จิ๊กซอว์หุ้น

คอลัมน์จัตุรัสนักลงทุน

โดย วีระพงษ์ ธัม www.facebook.com/10000Li

เกมตัวต่อจิ๊กซอว์ คือ เกมโบราณที่เรียบง่ายที่สุดเกมหนึ่งบนโลกนี้ ไม่จำเป็นต้องอ่านวิธีเล่นก็เข้าใจได้ น่าประหลาดว่ามันแฝงปรัชญา วิธีคิดมากมายซึ่งคล้ายกับวิธีการลงทุนในหุ้นอย่างมาก และผมคิดว่าปรัชญานี้คือหนึ่งใน “หัวใจ” ของการประสบความสำเร็จในหุ้น ศาสตร์การลงทุนเราต้อง “ฝึกต่อภาพ” หรือ “เชื่อมโยง” ข้อมูลที่มีอยู่เข้าหากันเหมือนการต่อจิ๊กซอว์ เพื่อให้ข้อมูลที่มีอยู่มีประสิทธิภาพ และถูกต้องมากที่สุด

การมีจิ๊กซอว์หนึ่งชิ้นเราอาจจะตอบไม่ได้ดีนักว่ามันคือภาพอะไร แต่ถ้าเรา “ต่อภาพ” ให้กว้างขึ้นจนครบถ้วนสมบูรณ์ เราจะบอกคำตอบได้ดีกว่ามาก สาเหตุที่การลงทุนเป็นศิลปะเพราะเสน่ห์ของการเชื่อมโยงนี่เอง Investing is just connecting things มันคือเกมที่ชื่อว่า “จิ๊กซอว์หุ้น”

การลงทุนคือ “ศาสตร์แห่งการคาดเดาอนาคต” กำไรของเราจะขึ้นกับอนาคตทั้งสิ้น ส่วนที่ยากของการลงทุนคือเป็นเกมจิ๊กซอว์ ที่เราไม่เห็นกล่องว่าภาพนั้นคือภาพอะไร จุดเริ่มต้นจึงไม่ต่างจาก “คนตาบอดคลำช้าง” ที่ลองผิดลองถูก ไปตาม “ข้อมูล” ที่ได้รับเพื่อจะ “จินตนาการ” ภาพข้างหน้า ปัญหาหลักของความผิดพลาดในการลงทุน คือ เรามักสนใจเพียงแค่สิ่งที่เรารู้และเรื่องที่เราไม่รู้ ซึ่งแท้จริงยังมีอีกส่วนหนึ่งซึ่งอันตรายกว่ามากคือ “สิ่งที่เราไม่รู้ว่าเราไม่รู้” และสิ่งที่เรา “คิดว่าเรารู้แต่เราไม่รู้” นี่คือสาเหตุหลักของความผิดพลาดในการลงทุน เพื่อลดปัญหานี้เราควรต้องทำอย่างไรบ้าง ?

1. โจทย์แรกของจิ๊กซอว์หุ้นคือ เราต้องเชื่อมโยงระหว่างภาพเล็กและภาพใหญ่ ความคิดของการหาหุ้นแบบ bottom up หรือ top down นั้น แค่บอกว่าเราเริ่มต้นตรงไหน เพราะในที่สุด เราก็ต้องเชื่อมข้อมูลภาพใหญ่และภาพเล็กเข้าหากันอยู่ดี การลงทุนต้องเริ่มต้นจากการหยิบจิ๊กซอว์แต่ละชิ้นมาวางเรียงกัน เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลแนวลึกและแนวกว้าง ค่อย ๆ ต่อจิ๊กซอว์ การเข้าใจหนึ่ง “ธุรกรรม” เมื่อมาต่อภาพกัน ก็จะเข้าใจหนึ่ง “ธุรกิจ” และขยายไปสู่หนึ่ง “อุตสาหกรรม” เมื่อเราเริ่มต่อภาพไปบ่อย ๆ เราจะสร้างประสบการณ์ที่จะเป็นตัวช่วยกำหนดเป้าหมายว่า “ภาพที่อยากเห็น” คืออะไร และการต่อภาพก็จะเร็วขึ้นมาก ส่วนที่ยากที่สุดในนี้คือ “วินัย” อย่าประเมินจิ๊กซอว์หุ้นว่ามีชิ้นน้อย ๆ นักลงทุนที่มีประสบการณ์มักมองว่ามันคือจิ๊กซอว์ระดับหมื่นชิ้น ไม่ใช่หลักร้อยชิ้นเหมือนนักลงทุนทั่วไป

2. เนื่องจากข้อมูลมีจำนวนมาก จง “เลือก” ข้อมูล และ “แยกชิ้นส่วน” เป็นหมวดหมู่ เช่นข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจโดยตรง โดยอ้อม เกี่ยวกับคู่แข่ง เกี่ยวกับลูกค้า แยกส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องออกไปก่อน สุภาษิตเรื่อง “อย่าจับปลาสองมือ” ใช้ได้ดีในตลาดหุ้น โดยเฉพาะในช่วงเริ่มต้นที่เราต้องหา “หายุทธศาสตร์ที่ดีที่สุดและง่ายที่สุดก่อน” อย่าพยายามรีบออกนอก “ขอบเขตความรู้” ของตัวเอง จุดเริ่มต้นในการต่อจิ๊กซอว์หุ้นคือ ธุรกิจที่เราเชี่ยวชาญและเข้าใจได้ดี

3. ระวังการ “เข้าใจผิด” การต่อจิ๊กซอว์ ชิ้นที่ต่อยากที่สุดคือ ชิ้นที่เราเข้าใจผิดว่ามันเป็นอย่างหนึ่ง แต่จริง ๆ แล้วมันอาจจะเป็นอีกอย่างหนึ่ง สิ่งที่เห็นกับสิ่งที่เป็นจริงในธุรกิจหรือหุ้นบ่อยครั้งอาจจะเป็นคนละเรื่อง ตัวเลขงบการเงินที่เห็นในวันนี้อาจจะไม่เป็นจริงในอนาคต โอกาสและความเสี่ยงในตลาดหุ้นเกิดจาก “ความเข้าใจผิด” นี่เอง ที่มักจะเพราะเรา “ด่วนสรุป” ทุกอย่างเร็วเกินไป เหมือนเราได้จิ๊กซอว์มาไม่กี่ชิ้น ได้คำตอบมาสั้น ๆ แต่เรานำมาสรุปอธิบายภาพรวมทั้งหมด ผลที่ตามมาคือ เราอาจจะมองข้ามหุ้นคุณภาพดี หรืออาจจะมองหุ้นบางตัวดีเกินความเป็นจริง

4. ต้องพยายามต่อจิ๊กซอว์เชื่อม “ข้อมูล” กับ “ความรู้” เพราะความรู้เท่านั้นที่จะช่วยให้เรากำไรเพิ่มขึ้นในตลาดหุ้นได้อย่างยั่งยืนไม่ใช่ข้อมูล การเชื่อมโยงนี้คือหัวใจของ “การวิเคราะห์หุ้น”

ข้อมูลบอกแค่ภาพบริษัทกำลังจะทำอะไร แต่เราต้องคิดนำว่าวิเคราะห์ต่อ เช่น บริษัทกำลังมีกลยุทธ์ด้านไหน แผนการตลาด การบริหารทรัพยากรคน เรื่องการเงิน เรื่องการแข่งขัน การเติบโต ถ้าเราต่อจิ๊กซอว์ระหว่างข้อมูลและทฤษฎีในตำราเข้าหากัน จะทำให้เห็นวิเคราะห์ภาพอนาคตของแผนนั้น ๆ ได้ “ลึก” ขึ้น

5. จิ๊กซอว์ตัวแรก ๆ ที่เราควรจะต้องเชื่อมต่อภาพให้ได้คือ “งบการเงิน” ที่แต่ละบรรทัดจะสะท้อนความสามารถของบริษัทในอดีตไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง และจะเห็นถึงประวัติศาสตร์หุ้น และพัฒนาการ รวมไปถึงโอกาสอุปสรรคของบริษัทบางอย่างได้ ภาพงบการเงินจะบอกว่าสิ่งที่เราคิดถูกต้องหรือไม่ และเรื่องการประเมินมูลค่าที่น่าปวดหัว มันไม่ใช่สูตรการคำนวณสมการที่ยาก แต่เป็นกระบวนการต่อจิ๊กซอว์ที่ซับซ้อนต่างหาก

6. ระวังขาดจิ๊กซอว์ “ชิ้นสำคัญ” ในการลงทุน เราจำเป็นต้องได้จิ๊กซอว์ “ชิ้นสำคัญ” ให้ครบให้มากที่สุด เพื่อที่ไม่ให้การลงทุนล้มเหลว ไม่สำคัญว่าเราจะต่อจิ๊กซอว์หุ้นได้ภาพกว้างมากขนาดไหนก็ตาม แต่ถ้าเราขาดชิ้นส่วนสำคัญก็สามารถผิดพลาดได้เสมอ ตัวอย่างคือ กรณีที่ธุรกิจทุกอย่างดูดีหมด แต่เจอปัญหาขาดสภาพคล่อง หรือผู้บริหารไม่โปร่งใส ก็ทำให้สิ่งที่เราคิดถูกทั้งหมด กลับกลายเป็นผิดพลาดได้

7. เมื่อเราต่อจิ๊กซอว์ครบแล้ว เราต้องลงมือซื้อหรือขายตามสิ่งที่เห็น นี่คือการเชื่อมโยงที่ยากที่สุด เป็นตัวแบ่งนักลงทุนที่ชาญฉลาดออกจากนักทฤษฎีที่ชาญฉลาด โอกาสเดียวที่เราจะกำไรมากคือเราต้อง “ฝืนทำ” สิ่งที่เรามีมุมมองที่ไม่ตรงกับฝูงชน และจงเชื่อในภาพที่ตัวเองต่อขึ้น และสิ่งเดียวที่จะพิสูจน์ว่าเราชนะในเกมจิ๊กซอว์หุ้นไม่ใช่ราคาหุ้น แต่คือภาพที่เราต่อขึ้นในจินตนาการ กับภาพที่มันเกิดขึ้นจริงเป็นภาพเดียวกัน และคุณเห็นเป็นคนแรก ๆ