จะเห็นความเปลี่ยนแปลงของกลุ่มเดอะมอลล์อย่างชัดเจน ทั้งในเรื่องของการลงทุนสาขาใหม่ ซึ่งมี 3 โปรเจ็กต์ยักษ์เป็นหัวใจสำคัญของการพลิกโฉม อาทิ BANGKOK MALL โครงการซึ่งเป็น grand statement ทำเลที่ดีที่สุด จุดตัดถนนบางนา-ตราดกับสุขุมวิท เชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสถานีอุดมสุขและบางนา และรถไฟฟ้าไลต์เรลในอนาคตจากสี่แยกบางนาถึงสุวรรณภูมิ บนที่ดินกว่า 100 ไร่ ขนาดโครงการ 1,200,000 ตร.ม. ภายใต้คอนเซ็ปต์ City within The City จะเปิดให้บริการในปี 2022

โครงการดิ เอ็มสเฟียร์ พื้นที่กว่า 200,000 ตร.ม. บนทำเลใจกลางย่านสุขุมวิท และเมื่อสร้างเสร็จจะกลายเป็นย่าน “ดิ เอ็มดิสทริค” รวม 3 โครงการ ดิ เอ็มโพเรียม, ดิ เอ็มควอเทียร์ และดิ เอ็มสเฟียร์ อาณาจักรขนาด 650,000 ตร.ม. ใจกลางสุขุมวิท พร้อมเปิดให้บริการในปี 2022และเดอะมอลล์ รามคำแหง เป็นการทุบตึกเก่าทิ้งและสร้างใหม่ในรูปแบบ “mixed use complex” บนพื้นที่กว่า 30 ไร่ มีพื้นที่กว่า 230,000 ตร.ม. คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2021-2022

เช่นเดียวกับการยกเครื่องสาขาเดิม เดอะมอลล์ ท่าพระ, งามวงศ์วาน, บางแค และบางกะปิ ภายใต้คอนเซ็ปต์ THE MALL IFESTORE, A HAPPY PLACE TO LIVE LIFE ด้วยรูปโฉมใหม่ทั้งหมด ซึ่งจะทยอยเปิดพร้อมกันในช่วง 2-3 ปีจากนี้

เมื่อความเปลี่ยนแปลงของ “ลูกค้า” มีความซับซ้อน กลายเป็นโจทย์ที่ท้าทายในทุกวินาทีของการทำธุรกิจ “รีเทล” ที่ต้องก้าวไปให้มากกว่าและเร็วกว่าลูกค้า