เตรียมพร้อมประเทศไทย สองยักษ์ลั่นสงครามการค้ารอบใหม่

คอลัมน์ แตกประเด็น

โดย อรมน ทรัพย์ทวีธรรม กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

 

หากถือว่าการที่สหรัฐประกาศใช้มาตรา 232 ของกฎหมาย Trade Expansion Act of 1962 ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าเหล็กร้อยละ 25 และอะลูมิเนียมร้อยละ 10 จากทั่วโลก เมื่อเดือน มี.ค. 2561 เป็นสัญญาณการลั่นกลองรบครั้งแรกของสงครามทางการค้าระหว่างสองยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจ นับจนถึงปัจจุบันนี้ก็เป็นเวลาปีกว่าแล้ว หลังจากการเปิดเกมของสหรัฐ จีนก็ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าร้อยละ 15 และร้อยละ 25 ในเดือน เม.ย. 2561 กับสินค้านำเข้าจากสหรัฐ กว่า 128 รายการ รวมมูลค่า 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

จากนั้นตามด้วยสหรัฐ ประกาศใช้มาตรา 301 กฎหมาย Trade Act of 1974 ขึ้นภาษีกับสินค้านำเข้าจากจีน 4 วาระ (ก.ค. ส.ค. และ ก.ย. 2561 และล่าสุด พ.ค. 2562) โดยเหตุผลว่า จีนบังคับให้ถ่ายทอดเทคโนโลยีและทรัพย์สินทางปัญญาถือเป็นการกีดกันและเป็นอุปสรรคต่อสินค้าสหรัฐ ในภาพรวมสหรัฐใช้มาตรา 301 ขึ้นภาษีนำเข้ากับสินค้าจากจีนแล้ว 6,842 รายการ รวมมูลค่า 250,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณร้อยละ 50 ของมูลค่าสินค้าที่สหรัฐนำเข้าจากจีน

โดยรายการสินค้าล่าสุดที่สหรัฐปรับขึ้นภาษีนำเข้าจากจีน จากร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 25 เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2562 ครอบคลุมสินค้าหลากหลายกว่า 5,475 รายการ ตั้งแต่สินค้าทุน สินค้าขั้นกลาง สินค้าอุปโภคบริโภค รวมมูลค่า 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

ขณะเดียวกัน จีนได้ตอบโต้โดยการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ 4 วาระเช่นกัน ในภาพรวม จีนขึ้นภาษีตอบโต้มาตรา 301 ของสหรัฐ ครอบคลุมสินค้า 6,085 รายการ รวมมูลค่า 110,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 90 ของมูลค่าสินค้าที่จีนนำเข้าจากสหรัฐ มีทั้งสินค้าเกษตร เช่น ถั่วเหลือง อาหารทะเล เนื้อหมู ผักผลไม้ ข้าว ธัญพืช ฝ้าย ตลอดไปถึงน้ำมัน ก๊าซปิโตรเลียม และสินค้าอุตสาหกรรม เช่น รถยนต์และชิ้นส่วนบางชนิด เครื่องจักร เหล็ก และอุปกรณ์ไฟฟ้า เป็นต้น

รายการสินค้าล่าสุดที่จีนประกาศจะขึ้นภาษีตอบโต้สหรัฐ ในต้นเดือน มิ.ย. 2562 ครอบคลุมสินค้า 5,140 รายการ แบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ ขึ้นภาษีร้อยละ 25 ร้อยละ 20 ร้อยละ 10 และร้อยละ 5 ในสินค้า เช่น เนื้อสัตว์ ข้าวสาลี ผลไม้ เคมีภัณฑ์ อุปกรณ์การแพทย์ พลาสติก ยาง เครื่องหนัง เครื่องไม้ สิ่งทอ เครื่องแต่งกาย เหล็ก อะลูมิเนียม เครื่องจักร อุปกรณ์ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ เฟอร์นิเจอร์ ของเล่น เป็นต้น

ผลของการตอบโต้ทางการค้าของทั้งสองประเทศที่ผ่านมาพบว่า รายการสินค้าที่สหรัฐขึ้นภาษีกับจีน สหรัฐมีการนำเข้าจากจีน (ในช่วงเดือน ก.ค. 61-มี.ค. 62) ลดลงร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะค่าเงินของจีน (RMB) อ่อนลงในช่วงที่สหรัฐใช้มาตรการ ขณะที่ไทยส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวไปสหรัฐเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 และสำหรับในรายการสินค้าที่จีนขึ้นภาษีตอบโต้สหรัฐพบว่า จีนมีการนำเข้าจากสหรัฐ (ในช่วงเดือน ก.ค. 61-มี.ค. 62) ลดลงร้อยละ 26 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ในขณะที่ไทยส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวไปจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 2

จึงเป็นไปได้ว่าการตอบโต้ทางการค้าที่เกิดขึ้นอาจส่งผลให้รูปแบบการผลิต หรือการพึ่งพาสินค้าบางรายการระหว่างสหรัฐกับจีนเปลี่ยนแปลงไป ต่างฝ่ายอาจหันมาให้ความสำคัญกับการผลิตในประเทศ หรือนำเข้าจากแหล่งอื่นเพิ่มขึ้น

การที่สหรัฐลั่นกลองรบสงครามการค้ารอบใหม่กับจีน เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2562 จึงอาจ (1) เป็นโอกาสที่ไทยจะส่งออกไปสหรัฐได้เพิ่มขึ้น เพื่อทดแทนสินค้าจีน โดยเฉพาะในสินค้าที่สหรัฐนำเข้าจากไทยมากเป็นอันดับต้น เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า ชิ้นส่วนยานยนต์ ส่วนประกอบเครื่องยนต์ เครื่องยนต์ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และสินค้า ICT อาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป สินค้าเกษตรและอาหาร

(2) จีนอาจลดกำลังการผลิตสินค้าสำเร็จรูปที่จะส่งไปสหรัฐ ส่งผลให้จีนลดความต้องการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง เช่น ยางธรรมชาติ เคมีภัณฑ์ ส่วนประกอบเครื่องจักร ส่วนประกอบของแผงวงจรไฟฟ้า ส่วนประกอบของเครื่องประมวลผล ชิ้นส่วนยานยนต์ เส้นใยสังเคราะห์

(3) จีนอาจจำเป็นต้องหาตลาดใหม่แทนตลาดสหรัฐ และอาจเบี่ยงเบนการส่งสินค้ามาไทย เช่น ซอสและเครื่องปรุง อาหารทะเลแปรรูป เครื่องยนต์ ตู้แช่เย็น เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น

ขณะเดียวกัน เมื่อจีนประกาศที่จะขึ้นภาษีตอบโต้สหรัฐ ต้นเดือน มิ.ย. 2562 ก็อาจ (1) เป็นโอกาสที่ไทยจะส่งออกไปจีนเพิ่มขึ้น เพื่อทดแทนสินค้าสหรัฐ เช่น ผลไม้ ผลิตภัณฑ์ยาง เคมีภัณฑ์ เครื่องสำอาง มอเตอร์ไฟฟ้าและส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องจักรสำหรับการรับหรือการส่งภาพ เสียง เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า พลาสติกและของที่ทำด้วยพลาสติก บิสกิต แป้งที่ไว้สำหรับทำขนมเบเกอรี่ พาสต้า (2) สหรัฐอาจจำเป็นต้องหาตลาดใหม่แทนตลาดจีน และอาจเบี่ยงเบนการส่งสินค้ามาไทย เช่น ธัญพืช สตาร์ชทำจากข้าวโพด เป็นต้น

ทั้งนี้ สหรัฐและจีนเป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทย ในปี 2561 ไทยส่งออกไปจีน 30,175 ล้านเหรียญสหรัฐ และส่งออกไปสหรัฐ 28,016 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 12 และ 11.1 ของการส่งออกไทยไปทั่วโลก ทั้งสองประเทศยังเป็นคู่ค้าที่มีความสำคัญระหว่างกัน ทำให้ไทยต้องติดตามสถานการณ์ทางการค้าที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด เพราะแม้มาตรการทางการค้าส่วนใหญ่ที่ทั้งสองฝ่ายใช้ต่อกันอาจไม่ได้กระทบต่อไทยโดยตรง แต่อาจส่งผลกระทบทางอ้อมกับไทย เนื่องจากไทยเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานการผลิตของโลก

ผลกระทบจากมาตรการดังกล่าวอาจทำให้รูปแบบและโครงสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างประเทศเปลี่ยนไป ก่อให้เกิดการเบี่ยงเบนทางการค้าและการเคลื่อนย้ายการลงทุนเพื่อกระจายความเสี่ยง และหลีกเลี่ยงการถูกใช้มาตรการ

ไทยควรหาช่องทางขยายการส่งออกสินค้าไปทดแทนสินค้าที่ถูกใช้มาตรการ รวมทั้งหากมีการย้ายฐานผลิตจากจีนหรือสหรัฐ ทำอย่างไรให้ไทยเป็นทางเลือกที่จะได้รับประโยชน์จากการเคลื่อนย้ายการลงทุน ซึ่งโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) จะทำให้ไทยเป็นทางเลือกหนึ่งที่สำคัญของภูมิภาคในสายตานักลงทุน

ขณะเดียวกัน ไทยในฐานะประธานอาเซียนปีนี้ ได้ให้ความสำคัญที่จะร่วมกับอาเซียน จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เร่งขับเคลื่อนการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (หรืออาร์เซ็ป) ให้หาข้อสรุปได้ภายในปี 2562 เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมทางการค้าที่ดีขึ้น เพราะการเปิดตลาดการค้าสินค้า บริการ การลงทุน


ตลอดจนการลดอุปสรรคทางการค้า ปรับกฎระเบียบทางการค้าระหว่าง 16 ประเทศให้สอดคล้องกัน จะช่วยขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุน และเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับเครือข่ายการผลิตในภูมิภาคอาร์เซ็ป