โอกาสเพื่อการลงทุนทางสังคมในเอเชีย

คอลัมน์ ช่วยกันคิด

โดย อริสรา สันติบุตร บริษัทโทเทิล ควอลิตี้

การประชุม “เอวีพีเอ็น” หรือ Asian Venture Philanthropy Network-AVPN ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเทพมหานครปีนี้ โดยมีประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ เป็นงานรวมตัวเหล่านักลงทุนเพื่อสังคมระดับภูมิภาคเอเชียที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ณ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ มีนักลงทุนเพื่อสังคมกว่า 500 คน จากทั่วโลกมาร่วมงาน เพื่อส่งเสริมการเติบโตของระบบนิเวศของภาคสังคมในเอเชีย การประชุมนี้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “ความร่วมมือเพื่อสร้างผลกระทบ (Collaboration for Impact)” ที่สะท้อนถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างภาคส่วน และอาณาเขต พรมแดนต่าง ๆ เพื่อรับมือกับความท้าทายทางสังคมที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย

ในปีนี้มีมูลนิธินานาชาติต่าง ๆ เข้าร่วมด้วย เช่น มูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ มูลนิธิซาซากาว่าเพื่อสันติภาพ สำนักงานด้านครอบครัวในท้องถิ่น และบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการกุศลและการลงทุนเพื่อสร้างผลกระทบ รวมทั้งบริษัทระหว่างประเทศ ได้แก่ โคคา-โคลา กูเกิล และเครดิต สวิส นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานจากรัฐบาล เช่น องค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐ และกระทรวงการต่างประเทศและการค้าออสเตรเลีย

งานนี้เอวีพีเอ็นได้เปิดตัวงานวิจัยล่าสุด ว่าด้วยเรื่อง “ภาพรวมการลงทุนเพื่อสังคมในเอเชีย” รายงานที่ทำขึ้นเป็นครั้งแรกเพื่อเป็นแนวทางสำหรับนักลงทุนทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นนักการกุศล นักลงทุนเพื่อสร้างผลกระทบ หรือบริษัทที่ต้องการทำซีเอสอาร์ (CSR)ให้สามารถสร้างประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

งานวิจัยฉบับนี้เป็นการศึกษาที่ครอบคลุมเกี่ยวกับการทำการกุศล และการลงทุนเพื่อสังคม ในระบบนิเวศทางสังคมทั่วทั้ง 14 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย ผลงานวิจัยแสดงถึงความต้องการทางสังคมทั่วทั้งภูมิภาค ทั้งเปรียบเทียบและแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของเศรษฐกิจสังคมที่หลากหลาย รวมถึงวิธีการรับมือกับความขาดแคลนในปัจจุบัน และยังชี้ให้เห็นถึงช่องว่างของการพัฒนาที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals หรือ SDGs) รวมถึงแนวทางสำหรับรัฐบาลในการดำเนินการของแต่ละประเทศ

โดยวิเคราะห์ภาพรวม “การลงทุนทางสังคม” ซึ่งประกอบด้วยสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวกับกฎหมายและระบบนิเวศทางสังคมที่มีรูปแบบเฉพาะ แสดงให้เห็นถึงบุคคลหรือองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับการลงทุนทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นด้านอุปสงค์ อุปทาน หรือฝ่ายสนับสนุน จากทั้งมูลนิธิ กองทุนเพื่อสร้างผลกระทบ และบริษัทที่เป็นแพลตฟอร์มด้านการระดมทุนและผู้ริเริ่มโครงการ โดยในแต่ละส่วนสรุปผลโอกาส ความท้าทาย และข้อเสนอแนะสำหรับนักลงทุนทางสังคม ไม่ว่าจะต้องการระดมทุนหรือการลงทุนที่อ้างอิงจากมูลค่าตลาดเพื่อสร้างผลกระทบที่มากขึ้น

ผลงานวิจัย “ภาพรวมการลงทุนทางสังคมในเอเชีย” ชี้ชัดถึงเรื่องความหลากหลายของการเติบโตทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งข้อมูลนี้จะช่วยให้นักลงทุนเพื่อสังคมสามารถมีส่วนร่วมในการสร้างประโยชน์ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในด้านที่ประเทศนั้น ๆ ต้องการ ยกตัวอย่างเช่น ในขณะที่ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ เช่น อินเดีย กัมพูชา พม่า อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ต้องเผชิญกับความท้าทายทางสังคมที่เร่งด่วนในด้านสุขอนามัย การสุขาภิบาล การศึกษา และปัญหาเกี่ยวกับน้ำ ประเทศเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้ว เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน และฮ่องกง ต้องต่อสู้กับความชราภาพ ความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้น แรงงานที่ลดลงผลผลิตด้านแรงงานและความเท่าเทียมทางเพศ

นอกจากนี้ รายงานยังชี้ให้เห็นถึงความต้องการทั่วทั้งภูมิภาค เพื่อแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ในด้านการเข้าถึงพลังงานและโครงสร้างพื้นฐานในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ จนถึงการลดความเสี่ยงจากภาวะโลกร้อน และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของประเทศหมู่เกาะในเอเชีย

ข้อมูลเชิงลึกจากรายงานในประเทศไทยเผยตัวชี้วัดด้านสวัสดิการสังคมที่น่าสนใจ โดยในปี พ.ศ. 2558 เด็กไทยทุกคนได้เข้าศึกษาในระดับประถม รวมถึงคนไทยทุกคนได้รับประกันสุขภาพที่ได้มาจากโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของรัฐบาลไทย เมื่อพิจารณาภาพรวมของงานวิจัย จะเห็นได้ว่าประเทศไทยเป็น 1 ใน 3 ประเทศในภูมิภาคที่มีการจัดการกับความยากจนได้เป็นอย่างดี รองจากประเทศสิงคโปร์และมาเลเซีย

อีกประเด็นหนึ่งที่ประเทศไทยมีการจัดการที่ดีอันดับต้น ๆ คือ เป้าหมายที่ 14 คือเรื่องการดูแลทรัพยากรทางน้ำ ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่ทำการศึกษา ซึ่งดูเหมือนจะมีความคืบหน้าทางด้านนี้มากพอสมควร อย่างไรก็ตาม รายงานนี้ยังชี้ให้เห็นถึงปัญหาต่าง ๆ เช่น การแบ่งแยกระหว่างเมืองและชนบท คุณภาพที่แตกต่างกันในระบบการศึกษาของรัฐบาล ความเสื่อมโทรมของสภาพสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงทางประชากรศาสตร์ ซึ่งประเด็นเหล่านี้เป็นประเด็นที่ต้องให้ความสนใจ

อย่างไรก็ดี กิจกรรมทางเศรษฐกิจเชิงสังคม ยังคงเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย และจากการสำรวจระหว่างมูลนิธิที่ก่อตั้งโดยครอบครัวและบริษัท พบว่ามีความไม่ไว้วางใจระหว่างเอ็นจีโอ (NGO) และนักกิจการทางสังคม ซึ่งทำให้การระดมทุนส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้สำหรับครอบครัวเจ้าของมูลนิธิมากกว่าเพื่อการกุศล การทำงานของเอวีพีเอ็นจะเป็นแรงผลักดันให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างนักลงทุนเพื่อสังคม และผู้ปฏิบัติการ เป็นการกระตุ้นให้คนไทยทุกคนมีส่วนร่วมในการช่วยแก้ไขปัญหาสังคมในประเทศไทย ผ่านแพลตฟอร์มนวัตกรรมต่าง ๆ