ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ

คอลัมน์ คนเดินตรอก

โดย ดร.วีรพงษ์ รามางกูร

ได้ยินข่าวว่ารัฐบาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้รับผิดชอบทางเศรษฐกิจสั่งหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เล็งว่าจะเสนอรัฐบาลทำหลังสงกรานต์นี้

ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ทุกปีรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจก็ออกมาพูดแบบพนักงานขายประกันชีวิต นักการตลาดออกมาพูดหลอกคนซื้อให้ซื้อของของตนทุก ๆ ปลายปีว่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเรื่องของเศรษฐกิจนั้น รัฐบาลต่าง ๆ ทำให้ฟื้นไม่ได้ แต่อาจจะทำเศรษฐกิจพังได้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยนั้นย่อมเป็นไปตามวัฏจักรเศรษฐกิจของโลก ราคาสินค้าภายในประเทศ รวมทั้งดอกเบี้ย อัตราเงินเฟ้อ ย่อมเป็นไปตามราคาสินค้าประเภทต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าประเภทโภคภัณฑ์หรือสินค้าสำเร็จรูปเพื่อบริโภค การลงทุนก็เป็นไปตามภาวะ เศรษฐกิจโลก ราคาตลาดโลก อัตราดอกเบี้ย และอัตราเงินเฟ้อ เป็นไปตามราคา และอัตราในตลาดโลกบวกลบมาตรการทางนโยบายที่รัฐบาลนำออกมาใช้นักลงทุนนั้นจะไปทุกที่ที่เขาคิดว่าจะหากำไรได้ กำไรตลอดไปในระยะยาวจึงเป็นพลังทางเศรษฐกิจที่มีอำนาจมากที่สุด ถ้าเขาเห็นว่าที่ใด เวลาใด เป็นสถานที่และเวลาที่จะทำให้ผลตอบแทนต่อการลงทุนคุ้มค่า สามารถคาดการณ์การลงทุนภายใต้ปัจจัยแวดล้อมทางกฎหมาย ภาษีอากร ความเป็นกลางในการแข่งขันของรัฐบาล ความโปร่งใส ความมีธรรมาภิบาล ความสามารถคาดการณ์ในอนาคตได้ ล้วนเป็นสิ่งที่สำคัญทั้งสิ้น สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ไม่อาจจะสร้างขึ้นได้ภายในเวลาจำกัด แต่อาจจะถูกทำลายลงได้ในชั่วพริบตาเดียว

ดังนั้น ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่สถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งเป็นผู้ทำ ก็ต้องยกย่องว่าเป็นความอุตสาหะที่ดีของนักวิชาการ แต่ดัชนีดังกล่าวจะมีความเชื่อถือได้แค่ไหน สำหรับประเทศไทยก็ยังจะต้องถกเถียงกันต่อไป และอาจจะต้องลงลึกไปถึงตัวอย่างที่ใช้สอบถาม จำนวนตัวอย่างที่ใช้ ระยะและช่วงเวลา ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของผู้บริโภคหรือของครัวเรือนนั้น “เป็นผลหรือเป็นเหตุ” ของภาวะเศรษฐกิจใน 3-6 เดือนข้างหน้า ซึ่งส่วนมากก็มักจะพยากรณ์ผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจเปลี่ยนทิศทางหรือแม้แต่การเปลี่ยน “ความเร็ว” ของภาวะเศรษฐกิจ

ในขณะเดียวกัน ส่วนต่าง ๆ ในระบบเศรษฐกิจย่อมขยายตัว ชะลอตัวหรือหดตัวในอัตราที่ไม่เท่ากันหรืออาจจะมีทิศทางไปคนละทางก็ได้ เช่น ภาคการผลิตอาจจะชะลอตัว ในขณะที่ภาคใช้จ่าย เช่น การบริโภค การลงทุน ยังขยายตัวอย่างปกติ หากการคาดการณ์ของผู้ผลิตใน 6-12 เดือนข้างหน้า ความต้องการซื้อสินค้าและบริการของเขาจะลดลง ผู้ผลิตอาจจะลดการผลิตลง รอให้สินค้าคงคลังขายหมดเสียก่อน

ในทางกลับกัน ผู้ผลิตอาจจะเร่งการผลิต เพิ่มจำนวนสินค้าคงคลังให้มากขึ้น ถ้าผู้ผลิตผู้นั้นคาดการณ์ว่าภาวะตลาดสำหรับสินค้าของเขาจะยิ่งดีกว่าเดิม เพราะมีข่าวว่าจะมีผู้ต้องการสินค้าเพิ่มขึ้นกว่าเดิม ความต้องการตุนสินค้าไว้เป็นสินค้าคงคลังจะมากขึ้น การคาดการณ์ไปข้างหน้า 3 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปี เป็นของปกติธรรมดาของผู้ผลิตสินค้าและบริการในการบริหารจัดการกิจการของตน

แต่เมื่อมาถึงภาคผู้ซื้อสินค้าและบริการเพื่อการบริโภคนั้น ผู้บริโภคมักจะเป็นผู้มีเหตุผลน้อยกว่าผู้ผลิตและผู้ลงทุนในการวางแผนการบริโภค ดังนั้น การจะพยากรณ์ภาวะการตลาดโดยการใช้ตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ซึ่งตามทฤษฎีมักจะขึ้นอยู่กับการคาดการณ์ภายใต้รายจ่ายในอนาคตของครัวเรือน การปรับตัวเลขรายได้ในอนาคตทำได้ยากกว่าการปรับรายจ่ายในครัวเรือน เพราะรายได้มักจะคงที่ จะเปลี่ยนแปลงได้ถ้าเศรษฐกิจของประเทศดี บริษัทมีกำไรจ่ายโบนัสให้กับพนักงาน ความเชื่อมั่นของครัวเรือนในภาคอุตสาหกรรมและบริการ จึงมักจะขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจ อยู่กับความเชื่อมั่นในความมั่นคงของหน้าที่การงานที่ตนทำอยู่ หรือช่องทางที่ตนจะเปลี่ยนงานเพื่อให้มีรายได้มากขึ้น

สำหรับครัวเรือนที่เป็นเกษตรกร ทั้งกสิกรรมและการประมง ราคาสินค้าและบริการเป็นปัจจัยสำคัญของความมั่นคงทางรายได้ของครัวเรือน ความเชื่อมั่นของครอบครัวเกษตรกรจึงอยู่ที่ราคาสินค้าที่เขาผลิต นอกจากความผันผวนของสภาพดินฟ้าอากาศแล้ว

สำหรับครัวเรือนที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้าที่ส่งออกไปยังประเทศที่อ่อนไหวต่อกระแสของประชาชนที่ต่อต้านรัฐบาล ที่มาจากการทำปฏิวัติรัฐประหาร ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของสิทธิมนุษยชน ความเชื่อมั่นของผู้ส่งออกไปยังตลาดดังกล่าวย่อมขึ้นอยู่กับระบอบการปกครองของประเทศว่าเป็นระบอบเผด็จการหรือระบอบประชาธิปไตย เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นหรือน้อยลง แนวโน้มดีขึ้นหรือเลวลง การเจรจาการค้ากับประเทศคู่ค้า หรือกลุ่มประเทศคู่ค้าย่อมขึ้นอยู่กับว่าเขาจะเจรจาด้วยหรือไม่

ประเทศถูกตัดสิทธิในการเจรจาการค้ามาเกือบ 5 ปี สูญเสียโอกาสในการเพิ่มขึ้นของการส่งออกและการท่องเที่ยวไปอย่างมหาศาล แต่ไม่อาจจะวัดออกมาเป็นตัวเลขเปรียบเทียบกันได้ เพราะตัวเลขของการส่งออกนำเข้าและการท่องเที่ยวในเงื่อนไขการปฏิวัติรัฐประหารนั้นไม่มี เพราะความเป็นจริงมีการทำปฏิวัติรัฐประหารเสียแล้ว นอกจากจะมีนักวิชาการค้นหาและสร้างตัวเลขให้เปรียบเทียบกันได้

ขณะนี้มีความเชื่อมั่นกันว่า หลังประกาศผลการเลือกตั้งความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจะดีขึ้น แต่เมื่อจะประกาศผลของการนับคะแนนเสียงของฝ่ายอื่นไม่ตรงกับคะแนน การนับของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ผลที่ปรากฏก็ตรงกันข้าม ความเชื่อมั่นแทนที่จะเพิ่มขึ้นกลับลดลง ถ้าหากผู้นำรัฐบาลคนเดิมไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากได้ ความเชื่อมั่นเรื่องเสถียรภาพ ความมั่นคงของรัฐบาล จะลดลงทันทีอย่างมหาศาล ตลาดหุ้นจะทรุดลง แต่ถ้าพรรครัฐบาลสามารถจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากได้ ความเชื่อมั่นในระยะสั้น ๆ ก็จะฟื้นกลับมาอีก

ดังนั้น ความไม่แน่นอนทางการเมืองในการบริหารประเทศของรัฐบาลนี้ จึงอยู่ที่จะบิดเบือนรัฐธรรมนูญ สามารถให้ตนได้ประโยชน์ทางการเมืองอย่างไร เพราะหากปฏิบัติตรงไปตรงมา ตนก็จะกลายเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยของสภาล่าง แต่รัฐบาลเข้าสู่ตำแหน่งได้ด้วยเสียงของวุฒิสภา ซึ่งตนเป็นคนแต่งตั้งมากับมือในระหว่างที่รอผลการเลือกตั้ง แม้จะรู้อยู่อย่างเต็มอกว่าหัวหน้ารัฐบาลคนเดิมคงจะกลับมาอีก โดยเสียงสนับสนุนของวุฒิสภา แต่บางครั้งอารมณ์ของสังคมก็ยังไปติดอยู่กับกลลวงของผู้ร่างรัฐธรรมนูญ เบี่ยงเบนประเด็นไปเป็นความพยายามของพรรคที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนตนเอง

ความที่จะต้องเอาให้ได้จึงต้องทำกิจกรรมหลายเรื่องที่กฎหมายห้ามมิให้หัวหน้ารัฐบาลรักษาการกระทำ แต่ก็อ้างอีกกฎหมายหนึ่งโดยอาศัยการตีความแบบเอาสีข้างเข้าถู ว่าตำแหน่งหัวหน้า คสช.หรือคณะรัฐประหารไม่มีฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้ง ๆ ที่การเป็นองค์อธิปัตย์ได้สิ้นสุดลงแล้วเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร ต้องมีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งหัวหน้า คสช.ใหม่อีกครั้งหนึ่ง ความยุ่งยากสับสนของรัฐบาลที่มาโดยวิถีทางอื่นที่มิใช่วิถีทางตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ย่อมก่อให้เกิดความขัดแย้ง

ในตัวของมันเองได้เสมอ ความขัดแย้งดังกล่าวมักจะหาทางออกที่ไม่เป็นไปตามหลัก “นิติรัฐ” หรือ “rule of low” กล่าวคือ ใช้อำนาจออกกฎหมายตามที่ตนต้องการ ทั้งที่เป็นคำสั่งคณะรัฐประหารและพระราชบัญญัติ แล้วใช้กฎหมายเหล่านั้นบังคับลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน เจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริง

ความไม่มั่นใจของนายทุนทั้งไทยและต่างประเทศในระบอบการปกครองปัจจุบันของไทย รวมทั้งท่าทีของรัฐมนตรีต่างประเทศของไทย ที่ไม่แสดงความเป็นมิตรกับนานาอารยประเทศที่เขาเชิดชูสนับสนุนขบวนการประชาธิปไตย กลายเป็นตัวตลกในสายตาของนักการทูตประเทศต่าง ๆ ที่เขาตั้งใจจะให้เป็นข่าวในการเข้าไปสังเกตการณ์การเรียกแกนนำขบวนการขัดขวางการสืบทอดอำนาจของรัฐบาลเผด็จการ แล้วก็เป็นข่าวจริง ๆ เพราะความเบาปัญญาของรัฐมนตรีต่างประเทศของเราเองที่ต้องการประจบหัวหน้ารัฐบาลโดยการทำให้เรื่องเล็กเป็นเรื่องใหญ่ เอาเหตุผลที่ไม่เป็นจริงมาอ้างกับคณะทูต และ “หน้าแตก” เมื่อเขาตอบว่าถ้าเขาสนใจก็จะมาสังเกตการณ์อีก

การที่มิตรประเทศที่มีผลประโยชน์อยู่ในประเทศไทย และประเทศไทยมีผลประโยชน์อยู่ในประเทศเขา อำนาจอธิปไตย ของทั้ง 2 ฝ่ายถูกจำกัดโดยเงื่อนไขในข้อตกลง ทั้งที่เป็นแบบทวิภาคีและพหุภาคี ถ้าหากเป็นคดีปกติไม่ใช่คดีการเมืองก็คงไม่เป็นที่สนใจของนักการทูตต่างประเทศ การปรากฏตัวของเจ้าหน้าที่สถานทูตตะวันตกย่อมต้องได้รับความยินยอมเห็นชอบจากรัฐบาลของสถานเอกอัครราชทูตประเทศนั้นอยู่แล้ว แต่รัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศนั้นไม่แสดงปฏิกิริยาอย่างไรกับการกระทำ และการใช้กิริยามารยาทที่ไม่สมควรกับมิตรประเทศ ปล่อยให้เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่สถานทูตกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แม้แต่ตัวเอกอัครราชทูตก็ไม่ปรากฏตัว เป็นการลดฐานะของตนของรัฐมนตรีของเราเอง

ที่น่าสนใจก็คือ เจ้าหน้าที่ของสหประชาชาติและเจ้าหน้าที่สหภาพยุโรปก็เข้าไปร่วมสังเกตการณ์ด้วย การที่เราไปออกข่าวประณามว่าเจ้าหน้าที่สถานทูตและเจ้าหน้าที่สหภาพยุโรปและสหประชาชาติว่าทำผิดมารยาท ผิดจรรยาบรรณและผิดพิธีทางการทูต พร้อมทั้งออกข่าวว่าประเทศไทยมิใช่ “เมืองขึ้น” ของใคร เป็นปฏิกิริยาที่เกินความพอดี เป็นกิริยาที่นักการทูตหรือรัฐมนตรีต่างประเทศไม่ควรจะทำกับเจ้าหน้าที่สถานทูต ถ้าหากไม่พอใจก็ควรเชิญนายของเขาคือตัวเอกอัครราชทูตมาต่อว่า หรือถ้าเห็นว่าเป็นความผิดอย่างร้ายแรงต่อจรรยาบรรณ มารยาท และพิธีทางการทูต ก็ควรทำเป็นหนังสือประท้วงไป

การออกมาโวยวายเอะอะ พร้อมกับให้ข้อมูลอันเป็นเท็จกับประชาชน พยายามสร้างกระแสความคิด “ชาตินิยม” เพื่อปกป้องรัฐบาลเผด็จการทหาร เป็นสิ่งที่นักวิจารณ์หรือนักการทูตอาชีพเพื่อความมั่นคงในตำแหน่งของตนเองไม่ควรกระทำ เพราะเป็นการทำลายความมั่นใจของคนในและต่างประเทศ เพราะเป็นการกระทำที่น่าละอาย ไม่ควรออกจากปากนักการทูตไทย