รัฐบาลเสียงพิการ “บิ๊กตู่” ขี่หลังเสือนักเลือกตั้ง

คอลัมน์สามัญสำนึก
อิศรินทร์ หนูเมือง

แม้ว่ารัฐบาลจะรวบรวมเสียง ส.ส.จาก 19 พรรค ได้ 254 เสียง

ใกล้เคียงกับรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคลำดับ 5 ในปี 2518 ที่มีพรรคร่วมรัฐบาลถึง 23 พรรค มีอายุ 1 ปี

แต่เสียง ส.ส.ที่จงรักภักดีกับ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ว่าที่หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) มีเพียง 249 เสียง จาก 500 คน

ต่างจากเสียงที่ตั้งใจลงมติให้ “ชวน หลีกภัย” เป็นประธานรัฐสภา ที่ได้จาก 19 พรรค บวกกับเสียง “นิรนาม” ถึง 258 เสียง

เมื่อเข้าสู่โหมดการจัดตั้งรัฐบาล-แบ่งโควตารัฐมนตรี ปรากฏว่า ส.ส.จากทุกพรรค มีปฏิกิริยาที่จะแสดงฐานะเป็น “ฝ่ายค้าน” ในรัฐบาล

พรรคพลังประชารัฐ มี ส.ส.ขอปลดแอกเป็น “อิสระ” 19 คน ที่ “นายเอกราช ช่างเหลา” อ้างว่ามาจากล้านกว่าคะแนนในภาคอีสาน

เช่นเดียวกับกลุ่ม “ด้ามขวานไทย” ตัวแทน ส.ส.ภาคใต้  13 คน ที่แสดงตัวอิสระคานอำนาจกับแกนนำพรรค

กลุ่ม ส.ส.พรรคจิ๋ว 10 พรรค ที่พร้อมจะ “แยกทาง” หากท่อน้ำเลี้ยงไหลไปไม่ถึง

บวกกับ ส.ส.พรรคเล็ก ขนาดเสียง 2-3 เสียง ที่หน้าฉากบอก “ไม่ต่อรอง” แต่ลับหลังพร้อมสร้างราคา

ไม่นับรวมสารพัดก๊กในพรรคร่วมรัฐบาล ที่พร้อมออกฤทธิ์ ถ้ามีการโหวตวาระสำคัญ

รัฐบาลเสียงพิการจึงต้องเตรียมพร้อม “ซื้อบริการ” เสียง “นิรนาม” ไว้ตลอดเวลา

เพื่อไม่ให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 2/1 ล้มคว่ำตั้งแต่ด่านแรกในการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 วาระที่ 1 ช่วงปลายเดือนกันยายน และวาระที่ 2-3 ในช่วงต้นเดือนธันวาคม

ตามรอยรัฐบาลเสียงข้างน้อยเมื่อปี 2518 ที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ 72 เสียง เป็นแกนนำรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี ร่วมกับพรรคเกษตรสังคม 19 เสียง รวม 91 เสียง จาก 269 เสียง

แม้ว่าในเวลานั้นแกนนำพรรคประชาธิปัตย์จะรับประกันความเสี่ยง แจ้งให้ ม.ร.ว.เสนีย์มั่นใจว่าซื้อบริการเสริมจากเสียงนิรนามในสภาผู้แทนฯไว้แล้ว เพื่อให้ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง

แต่เมื่อถึงวันลงมติ “เพื่อขอความไว้วางใจ” การแถลงนโยบายรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์กลับได้เสียงเพียง 111 เสียง ขณะที่เสียงฝ่ายตรงข้าม “ไม่ไว้วางใจ” ถึง 152 เสียง

รัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์คว่ำคะมำหงายทั้งคณะด้วย “ไม้ตาย” ของรัฐธรรมนูญ 2517 ที่บัญญัติให้การแถลงนโยบายต้องได้รับเสียง “ไว้วางใจ” เป็นรัฐบาลเสียงพิการที่มีอายุรัฐบาลเพียง 1 เดือน

บทเรียนการเขียนรัฐธรรมนูญทุกฉบับต่อมา บัญญัติไว้แต่เพียงว่า “คณะรัฐมนตรีที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดินต้องแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อสภาโดยไม่มีการลงมติไว้วางใจ”

เมื่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นสู่สมัยที่ 2 ศึกษาบทเรียนอดีตผู้นำรัฐประหาร 3 คน ที่กลับสู่เก้าอี้ดับเบิลสมัย ด้วยการขี่หลังเสือนักเลือกตั้ง และการยึดอำนาจซ้ำ

นับตั้งแต่ยุคพระยาพหลพลพยุหเสนาที่ยึดอำนาจจากพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ฝ่าวิกฤตการเมืองต้องลาออก และได้รับการเสนอชื่อกลับเข้าสู่ตำแหน่งเป็นครั้งที่ 2

หรือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ที่อยู่ในตำแหน่งยาวนานที่สุด พ้นจากตำแหน่งด้วยการ “ลาออก” แล้วกลับมาด้วยการยึดอำนาจ เป็นนายกรัฐมนตรี สมัยที่ 2
รวมทั้งสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร ที่ผ่านกระบวนการเลือกตั้งและยึดอำนาจตัวเอง เป็นนายกรัฐมนตรี สมัยที่ 2

ครบเครื่องด้วยการศึกษาศิลปะการเมืองสไตล์ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี หรือ “เปรมโมเดล” ที่สั่งสมบารมีจากการผสาน-ผนึกอำนาจจากกองทัพ-การเมือง-ธุรกิจและมวลชน อยู่บนเก้าอี้นายกรัฐมนตรี 2 สมัย

หัวใจของการอยู่-การไปของรัฐบาล “ประยุทธ์” สมัยที่ 2 จึงขึ้นอยู่กับ “เสียงนิรนาม” ที่เจรจา-บอกซื้อไว้ล่วงหน้า เข้ามาเติมเต็มในรัฐบาลที่มี “เสียงพิการ”