“แบงก์” ยุค 4.0 พลิกโฉม “เสือวิ่งเต้นหากิน”

คอลัมน์ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย วิไล อักขระสมชีพ

ทุกวันนี้ กระแสการแข่งขันบริการโมบายแบงกิ้ง ทวีความดุเดือดกันยิ่ง ๆ ขึ้น นับเป็นการพลิกโฉมแบงก์พาณิชย์ในไทยอย่างมาก ที่ทุกวันนี้กลายเป็นเสือขยันทำมาหากิน วิ่งเต้นหาพันธมิตรทางธุรกิจ มาเพิ่มบริการเสิร์ฟเมนูต่าง ๆ ให้ลูกค้าผ่านทุกช่องทางทั้งแบบสาขา หรือออฟไลน์ และบนโลกออนไลน์ผ่านแอปต่าง ๆ

โลกดิจิทัลแบงกิ้ง ทำให้แบงก์ลุกขึ้นมาวิ่งเข้าหาลูกค้าเอง เพื่อรักษามาร์เก็ตแชร์ของตัวเองไม่ให้หายไปและต้องช่วงชิงลูกค้าใหม่เพิ่มเข้ามาอีกด้วย ถือเป็นภาพที่ต่างจากอดีตของแบงก์ถูกตีตราเป็น “เสือนอนกิน” เพราะลูกค้าจะเป็นฝ่ายวิ่งเข้ามาหาเองทั้งฝั่งผู้ฝากเงินและผู้กู้เงิน โดยแบงก์จะได้กินส่วนต่างดอกเบี้ยสูงเป็นรายได้หลักที่ทำให้แบงก์มีกำไรอู้ฟู่ทุกปี ๆ

จากข้อมูลผลการวิจัยเกี่ยวกับ “การศึกษาทัศนคติการชำระเงินของผู้บริโภค” ของวีซ่า ที่ออกมาในกลางเดือนสิงหาคม 2560 ระบุว่า การชำระเงินผ่านแอปบนมือถือได้รับความนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ทางการเงิน มีการใช้กันมาจนมีสัดส่วนครึ่งหนึ่งของการทำธุรกรรมบนมือถือ ขณะที่การซื้อของออนไลน์มีสัดส่วนราว 31% โดยผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินนั้นมีการใช้งานเพิ่มขึ้น 14% จากปีก่อนด้วย

ในผลศึกษาระบุว่า เก้าในสิบของคนไทย มีการชำระเงินผ่านมือถือในปีที่ผ่านมา และพบว่า 58% ได้ใช้เป็นประจำทุกสัปดาห์ด้วย ขณะเดียวกันผู้คนก็ให้ความสำคัญกับความสะดวกและสิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากการชำระเงินผ่านมือถือ เช่น การสะสมแต้ม การให้รางวัล แต่เรื่องสำคัญสุดคือ “ความปลอดภัย” เพราะยังมีความกลัวจากการถูกแฮกโทรศัพท์และการขโมยข้อมูล การทำโทรศัพท์หายหรือถูกขโมย การเข้าถึงบัญชีส่วนตัวโดยไม่ได้รับอนุญาตรวมถึงไวรัสและมัลแวร์ต่าง ๆ ด้วย

ขณะที่ปัจจุบันคนไทยก็มีการใช้บัญชีบนโมบายแบงกิ้งสูงไม่น้อยราว 20 ล้านคนสิ้นในปี 2559 (ข้อมูลจาก ธปท.) หากดูแบงก์กสิกรไทย ผู้นำดิจิทัลแบงกิ้งที่ระบุว่ามีลูกค้าใช้แอปของธนาคารประมาณ 6 ล้านคน ล่าสุดก็ไม่หยุดอยู่กับที่ ได้เปิดตัวเทคโนโลยีชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดบนมือถือ “K PLUS SHOP” ซึ่งเป็นแอปสำหรับร้านค้าแอปแรกในไทย จะทำให้ขายคล่อง “ยิงปิ๊บ จ่ายปั๊บ” เจาะร้านค้าย่อย 3 กลุ่ม ร้านอาหารและเครื่องดื่ม สินค้าแฟชั่นและการเดินทางใช้ชีวิตประจำวัน นำร่อง 3 พื้นที่คือ สยามสแควร์ จตุจักร และเดอะแพลทินัมประตูน้ำกว่า 10,000 จุด สิ้นปีนี้ตั้งเป้ามีร้านค้ารับชำระผ่านคิวอาร์โค้ดกว่า 2 แสนร้านค้า มูลค่าทำธุรกรรมปีนี้ 800 ล้านบาท

ฟากแบงก์ไทยพาณิชย์ ที่มีลูกค้าใช้ราว 4 ล้านคน ก็ชู “SCB EASY” เจเนอเรชั่นใหม่ ที่เป็นเวอร์ชั่น 3 โดยยกเครื่องดิจิทัลแพลตฟอร์มใหม่ที่จัดเต็มฟีเจอร์เด็ด ๆ อาทิ Casdless ATM (บริการกดเงินสด), Easy Bonus สิทธิพิเศษและส่วนลดเมื่อลูกค้าทำรายการ และ Easy App Protection เพิ่มความมั่นใจลูกค้า เพราะกล้าคุ้มครองความเสียหายวงเงินสูงถึง 1 แสนบาท นับเป็นรายแรกของแบงก์ในไทยที่ทำขนาดนี้ และยังมีพันธมิตรทางธุรกิจที่จะทยอยเข้ามาต่อยอด และยังดึงดูดลูกค้ามาใช้แอปในการทำธุรกรรม จึงจัดแคมเปญพิเศษทั้งการให้ส่วนลดตั๋วหนัง รับเน็ตบนมือถือ รวมทั้งการเปิดบัญชีออมทรัพย์อีซี่ รับดอกเบี้ย 3% จำกัดวงเงินไม่เกิน 50,000 บาท พร้อมกับการดาวน์โหลดแอปนี้ขึ้นมาใช้ ซึ่งตั้งเป้าหมายสิ้นปี 2561 จะมีผู้ใช้งานทะลุ 8 ล้านคน

ค่ายแบงก์กรุงศรีอยุธยา ที่มีลูกค้าใช้แอปทำธุรกรรมการเงินอยู่ประมาณ 2.5 ล้านคน ก็ได้พลิกโฉมแอป “KMA” ย่อโลกบริการทางการเงินไว้ เน้นการใช้ง่ายด้วยการเปิดให้ลูกค้าสามารถปรับเปลี่ยนเมนูฟังก์ชั่นการใช้งานได้ตามต้องการและทำธุรกรรมเพียงไม่กี่คลิกก็เสร็จ และไตรมาส 4 นี้จะเปิดให้ขอและอนุมัติสินเชื่อผ่านระบบดิจิทัลได้ด้วย

บนโลกแบงก์ขี่กระแสโมบายแบงกิ้ง ทำให้ต่างปักธงเป็นผู้นำตลาด แต่ที่มากกว่านั้นคือ หากสามารถให้บริการได้หลากหลายตั้งแต่โอนเงิน ชำระเงิน เติมเงิน จ่ายบิลหรือค่าบริการต่าง ๆ ได้ ยิ่งปริมาณธุรกรรมของแบงก์มีจำนวนสูงมากเท่าไหร่ ภายใต้ต้นทุนบริการที่ต่ำลง ๆ รายได้ส่วนนี้ก็จะกลับเข้ามามากขึ้น และพ่วงพันธมิตรทางธุรกิจบนแอปได้มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้ลูกค้าใช้บริการอยู่ในนี้ จนกลายเป็นแอปทางการเงินหลักของลูกค้า ก็ยิ่งทำให้แบงก์ผูกลูกค้าไว้ได้นาน

แต่บนสนามรบดิจิทัลแบงกิ้ง ในช่วงที่เริ่มต้นเวลานี้ยังต้องแข่งกันหนัก “แจก แถม คืน พ่วง” ของแต่ละแบงก์ ซึ่งก็จะเป็นประโยชน์ให้แก่ผู้ใช้บริการเลือกใช้ แต่ก็เป็นความเสี่ยงของแบงก์ที่ต้องเผชิญปัญหาลูกค้าวิ่งเข้าวิ่งออกไปใช้แอปแบงก์นั่นแบงก์นี่ที่ให้สิ่งที่ดีกว่า จึงเป็นอีกแรงกดดันที่ทำให้แบงก์ยุค 4.0 ต้องวิ่งเต้นทำมาหากิน เพื่อไม่ให้ลูกค้าหลุดลอยไปง่าย ๆ