ความท้าทาย 3 การไฟฟ้า เมื่อ Prosumer ผลิตไฟเอง

แฟ้มภาพ

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ โดย กษมา ประชาชาติ

เทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าก้าวล้ำไปมาก จนทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าด้วยอุปกรณ์อย่างโซลาร์เซลล์ต่ำลง แถมแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าฉบับใหม่ PDP ยังปล่อยเสรีให้ประชาชนผลิตไฟฟ้าโซลาร์เซลล์สามารถขายคืนไฟฟ้าส่วนเกินเข้าสู่ระบบได้ 10,000 เมกะวัตต์ หากทำได้สำเร็จจะช่วยลดค่าครองชีพของประชาชน และยังได้รายได้เสริมด้วย เชื่อว่าประชาชนหลายคนตาลุกวาวแน่นอน

โยงไปถึงภาคเอกชนหลายฝ่ายก็ตื่นตัวกับเทคโนโลยีล้ำ ๆ ด้านพลังงานไม่น้อย

อย่างค่ายบางจากผู้ผลิตพลังงาน BCPG แง้มว่ามีการทดลองทำปั๊มตัวอย่างที่นำระบบบล็อกเชนมาใช้บริหารจัดการระบบไฟฟ้า คอนเซ็ปต์คือ บางจากจะซื้อไฟฟ้ามาสต๊อกไว้ในระบบจัดเก็บ โดยเลือกซื้อในช่วงเวลากลางคืนที่อัตราค่าไฟถูก จากนั้นจะเปิดประมูลขายไฟฟ้าที่สต๊อกไว้ให้กับลูกค้า ซึ่งก็คือผู้ประกอบการที่เช่าพื้นที่ในปั๊มบางจาก ไม่ว่าจะเป็นร้านสะดวกซื้อ ยิม หรือร้านอะไรก็ตามให้สามารถประมูลซื้อไฟฟ้าจากบางจากแทนที่จะซื้อจากการไฟฟ้าทั้ง 3 ตามปกติ ถือเป็นไอเดียที่น่าสนใจมาก

หากทำสำเร็จยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัว ทั้งบางจากจะมีรายได้จากส่วนต่างการขายไฟฟ้า

ขณะที่ลูกค้าก็จะได้ใช้ไฟฟ้าในราคาที่ถูกกว่าที่ซื้อจากการไฟฟ้าโดยตรง อาจจะหน่วยละหลายสตางค์

ภาพตลาดไฟฟ้าจะเปลี่ยนไปเมื่อผู้บริโภคกลายเป็นผู้ผลิตและผู้ขายไฟฟ้ากลับเข้าสู่ระบบ จาก consumer กลายเป็น prosumer และมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้น ๆ ย่อมสะเทือน “ผู้ผลิต” ซึ่งเป็นเจ้าตลาดหน้าเดิมอย่าง 3 การไฟฟ้า (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และการไฟฟ้านครหลวง) ที่จะต้องหาทางปรับตัวรับเทคโนโลยีดิสรัปชั่น

ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ให้ 3 การไฟฟ้าไปลองศึกษาแนวทางพัฒนาแพลตฟอร์มตลาดกลางซื้อขายพลังงานไฟฟ้าแห่งชาติ (National Energy Trading Platform : NETP) เพื่อเป็นเสมือนศูนย์กลางแลกเปลี่ยนซื้อขายไฟอย่างเป็นระบบ สอดรับกับพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของผู้บริโภค ที่เรียกว่า prosumer ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

โดยพฤติกรรมดังกล่าวทำให้มีจำนวน “ผู้เล่นหน้าใหม่” ในตลาดมากขึ้น และผู้ผลิตหน้าเดิมต้องปรับตัว แถมยังมีภาระในการแข่งขันเพิ่มขึ้น เช่น กฟผ. มีภาระต้องเดินเครื่องโรงไฟฟ้าเพื่อ backup ให้กับระบบสมบูรณ์ตลอด 24 ชม.

ขณะที่ผู้บริโภคจะได้ประโยชน์สูงสุด เพราะสามารถเลือกซื้อไฟจากช่องทางเลือกอื่นนอกจาก 3 การไฟฟ้าได้ แต่ก็ยังการันตีไม่ได้ว่า “ค่าไฟ” จะเป็นเท่าไร

นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ท่านหนึ่งให้ความเห็นว่า “NETP” จะคลอดออกมาได้ก็ต่อเมื่อผลการศึกษานี้จะต้องผ่านกลับไปที่ สคร. และปลดล็อกอุปสรรคอะไรหลายอย่างซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างท้าทาย

ประการแรก คือ อาจจะต้องแก้ไข พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ที่ยังไม่อนุญาตให้บุคคลที่ 3 ให้สามารถเข้ามาใช้สายส่งของการไฟฟ้า เพราะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยและความมั่นคงด้านพลังงาน ดังนั้น จะต้องกำหนดมาตรฐานของบุคคลที่ 3 รวมถึงปรับปรุงกริดโค้ด และความปลอดภัยไซเบอร์

เพราะ “สมมุติว่ามี prosumer ผลิตไฟได้แล้วก็ใช้เอง ซึ่งมิเตอร์ของการไฟฟ้าอาจดูว่าไม่มีไฟผ่าน grid แต่จริง ๆ มีไฟผ่าน grid จะทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยหลายกรณี เช่น การวางแผนซ่อมบำรุง และการไหลของไฟฟ้าขึ้นอยู่กับแรงดันไฟ ดังนั้น หากปริมาณการใช้การผลิตแกว่งมาก ๆ การบริหารแรงดันไฟจะมีปัญหา คือไฟวิ่งได้สองทาง ไม่ได้มี one direction”

ประเด็นนี้นำมาซึ่ง ประการที่ 2 กระบวนการพิจารณาอนุญาตที่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของการเชื่อมระบบโครงข่าย โดยผู้ผลิตต้องจำหน่ายไฟฟ้าผ่านระบบสายส่งของการไฟฟ้าต้องขอใบอนุญาตเพิ่ม

ในส่วนของใบอนุญาตประกอบกิจการระบบจำหน่ายไฟฟ้า (distribution) และใบอนุญาตประกอบกิจการจำหน่ายไฟฟ้า (retail) จากเดิมที่มีใบอนุญาตก่อสร้าง, ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4), ใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้า (กกพ.) และใบอนุญาต EIA/EHIA ซึ่งอาจจะมีผลต่อการพิจารณาตัดสินใจลงทุนของเอกชน เช่น บางจากอยากขายไฟผ่านบล็อกเชนก็ต้องขออนุญาต แต่หากการพิจารณาใช้เวลานานจนทำให้เสียโอกาสในการทำธุรกิจ หรือเป็นช่องทางพิเศษให้มีการเรียกรับผลประโยชน์จากกระบวนการนี้

ทั้งหมดนี้ยังไม่รวมความซับซ้อนของการวางระบบ การคำนวณค่าบริการ ค่าไฟฟ้า ในอนาคตที่ผ่านระบบแพลตฟอร์มว่าจะต้องคำนวณในรายพื้นที่ บวกค่าบริการเสริม ค่าธรรมเนียมอะไรต่าง ๆ เช่น ค่าธรรมเนียมระบบสายส่ง ค่าธรรมเนียมการใช้แพลตฟอร์ม ซึ่งยังมีอีกหลายด่าน หลายอรหันต์เลย

การฝ่ากระแสเทคโนโลยีดิสรัปชั่นไม่ใช่ง่าย ทั้ง 3 การไฟฟ้าต้องจับมือกันให้มั่น แต่นั่นอาจเป็นเรื่องที่ยากที่สุด

คลิกอ่านเพิ่มเติม.. กฟภ. ร่วม BCPG เปิดตัวบริษัทลูก TDED ตั้งเป้าประชาชนติด Solar Rooftop พร้อมเชื่อมบล็อกเชน

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!