แก่ตัวอย่างมีคุณภาพ ไม่ใช่แก่ตัวโดยธรรมชาติ

คอลัมน์ Healthy Aging

โดย ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

 

ปกติเราจะมีความรู้สึกว่าอะไรที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาตินั้นจะเป็นสิ่งที่ดี แต่หากไตร่ตรองอีกครั้งก็จะพบว่า แท้จริงแล้ว ความเป็นมนุษย์คือ ความต้องการ และความพยายามที่จะปรับและควบคุมธรรมชาติให้เข้ากับความต้องการของมนุษย์นั่นเอง มนุษย์คิดค้นการ “ผลิต” และควบคุมไฟขึ้นมา เพื่อการหุงต้มอาหาร เพราะเราไม่ต้องการกินอาหารดิบตามธรรมชาติ

เราตัดไม้มาสร้างบ้านอยู่ เพราะไม่ต้องการนอนกลางดิน กินกลางทราย เราเอาไอน้ำ และกลั่นน้ำมันมาเป็นพลังงาน และถลุงเหล็กมาสร้างโรงงาน และอาวุธ เพื่อรบกันเอง ฯลฯ ดังนั้น เราจึงไม่เคยปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติ แต่ปรับธรรมชาติให้มาเข้ากับความต้องการของเรามาโดยตลอด

ในทำนองเดียวกัน มนุษย์ก็พยายาม “ฝืน” ธรรมชาติ โดยการค้นคว้าหาวิธีรักษาตัวเอง จากโรคต่าง ๆ มาโดยตลอด และในช่วง 200 ปีที่ผ่านมา ก็มีพัฒนาการอย่างมาก ทำให้มนุษย์อายุยืน และสุขภาพดีขึ้นอย่างก้าวกระโดด กล่าวคือเมื่อ 200 ปีที่แล้ว อายุคาดเฉลี่ยของมนุษย์ น่าจะอยู่ที่ประมาณ 40 ปี และปัจจุบันเกือบจะยาวนานกว่านั้นอีกหนึ่งเท่าตัวถึง 80 ปีแล้ว

ดังนั้น ผมจึงจะไม่แปลกใจเลยหากก้าวที่สำคัญต่อไปของมนุษย์ คือ การควบคุมการแก่ตัวของตัวเองให้มีคุณภาพอย่างเบ็ดเสร็จ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวในวันนี้ อาจทำให้รู้สึกว่าเป็นการ “ฝืนธรรมชาติ” เพราะเราท่องกันมาตั้งแต่เด็กว่า ชีวิตคือ การเกิด แก่ เจ็บ ตาย แต่นิสัยของมนุษย์ คือ ความพยายามตลอดมาที่จะฝืนธรรมชาติ ดังนั้น ผมจึงไม่เห็นว่าทำไมมนุษย์จะต้องคิดว่า การแก่ตัวหรือการตายที่เป็นเรื่อง “ธรรมชาติ” และมนุษย์จะไม่พยายามควบคุม และเปลี่ยนแปลงตามที่ต้องการให้จงได้

ผมได้เขียนถึงเรื่องการปฏิบัติตัว เพื่อเพิ่มโอกาสให้ร่างกายแข็งแรง ปราศจากโรคภัยจนกระทั่งวันสุดท้ายของชีวิต ซึ่งวนเวียนอยู่กับการออกกำลังกาย การกิน (ให้น้อยลง) และการนอนให้เพียงพอ ซึ่งหากมองในอีกด้านหนึ่งก็เป็นการ “ฝืนธรรมชาติ” เช่นกัน ในเชิงที่ว่าสัตว์ทุกชนิดจะพยายามดิ้นรนเพื่อมีชีวิตอยู่รอด เพื่อการมีลูกหลาน และเลี้ยงลูกหลานให้โต เพื่อให้เผ่าพันธุ์ของตนอยู่ต่อไป และธรรมชาติก็จะส่งเสริมให้เป็นเช่นนั้น

ตามทฤษฎีของ Charles Darwin กล่าวคือ ผู้ที่แข็งแรงที่สุดจะอยู่รอด และผสมพันธุ์ เพื่อส่งต่อยีนส์ที่เป็นประโยชน์ไปให้ลูกหลาน โดย “ธรรมชาติ” (natural selection) กล่าวคือ เป็นกระบวนการโดย “ธรรมชาติ” ให้เผ่าพันธุ์อยู่รอดต่อไป (perpetuation of the species)

ประเด็นที่น่าสนใจที่นักวิชาการที่ศึกษาเรื่องการแก่ตัว เช่น Dr.Leonard Guarente (แห่งมหาวิทยาลัย MIT) ให้ข้อสังเกต คือ “ธรรมชาติ” จะไม่สนใจว่า สัตว์และมนุษย์ที่แก่ตัวจะล้มหายตายจากไป เพราะเมื่ออายุมากก็น่าจะได้ผสมพันธุ์ มีลูกหลานเหลือเพียงพอที่จะทำให้เผ่าพันธุ์อยู่รอดได้แล้ว กล่าวคือ Dr. Guarente พูดว่า “It’s not like you’re been programmed to die at some age, but the laziness of evolution has re-sulted in your program to not avoid dying.”

หมายความว่าธรรมชาติไม่สนใจแล้วว่า คุณจะอยู่หรือจะตาย เมื่อแก่ตัวถึงจุดหนึ่ง ตัวอย่างเช่น เมื่ออายุเกินกว่าประมาณ 55 ปีไปแล้ว คงจะได้มีลูก และเลี้ยงลูกให้โตเป็นผู้ใหญ่ รอดมาแล้วประมาณ 4-5 คน ดังนั้น ผู้ที่อายุเกินกว่า 55 ปี จะตายไปตอนอายุ 56 ปี หรือ 100 ปี ก็ไม่มีความสำคัญต่อ “ธรรมชาติ” แต่อย่างใด

กล่าวคือการเก็บรักษาและพัฒนายีนส์ “ดี ๆ” เพื่อให้เผ่าพันธุ์อยู่รอด (natural selection) นั้น จะไม่สนใจที่จะพัฒนายีนส์ที่ทำให้อายุยืนแต่อย่างใด เพราะไม่มีความจำเป็นโดยธรรมชาติ ตรงกันข้ามหากอายุยืนมาก แต่ไม่สามารถผสมพันธุ์ได้แล้ว ก็จะเป็นภาระต่อเผ่าพันธุ์โดยรวม เพราะอาจจะมาแก่งแย่งทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดอีกด้วย

เมื่อเป็นเช่นนี้ก็น่าจะมีความเป็นไปได้สูงว่า ยีนส์ต่าง ๆ ที่มนุษย์ปัจจุบันได้รับ เป็นมรดกตกทอดมาหลายแสนปีนั้น เกือบจะไม่มียีนส์ใดที่จะทำให้อายุยืนยาว (พร้อมกับมีสุขภาพดี) เป็น 100 ปี ตรงกันข้าม หากมียีนส์ที่ทำให้แข็งแรง และดุดันในตอนหนุ่ม-สาว เช่น มีฮอร์โมน testosterone ที่ทำให้ร่างกายแข็งแรงนั้น ก็พบว่าหากมีมากก็ทำให้อายุสั้นได้

ในทำนองเดียวกัน ฮอร์โมน cortisol นั้น เป็นประโยชน์มากในการเผชิญกับอันตราย เพราะทำให้ร่างกายตื่นตัวเต็มเกินร้อย เพื่อสู้หรือหนี (fight or flight) แต่ cortisol ที่มีมากเกินไปนั้น ในระยะยาวจะสร้างปัญหาให้กับสุขภาพ และทำให้อายุสั้น แต่เป็นฮอร์โมนที่ช่วยให้เอาตัวรอด และไปผสมพันธุ์ในวัยหนุ่ม-สาว หลังจากนั้นจะล้มตายไปก็ไม่เป็นไร

การที่วิวัฒนาการของสัตว์และมนุษย์ปล่อยปละละเลยเรื่องสุขภาพตอนแก่ตัว เพราะไม่มีความสำคัญสำหรับการอยู่รอดของเผ่าพันธุ์นั้น มองได้อีกมุมหนึ่งว่าเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้โรคร้ายต่าง ๆ ที่ไม่ใช่โรคติดต่อ (ซึ่งมนุษย์คิดค้นยามารักษาได้เกือบ 100% แล้ว) นั้น ล้วนแต่เป็นโรคที่เกิดขึ้นมาเมื่อมนุษย์แก่ตัวลงแล้วทั้งสิ้น เห็นได้จากตาราง

ปัจจุบันมีนักวิชาการจำนวนหนึ่งมีมุมมองว่า “โรคร้าย” หลัก ๆ ที่เป็นสาเหตุของการตายในปัจจุบัน เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคสมองเสื่อม ฯลฯ นั้น ล้วนแล้วแต่เป็นอาการ (symptom) ของโรคหลักโรคเดียว คือ โรคความแก่ดังเห็นได้จากตารางข้างต้นว่า เมื่ออายุ 15-34 ปี (ซึ่งเป็นช่วงที่ต้องผสมพันธุ์ และเลี้ยงลูกนั้น) ธรรมชาติจะปกป้องให้เป็นโรคร้ายต่าง ๆ น้อยมาก (เพียง 11%) แต่เมื่อทำหน้าที่เสร็จแล้ว จะตายหรือจะอยู่ก็ไม่สำคัญ ดังนั้นเมื่ออายุเกินกว่า 55 โรคต่าง ๆ จึงรุมเร้าและเป็นสาเหตุของการตายกว่าครึ่งหนึ่ง

หากแนวคิดดังกล่าวถูกต้องก็แปลว่า กระบวนการรักษาโรคของมนุษย์ในปัจจุบัน เป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด กล่าวคือ ปัจจุบันภาวะ “ตั้งรับ” รอให้เป็นโรคร้ายดังกล่าวข้างต้นทีละโรค (โดยพยายามหาทางรู้ล่วงหน้าให้เร็วที่สุด หากเป็นไปได้) แล้วจึงรีบไปหานายแพทย์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะทาง (specialist) ในการรักษาโรคดังกล่าวเป็นโรค ๆ ไป เช่น บางคนบอกว่าเป็นแค่เบาหวาน จึงรักษาโรคนี้ แต่โชคดีที่ยังไม่เป็นโรคหัวใจ เป็นต้น แต่ในที่สุดแล้วต่อไปก็จะเป็นโรคความดัน โรคหัวใจ และโรคอื่น ๆ ตามมาในที่สุด

กล่าวคือแนวทางปัจจุบันอาจมองได้ว่า เป็นการพยายามบรรเทาอาการของโรค (symptom) แต่ไม่ได้ไปรักษาโรคที่ต้นตอ (cause) คือ “โรคความแก่” ซึ่งท่านผู้อ่านอาจจะมองว่าเป็นการคิดแบบ “โลกสวย” เกินจริงหรือไม่ กล่าวคือมีการวิจัยและค้นคว้าตามแนวทางดังกล่าวนี้มากน้อยเพียงใด ทั้งนี้ อย่าลืมว่าหากมีการคิดค้น “ยาวิเศษ” ที่สามารถรักษา “โรคความแก่” ได้จริง ก็จะเป็นเรื่องของ technological disruption แบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน กับอุตสาหกรรมสาธารณสุข เพราะความต้องการบุคลากรทางการแพทย์ และยาราคาแพง ๆ ที่ผลิตโดยบริษัทยาในปัจจุบัน น่าจะลดลงอย่างฮวบฮาบ

แนวคิดที่จะหายารักษาโรคความแก่นี้มีมานานเกือบ 30 ปีแล้ว ซึ่งกระจัดกระจายอยู่มาก แต่ล่าสุดนั้น นักวิชาการที่เป็นหนึ่งในผู้นำด้านนี้ คือ Dr.David Sinclair แห่งมหาวิทยาลัย Harvard กำลังจะพิมพ์หนังสือออกมาขายในเดือนกันยายนนี้

ชื่อว่า “Lifespan : The Revolutionary Science of why we age and why we don’t have to” หนังสือเล่มนี้ ผมต้องซื้อมาอ่านอย่างแน่นอน โดย Dr.Sinclair กล่าวว่า “Aging isn’t immutable ; we can have far more control over it than we realize…we can slow down, or even reverse, the genetic clock. The key is activating newly discovered vitality genes…”

บางคนอาจจำได้ว่าเมื่อประมาณ 15 ปีที่แล้ว งานวิจัยจาก Dr.Sinclair ถูกกล่าวถึงอย่างมาก เมื่อเขาพบว่าสาร resveratrol จากผิวขององุ่นในไวน์แดงนั้นทำให้หนูแข็งแรง และอายุยืนในช่วงเกือบ 15 ปีที่ผ่านมา ความรู้เกี่ยวกับการควบคุมการแก่ตัวในระดับเซลล์ก้าวหน้าไปอย่างมาก และ Dr.Sinclair ก็กล่าวแล้วว่า เรามาถึงจุดที่ “We can slow down, or reverse the genetic clock.” ผมมีความหวังว่า วันที่มนุษย์จะสามารถรักษาโรคความแก่นั้นกำลังใกล้เข้ามาแล้ว

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!