ร้อนสุดขีด Peak ทุบสถิติ ทะลุ 29,680 MW

แฟ้มภาพ

คอลัมน์ สามัญสำนึก โดย ถวัลย์ศักดิ์ สมรรคะบุตร

 

ทำลายสถิติใหม่ไปแล้วสำหรับความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของประเทศ (peak) ในฤดูร้อนนี้ได้พุ่งขึ้นสูงถึง 29,680.3 เมกะวัตต์ (MW) เวลา 21.35 น. อุณหภูมิ (กทม.) 32 องศาเซลเซียส ในวันที่ 20 เมษายนที่ผ่านมา หรือสูงกว่าสถิติเดิมที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2559 เวลา 22.28 น. ที่ 29,618.8 MW อุณหภูมิ 33 องศาเซลเซียส โดย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เชื่อว่า peak ที่สูงขึ้นเป็นผลมาจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด ทำให้ประชาชนเปิดแอร์ในภาคที่อยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม การเกิด peak สูงสุดจนกระทั่งทะลุสถิติของประเทศในครั้งนี้ แม้ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย แต่ก็สูงกว่า “ค่าประมาณการ” ที่ กฟผ.คาดการณ์ไว้ ซึ่งค่าที่ว่านี้อยู่ระหว่าง 28,500-29,000 MW นอกจากนี้ ยังพบตัวเลขที่น่าสนใจ แม้ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของประเทศยัง “ต่ำกว่า” กำลังผลิตไฟฟ้ารวมของประเทศที่ 42,619.50 MW หรือมีกำลังผลิตไฟฟ้าสูงกว่า peak ที่เกิดขึ้น 12,939.2 MW ก็ตาม

แต่หากจำแนกผู้ผลิตไฟฟ้าของประเทศแล้วจะพบว่า peak ที่เกิดขึ้นนั้น “สูงกว่า” กำลังผลิตไฟฟ้ารวมทั้งหมดของ กฟผ.ที่ปัจจุบันมีอยู่ 14,565.58 MW (34.18%) นั้นหมายความว่า ณ ปัจจุบัน กฟผ.ไม่ใช่ผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดของประเทศอีกต่อไปแล้ว หลังจากที่กำลังผลิตไฟฟ้าได้ถูกแชร์ไปให้กับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ IPP ที่ปริมาณ 14,948.50 MW หรือคิดเป็น 35.67%, ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก SPP ที่ปริมาณ 9,227.82 MW หรือ 21.65% และการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ (สปป.ลาว) 3,877.60 MW หรือ 9.10% รวมกำลังผลิตไฟฟ้าจากแหล่งอื่น ๆ นอกเหนือจากกำลังผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.เองที่ปริมาณ 28,053.92 MW

เป็นที่น่าสังเกตว่า peak ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้เป็น peak ในระบบของ กฟผ. แต่ก็ใกล้เคียงกับ peak ของระบบ 3 การไฟฟ้า (กฟผ.-กฟน.-กฟภ.) ที่ใช้ในการพยากรณ์แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2561-2580 (PDP 2018) ที่เกิดขึ้นในวันที่ 24 เมษายน 2561 เวลา 13.51 น. ที่ 29,969 MW โดยภายใต้แผน PDP ฉบับใหม่ได้มีการพิจารณาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าเป็นรายภาค และพบว่าภาคใต้น่าเป็นห่วงที่สุด

กล่าวคือ ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดของภาคใต้ peak เฉพาะภาคใต้ในปี 2561 เท่ากับ 2,767 MW และ ณ ปี 2580 เท่ากับ 5,264 MW ใช้ตัวเลขอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 3.3 ขณะที่กำลังผลิตไฟฟ้ารวมของภาคใต้ในปี 2561 เท่ากับ 3,876 MW และ ณ ปี 2580 จะเท่ากับ 8,638 MW เรียกว่าเฉพาะช่วงปีต้น ๆ ของแผน PDP 2018 นั้น ตัวเลข peak ที่อาจจะเกิดขึ้นนั้น “ปริ่ม ๆ” กับกำลังผลิตไฟฟ้ารวมของภาคใต้ที่บวกลบห่างกันประมาณ 1,000 MW เท่านั้น

นั่นหมายความว่า ภาคใต้จัดเป็นภาคเดียวที่มี “ความเสี่ยง”ที่จะเกิดเหตุการณ์ไฟตกดับมากกว่าภาคที่เหลือของประเทศจากข้อเท็จจริงที่ว่า กำลังผลิตไฟฟ้าของภาคใต้เองก็ไม่สามารถรองรับเหตุสุดวิสัยกรณีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่สุดหยุดฉุกเฉิน จำเป็นต้องพึ่งพากำลังผลิตไฟฟ้าจากภาคกลางที่ส่งผ่านสายส่งไฟฟ้าเชื่อมโยงระหว่างภาค หรือภาคใต้นั้นตกอยู่ในภาวะต้องพึ่งพากำลังผลิตไฟฟ้าจากภาคกลางผ่านสายส่งไฟฟ้า และความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ที่เพิ่มสูงขึ้นขณะที่ไม่สามารถจัดหากำลังผลิตไฟฟ้าได้ทัน


ประกอบกับโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่-เทพาไม่สามารถก่อสร้างได้ตามแผน PDP 2015 ดังนั้น ทางออกเดียวของภาคใต้ที่จะพ้นจากความเสี่ยงไฟตกดับแม้จะเป็นแค่ช่วงสั้น ๆ ของ peak ที่เกิดขึ้นรายภาคในแต่ละปีก็คือ ต้องมีการรับไฟฟ้าจากภาคตะวันตกของประเทศ และจัดสรรกำลังผลิตไฟฟ้าหรือก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ใน 3 ประเภท คือ โรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานีกำลังผลิต 1,400 MW, โรงไฟฟ้าใหม่ที่ยังไม่ได้ระบุไว้ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าใช้เชื้อเพลิงประเภทใดและจะให้ใครทำอีก 1,700 MW และโรงไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน