การเตรียมตัวรับมือ Brexit ไทยได้รับผลเชิงบวกมากกว่าลบ

แฟ้มภาพ
คอลัมน์ แตกประเด็น

โดย อรมน ทรัพย์ทวีธรรม
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

การถอนตัวของสหราชอาณาจักร (ยูเค) ออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) หรือที่เรียกกันว่า เบร็กซิต (Brexit) นั้น จนถึงบัดนี้ได้ใช้เวลาเกินกว่า 2 ปีแล้ว โดยเริ่มนับกันเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2560 ซึ่งเป็นวันที่ยูเคยื่นหนังสือแจ้งความจำนงอย่างเป็นทางการต่ออียู ตามผลการลงประชามติ เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2559 ที่ร้อยละ 51.9 ของผู้ลงคะแนนทั้งหมด สนับสนุนให้ยูเคออกจากการเป็นสมาชิกอียู

โดยมีสาเหตุสำคัญจากการไม่ต้องการรับภาระหนี้ของประเทศสมาชิกอียูอื่น ปัญหาการเข้าประเทศของผู้อพยพต่างชาติ และความต้องการอิสระในการทำข้อตกลงการค้ากับประเทศอื่น ๆ ได้เอง เป็นต้น ซึ่งแม้ว่าตามสนธิสัญญาลิสบอน จะกำหนดให้ยูเคต้องออกจากอียูภายใน 2 ปี หรือภายในวันที่ 29 มีนาคม 2562 โดยทั้งสองฝ่ายจะต้องเจรจากันเพื่อจัดทำความตกลงฯรูปแบบและเงื่อนไขความสัมพันธ์ใหม่ (Withdrawal Agreement) เพื่อให้การออกจากอียูเป็นไปอย่างราบรื่นเป็นขั้นตอน

แต่จากความเห็นต่างของ ส.ส.ในรัฐสภายูเค ทำให้ความตกลง Withdrawal ที่คณะเจรจาของทั้งสองฝ่ายได้สรุปผลแล้วเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2561 ไม่ผ่านการให้สัตยาบันทั้ง 3 ครั้ง (วันที่ 15 มกราคม, 12 มีนาคม, 29 มีนาคม 2562) และทำให้ยูเคจำเป็นต้องขออียูเลื่อนกำหนดเบร็กซิตเป็นวันที่ 12 เมษายน 2562

การที่รัฐสภายูเคมีมติไม่รับความตกลงฯ ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2562 ด้วยคะแนนเสียง 344 ต่อ 286 เสียง ทำให้เกิดความเสี่ยงว่าหากรัฐสภายูเคยังไม่สามารถรับความตกลงฯได้ภายในวันที่ 12 เมษายน 2562 อาจส่งผลให้ยูเคจะต้องออกจากการเป็นสมาชิกอียูแบบไม่มีข้อตกลงฯ (no deal Brexit)

ดังนั้น นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรี จึงได้ดำเนินการทั้ง 1) หารือกับ นายเจเรมี คอร์บิน ผู้นำพรรคแรงงาน ซึ่งเป็นฝ่ายค้านและคัดค้านการให้สัตยาบันต่อความตกลงฯตั้งแต่เริ่มต้น โดยหวังว่าหากสามารถบรรลุข้อประนีประนอมได้ รัฐสภาก็จะสามารถให้สัตยาบันต่อความตกลงฯได้ต่อไป

และ 2) ได้ยื่นจดหมายถึงอียูเพื่อขอขยายระยะเวลาเบร็กซิตอีกครั้งไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2562 แต่สามารถออกจากอียูได้ก่อนวันดังกล่าว หากสามารถบรรลุข้อตกลงฯได้โดยเร็ว ซึ่งผู้นำอียู 27 ประเทศได้กำหนดประชุมสมัยพิเศษเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2562 เพื่อพิจารณาข้อเสนอดังกล่าว

ปัจจุบันยังคาดการณ์ได้ยากว่า ผลสุดท้ายในเรื่องเบร็กซิตจะลงเอยเช่นไร โดยยังมีความเป็นไปได้ในทุกรูปแบบ อาทิ การออกจากการเป็นสมาชิกอียูแบบไม่มีข้อตกลงฯ การยกเลิกการออกจากการเป็นสมาชิกอียู (Revoke Article 50) การจัดการลงประชามติครั้งใหม่ และการจัดการเลือกตั้งรัฐบาลยูเค

ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด อาทิ ผลการหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีเมย์กับนายคอร์บินว่าจะสามารถหาข้อประนีประนอมได้หรือไม่ และข้อประนีประนอมดังกล่าวจำเป็นต้องแก้ไขความตกลง Withdrawal ที่ตกลงกันแล้วหรือรูปแบบความสัมพันธ์ในอนาคตหรือไม่ และอียูจะสามารถยอมรับข้อเสนอแก้ไขดังกล่าวได้หรือไม่ รวมทั้งผลการพิจารณาการขยายเวลาเบร็กซิตของผู้นำอียู 27 ประเทศในวันที่ 10 เมษายน ศกนี้ ว่าจะเห็นชอบหรือไม่ หรือเห็นชอบโดยมีเงื่อนไขอย่างไร

อย่างไรก็ดี ในกรณีที่รัฐสภาสหราชอาณาจักรสามารถให้สัตยาบันต่อความตกลง Withdrawal ได้ ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงให้มีช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 โดยจะเป็นช่วงที่ยูเคยังคงเป็นสมาชิกอียูดั้งเดิมทุกอย่าง แต่ไม่มีอำนาจร่วมการตัดสินใจใด ๆ ในอียู เพื่อให้ยูเคมีเวลาปรับตัวเพียงพอก่อนออกจากอียูอย่างเต็มรูปแบบ

รวมทั้งหาแนวทางดำเนินการที่จะไม่กระทบอำนาจอธิปไตยของแต่ละฝ่ายหลังแยกตัวออกจากกัน ขณะเดียวกัน ก็ไม่กระทบกับความตกลงสันติภาพระหว่างไอร์แลนด์ที่จะยังอยู่ในอียูกับไอร์แลนด์เหนือที่จะแยกตัวออกมาพร้อมสหราชอาณาจักร เพื่อหลีกเลี่ยงการตั้งด่านชายแดนบนเกาะไอร์แลนด์ระหว่างกันอย่างถาวร

ผลกระทบจากกรณีเบร็กซิต

ความไม่แน่นอนของสถานการณ์เบร็กซิตได้ส่งผลกระทบระยะสั้นต่อภาคการเงินของยูเค จึงเป็นผลทำให้เงินปอนด์อ่อนค่าลง รวมถึงการชะลอการตัดสินใจลงทุนในยูเคเนื่องจากขาดความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ และหากเกิดกรณีเบร็กซิตแบบไม่มีข้อตกลง (no deal) คาดว่าจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อเสถียรภาพและเศรษฐกิจของยูเคและอียู

เนื่องจากอียูเป็นคู่ค้ารายสำคัญลำดับที่ 1 ของยูเค มูลค่าการค้ารวมประมาณ 580 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มีสัดส่วนการค้าระหว่างกันคิดเป็นร้อยละ 50 ของการค้าทั้งหมดของยูเค และยูเคจะสูญเสียสิทธิพิเศษทางการค้าและการลงทุนต่าง ๆ ที่เคยมีกับอียู หากมีกำแพงภาษีระหว่างกัน

อย่างไรก็ตาม การออกจากการเป็นสมาชิกอียูแบบไม่มีข้อตกลงน่าจะเป็นไปได้ยาก เนื่องจากท่าทีของทั้งยูเค (ตามมติของรัฐสภาเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2562) และอียูเองก็คงไม่อยากให้เกิดผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ

สำหรับไทยอาจจะได้รับผลกระทบระยะสั้นจากค่าเงินปอนด์ที่ผันผวน ที่ส่งผลให้ราคาสินค้าส่งออกจากไทยมีราคาสูงขึ้นโดยเปรียบเทียบ และความต้องการซื้อสินค้าของไทยที่ลดลง แต่ในระยะยาวคาดว่าผลกระทบต่อไทยจะมีจำกัด เนื่องจากแม้ยูเคจะเป็นคู่ค้ารายสำคัญอันดับที่ 20 ของไทย (อันดับที่ 2 จากสหภาพยุโรป) มูลค่าการค้ารวมประมาณ 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่สัดส่วนการค้ามีไม่มากนัก (ร้อยละ 1.40 ของการค้าทั้งหมดของไทย)

ในทางตรงข้าม คาดการณ์ว่าไทยน่าจะได้รับผลเชิงบวกจากกรณีเบร็กซิต โดยเฉพาะเมื่อกฎระเบียบด้านการค้าและการลงทุนของยูเคภายหลังเบร็กซิตจะมีความยืดหยุ่นและผ่อนคลายกว่าของอียูเพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ ดังที่ยูเคประกาศจะยกเลิกการเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดต่อสินค้าของไทย 4 รายการ ได้แก่ ข้าวโพดหวาน ตาข่ายใยแก้ว รถลากพาลเลต และข้อต่อท่อเหล็กอบเหนียวสลักเกลียว ภายหลังเบร็กซิตและยูเคจะให้ความสำคัญกับพันธมิตรทางการค้าใหม่ตามนโยบาย Global Britain ทำให้ไทยน่าจะมีโอกาสทางการค้าและการลงทุนกับสหราชอาณาจักรเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้เพื่อรับมือกับเบร็กซิตกระทรวงพาณิชย์โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ อยู่ระหว่างเจรจากับอียูและยูเคเรื่องการแก้ไขตารางข้อผูกพันโควตาภาษีในกรอบองค์การการค้าโลก (WTO) สำหรับโควตาสินค้าจำนวน 31 รายการ อาทิ มันสำปะหลัง แป้งมันสำปะหลัง ข้าวขาว ข้าวกล้อง ข้าวหัก ผลิตภัณฑ์สัตว์ปีก ปลากระป๋อง เป็นต้น ที่ไทยเคยได้รับโควตาจากอียู และจะต้องมีการจัดสรรแบ่งโควตาใหม่ภายหลังเบร็กซิต

โดยมีเป้าหมายเบื้องต้นในการรักษาผลประโยชน์ของไทยให้ได้รับปริมาณโควตารวม (ในอียูและยูเครวมกัน) ที่ไม่น้อยกว่าเดิม และสะท้อนปริมาณการค้าจริงระหว่างไทยกับอียู 27 ประเทศ และยูเคให้มากที่สุด ขณะเดียวกัน ก็ได้เตรียมการศึกษาความเป็นไปได้ และหารือกับยูเคอย่างต่อเนื่องถึงการที่ไทยและยูเคจะมีการจัดทำเอฟทีเอร่วมกันในอนาคต ภายหลังเบร็กซิต