วิกฤต “การเมือง-เศรษฐกิจ” ข้อเสนอ-หลักการ-ทางออก

แฟ้มภาพ

คอลัมน์ ดุลยธรรม

โดย อนุสรณ์ ธรรมใจ

อดีต กก.ผู้ทรงคุณวุฒิ ศูนย์พัฒนาพลังแผ่นดิน เชิงคุณธรรม สำนักนายกรัฐมนตรี

 

สังคมไทยสามารถแสวงหาทางออกจากวิกฤตการณ์ทางการเมืองได้ด้วยการร่วมกันแสวงหากลไก หรือกระบวนการปรึกษาหารือกัน เพื่อก้าวข้ามผ่านวิกฤตการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรงทางการเมืองได้ด้วยยึดหลักการประชาธิปไตย หลักนิติรัฐ และหลักธรรมาภิบาล โดยรัฐบาล คสช.สามารถมีบทบาทสำคัญในการลดเงื่อนไข ลดความเสี่ยงในการนำพาสังคมไทยไปสู่ความขัดแย้งรุนแรง และเริ่มต้นได้ด้วยการยกเลิกแนวคิดสืบทอดอำนาจ

หลังประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการวันที่ 9 พ.ค. พ.ศ. 2562 จุดเริ่มต้นของวิกฤตการณ์ทางการเมืองรอบใหม่อันยืดเยื้ออาจจะปรากฏเป็นสัญญาณชัดเจนขึ้น เพื่อไม่ให้สังคมไทยถลำลึกสู่วิกฤตการณ์ สังคมไทย ผู้มีอำนาจรัฐต้องหลีกเลี่ยงการดำเนินการใด ๆ อันนำสู่การเพิ่มความขัดแย้งและการเผชิญหน้า

ผลพวงจากการเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค. 2562 ที่ใช้เวลาประกาศผลเป็นทางการที่ยาวนานที่สุด ผ่านมาแล้วกว่า 3 สัปดาห์ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังไม่สรุปวิธีคำนวณ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อได้ และต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ เป็นเรื่องที่ผิดปกติอย่างยิ่ง เพราะกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 91 และ พ.ร.บ.เลือกตั้งมาตรา 128 ได้ตราไว้ชัดเจนถึงวิธีการคำนวณจำนวน ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ หากดำเนินการตามรัฐธรรมนูญก็จะไม่มีปัญหา

โดยมีข้อเสนอและความเห็นต่อสถานการณ์บ้านเมืองดังนี้

ส่วนแรก ข้อเสนอต่อ กกต.

ข้อแรก กกต.ต้องชี้แจงข้อสงสัยในเรื่องความไม่เรียบร้อยและความไม่โปร่งใสในการจัดการการเลือกตั้ง และเปิดเผยข้อมูลนับคะแนนรายหน่วยสู่สาธารณะ

ข้อสอง ให้ประชาชนผู้รักชาติรักประชาธิปไตย ติดตามการทำงานของ กกต. ในการแจกใบแดง ใบเหลือง ใบส้ม ว่าตรงไปตรงมา โปร่งใสหรือไม่

ข้อสาม เสนอให้ กกต.นำเอาเครื่องลงคะแนนเลือกตั้งอิเล็กทรอนิกส์และระบบ blockchain มาใช้ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป หรือเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะเกิดขึ้น เพื่อความโปร่งใสและประสิทธิภาพ

ข้อสี่ ขอให้ กกต.ศึกษาถึงวิธีการจัดการเลือกตั้งของอินเดียที่มีผู้ใช้สิทธิ 900 ล้านเสียง และสามารถสรุปผลคะแนนเลือกตั้งได้ภายใน 3 วัน

ส่วนที่สอง ข้อเสนอต่อ คสช. 

ข้อแรก ให้ คสช.หยุดดำเนินคดีและยัดข้อหานักการเมืองฝ่ายตรงกันข้ามหรือนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย หรือปิดกั้นเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ของสื่อมวลชนและนักวิชาการ

ข้อสอง ขอให้ คสช.หยุดใช้มาตรา 44 และทบทวนการใช้มาตรา 44 เอื้อผลประโยชน์อันไม่ชอบธรรมให้กับกลุ่มทุนธุรกิจต่าง ๆ บนต้นทุนของประเทศ ประชาชนผู้เสียภาษี ฯลฯ ในระยะเปลี่ยนผ่านรัฐบาลควรใช้กลไกกฎหมายในระบบ การดำเนินการใด ๆ ที่เป็นเรื่องสำคัญควรรอให้รัฐบาลใหม่เป็นผู้ดำเนินการ

ข้อสาม ให้ คสช.หยุดยั้งและทบทวนแผนการสืบทอดอำนาจและคืนอำนาจให้ประชาชนอย่างแท้จริง รวมทั้งต้องไม่ทำให้การเลือกตั้ง เป็นเพียงแค่พิธีกรรมหรือกลไกในการสืบทอดอำนาจ แต่เป็นช่องทางและกลไกสะท้อนความต้องการประชาชน และเป็นทางออกอย่างสันติของบ้านเมือง

ส่วนที่สาม ข้อเสนอต่อพรรคการเมืองและสังคมไทย 

ข้อแรก ขอให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งคว่ำบาตร พรรคการเมืองที่ตระบัดสัตย์ ไม่ทำตามสัญญาประชาคมที่ให้ไว้กับประชาชน เมื่อ 21 ธ.ค. พ.ศ. 2561 เพื่อให้รัฐบาลที่จะจัดตั้งขึ้นเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มีเสียงสนับสนุนเกินกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้สามารถบริหารประเทศไปได้อย่างมีเสถียรภาพ

ข้อสอง ให้ช่วยกันจับตาและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ การใช้คดีความ อำนาจเงิน และผลประโยชน์ในการชักจูงหรือบังคับให้เกิด “งูเห่า” ขึ้นในระบบพรรคการเมือง สวนทางกับการปฏิรูปการเมืองและทำลายระบบสถาบันพรรคการเมือง

ข้อสาม ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ที่ไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย พรรคการเมืองต่าง ๆ ต้องพยายามจัดตั้งรัฐบาลตามเงื่อนไขและกลไกประชาธิปไตยก่อน

ข้อสี่ ร่วมกันหยุดยั้งการกระทำใด ๆ ที่มุ่งทำลายคู่แข่งทางการเมืองด้วยการสร้างความเกลียดชัง โดยใช้การบิดเบือนข้อมูล ใช้ความเท็จในการใส่ร้ายป้ายสี และดึงสถาบันหลักของชาติมาใช้เป็นเครื่องมือ

ข้อห้า องค์กรอิสระภายใต้รัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็น กกต. ป.ป.ช. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน คณะผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นต้น แม้จะถูกแต่งตั้งโดย คสช. แต่ต้องทำงานอย่างเป็นอิสระ เป็นกลาง

ข้อหก เพื่อหลีกเลี่ยงความตึงเครียดและความเสี่ยงจะเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมือง วุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งทั้งหมดโดย คสช.ต้องไม่ทำอะไรสวนทางความต้องการและเจตนารมณ์ของประชาชน เริ่มต้นตั้งแต่การเลือกนายกรัฐมนตรี ควรเป็นการตัดสินใจของผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

ข้อเจ็ด รักษาพื้นที่สันติภาพ ไม่ปิดกั้นเสรีภาพและเคารพหลักสิทธิมนุษยชน

ข้อเสนอต่อกระทรวงต่างประเทศ 

การที่ผู้แทนจากสถานทูตต่าง ๆ และองค์กรระหว่างประเทศเข้าร่วมสังเกตการณ์ในการดำเนินคดีหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ก็ดี เป็นการส่งสัญญาณถึงจุดยืนของผู้แทนเหล่านี้ได้เป็นอย่างดีว่า ต้องการเห็นประเทศไทยกลับคืนสู่ประชาธิปไตย และปกครองโดยหลักนิติรัฐ มีกระบวนการยุติธรรมที่เป็นมาตรฐานสากล กระทรวงการต่างประเทศไม่จำเป็นต้องไปแสดงท่าทีใด ๆ ว่า กลุ่มคนเหล่านี้แทรกแซงกิจการภายใน