สวัสดี “สังคมผู้สูงวัย”

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย สร้อย ประชาชาติ

เพิ่งผ่านเทศกาล “สงกรานต์” มาหมาด ๆ ถือเป็นมหกรรม “กลับบ้าน” ประจำปีครอบครัวส่วนใหญ่จะได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตา และเป็นอีกวันที่ “ผู้สูงอายุ” จะถูกให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ อย่างน้อยก็มีมติคณะรัฐมนตรีประกาศให้ 13 เมษายนของทุกปีเป็น “วันผู้สูงอายุแห่งชาติ”

ถ้านิยาม “สูงวัย” คือ อายุ 65 ปีขึ้นไป ตามเกณฑ์ของสหประชาชาติ (UN) ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) ระบุว่า ประเทศไทยเป็นสังคมสูงวัย (aging society) ที่มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 7 ตั้งแต่ปี 2561 ด้วยสัดส่วนผู้สูงวัยถึงร้อยละ 11.7 และคาดว่าไม่เกินปี 2571 จะขยับไปถึงร้อยละ 17.3 ก้าวสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ (aged society) ซึ่งมีผู้สูงวัยกว่าร้อยละ 14 ของประชากร

ขณะที่ผลสำรวจ สสช. ล่าสุดในปี 2560 พบว่า ร้อยละ 35.1 ของผู้สูงอายุยังทำงานอยู่ (3.9 ล้านคน) ส่วนใหญ่อยู่ในภาคการเกษตร การบริการและจำหน่ายสินค้า ซึ่งยังต้องทำงานเพราะ สุขภาพแข็งแรง ยังมีแรงทำงาน ต้องหารายได้เลี้ยงครอบครัวหรือตนเอง และเป็นอาชีพประจำไม่มีผู้ดูแลแทน

ส่วนแหล่งรายได้หลักของผู้สูงอายุ ร้อยละ 34.7 มาจากบุตร ร้อยละ 31 มาจากการทำงานของตนเอง และร้อยละ 20 ได้รับจากเบี้ยยังชีพของทางราชการ

ขณะที่ร้อยละ 99.2 มีสิทธิในสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล จากบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า สิทธิข้าราชการหรือข้าราชการบำนาญ และสิทธิประกันสังคมหรือกองทุนเงินทดแทน มีร้อยละ 0.8 ที่ไม่มีสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล

แต่สถิติที่น่าสนใจ คือ “อัตราการพึ่งพิง” ในปี 2560 ระบุว่า ประชากรวัยทำงาน 100 คน จะต้องรับภาระประชากรสูงอายุและวัยเด็ก 51 คน และคาดว่าเพิ่มเป็น 64 คนในปี 2570 นั่นหมายถึง มนุษย์งานกว่าครึ่งไม่ได้ “ทำมาหาเลี้ยงปากท้องแค่ตัวเอง” ยังต้องแบกรับอีกอย่างน้อย “1 ชีวิต”

ขณะที่ผลการศึกษา “สังคมสูงวัยกับความท้าทายของตลาดแรงงานไทย” ในโครงการศึกษาด้านโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่มีนัยต่อการดำเนินนโยบาย สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เมื่อ ก.ค. 2561 ยังระบุชัดว่า แรงงานไทยมีแนวโน้ม “แก่ก่อนรวย”

โดยเมื่อเทียบสัดส่วนผู้สูงอายุไทยกับประเทศในอาเซียนพบว่า ไทยมีสัดส่วนผู้สูงอายุมากที่สุด ทั้งยังมีผู้สูงอายุที่ “เรียนสูง” (มากกว่าระดับมัธยมศึกษา) แค่ร้อยละ 12 น้อยกว่าประเทศอื่นค่อนข้างมาก (สิงคโปร์อยู่ที่ร้อยละ 40 ประเทศพัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่นอยู่ที่ร้อยละ 74) แถมรายได้ต่อหัวต่อประชากรตามที่ UN ประเมินในปี 2558 ยังอยู่แค่ 5,720 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1.8 แสนบาทต่อปี) น้อยกว่าประเทศอื่นที่เข้าสู่สังคมสูงวัยแล้วเช่นกัน (ญี่ปุ่นอยู่ที่ 38,840 เหรียญสหรัฐ สิงคโปร์อยู่ที่ 52,090 เหรียญสหรัฐ)

ที่สำคัญกว่าครึ่งของผู้อายุ 60 ปีชาวไทยยังเป็น “หนี้” อยู่ คำถามคือ “ประเทศไทย-คนไทย” พร้อมแค่ไหนกับการ “สูงวัย” ที่อยู่ได้อย่างมี “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์”

สิ่งที่เห็นได้บ่อยจากคนรอบตัว คือ เมื่อผู้สูงอายุในบ้านป่วยหรือต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิด หากไม่ใช่ครอบครัวที่มีฐานะร่ำรวยพอจะจ้างคนงานหรือพยาบาลมาดูแลเฉพาะ หรือส่งเข้าศูนย์ดูแลผู้สูงอายุได้ สมาชิกในบ้านที่ “เป็นโสด” ต้องรับภาระในการดูแล และมีไม่น้อยที่ต้องตัดสินใจลาออกจากงาน

ซึ่งตามผลการศึกษาของ ธปท.ยังระบุชัดว่า แรงงานผู้หญิงของไทยเป็นกลุ่มใหญ่ที่ออกจากตลาดแรงงานค่อนข้างเร็ว ตั้งแต่อายุ 45 ปี โดยเฉพาะผู้ที่มีทักษะไม่สูงมีถึง 5.8 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 81 ของผู้หญิงที่ออกจากตลาดแรงงานทั้งหมด โดยสาเหตุหลัก คือ ต้องดูแลสมาชิกคนอื่นในครอบครัว ซึ่งอาจเป็นทั้งเด็ก คนป่วย หรือผู้สูงอายุ

ทั้งยังพบว่าการมีประชากรสูงอายุในครัวเรือน ทำให้วัยแรงงานทำงานได้น้อยลง จากการต้องสละเวลาเพื่อดูแลประชากรสูงวัยในครอบครัวมากขึ้น

จากประสบการณ์ตรงที่ได้เห็น และเชื่อว่าเป็นภาพที่คุ้นชินของหลาย ๆ คนเช่นกัน คือ การตกลงกันในครอบครัว ให้ลูกหลานที่ “โสด” เงินเดือนน้อยที่สุด ลาออกจากงาน มาดูแลผู้สูงวัยในบ้าน โดยสมาชิกในบ้านจะลงขันกันจ่ายค่ากินอยู่ให้แทนการลงแรง

ขณะที่การดูแลคนแก่คนป่วยไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้ทั้งแรงกายแรงใจอย่างมาก สิ่งที่มักเกิดขึ้น คือ “ปัญหาสุขภาพ” ของผู้ดูแลที่จะอ่อนแอลงเรื่อย ๆ

และสุดท้ายเมื่อหมดภาระการดูแลคนแก่หรือคนป่วย ตามวัฏจักรสังขาร ปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมา คือ คนดูแลกลายเป็น “ภาระ” ของสมาชิกที่เหลือด้วยสภาพสังขารที่อ่อนแอลงและไม่มีอาชีพ เพราะลาออกมานาน การจะสมัครงานใหม่ในวัย 40-50 ปีไม่ใช่เรื่องง่าย

ขณะที่ “เหตุผลและความจำเป็น” ที่สมาชิกคนอื่นในครอบครัวต้องเจือจางเงินทองมาให้ใช้จ่ายก็แทบจะหมดไป วงจรปัญหานี้จะแก้ไขกันอย่างไรต่อไป อาจไม่ใช่แค่เรื่องที่แต่ละ “ครอบครัว” ต้องวางแผนคิด เพราะหากมองให้ลึก

นี่คือปัญหาที่กระทบกับ “แรงงาน” ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ และภาระ “การจัดการระบบสวัสดิการของรัฐ”

เพราะอีกมุมของวงจรนี้ ยังมีปัญหาขั้นกว่า เมื่อยุคนี้การพึ่งพาลูกหลานให้ดูแลยามหลังเกษียณอาจไม่สามารถทำได้อีกต่อไป ทั้งจากการมีลูกน้อยลงหรือเลือกจะไม่มีลูก รวมถึงมีเด็กรุ่นใหม่ไม่น้อยที่มีแนวคิดว่า “ไม่ได้อยากจะมาเกิด” เมื่อพ่อแม่ทำให้ตนเองเกิดขึ้นมา ก็ต้องเป็นผู้รับผิดชอบชีวิตลูก จึงไม่ใช่เรื่อง “บุญคุณ” ที่ต้องมาตอบแทนที่เลี้ยงดู (มีให้อ่านเกลื่อนโซเชียลมีเดีย)

ขณะที่กลุ่มผู้มีการศึกษาสูงมีสถานะทางการเงินดีพอที่จะวางแผนดูแลตัวเองยามแก่เฒ่า ก็มีไม่มากในสังคมนี้ แล้วสังคมไทยจะจัดการกับ “ผู้สูงวัย” ที่ไร้คนดูแลได้อย่างไร ท่ามกลาง “โลก” ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว