บทเรียนครบรอบ 20 ปี วิกฤตเศรษฐกิจจะซ้ำรอยหรือไม่

คอลัมน์ ดุลยธรรม

โดย ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจฯ ม.รังสิต

หากเทียบวิกฤตการณ์เศรษฐกิจปี 2540 เทียบกับปัจจุบันปี 2562 วิกฤตการณ์เศรษฐกิจแบบปี 2540 จะไม่เกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ แต่มีความเสี่ยงมากขึ้นที่เศรษฐกิจไทยจะประสบปัญหาฐานะการคลัง และการเติบโตในระดับต่ำกว่าศักยภาพยาวนาน ภาวะล้มละลายอาจเกิดขึ้นได้ จากการดำเนินนโยบายแบบประชานิยมเกินขนาด ต่างจากปี 2540 ที่เป็นเรื่องของการลงทุนและการก่อหนี้เกินตัวของภาคเอกชน นอกจากนี้ กิจการต่าง ๆ และธุรกิจอุตสาหกรรมเผชิญกับภาวะที่ไม่สามารถปรับตัวให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีผลกระทบอย่างฉับพลันได้ ทำให้เกิดการปิดกิจการ ตามด้วยปัญหาการว่างงานเพิ่มขึ้น

ขณะนี้ประเทศไทยเกินดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัด 41-42 พันล้านดอลลาร์ มีทุนสำรองระหว่างประเทศ 2.15 แสนล้านดอลลาร์ มีหนี้สินต่างประเทศระยะสั้นไม่มาก ต่างจากช่วงก่อนปี 2540 ที่มีปัญหาการขาดดุลการค้าและขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และมีหนี้สินต่างประเทศระยะสั้นจำนวนมาก อัตราเงินเฟ้อก็สูง มีปัญหาฟองสบู่ แต่ปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานยังค่อนข้างต่ำ แต่มีแนวโน้มสูงขึ้นช่วงครึ่งปีหลังปี 2562

สัดส่วนหนี้สินต่อทุนของภาคธุรกิจแม้เพิ่มขึ้น แต่ยังคงเป็นการกู้เงินในประเทศ แต่เครือข่ายธุรกิจขนาดใหญ่ก่อหนี้จำนวนมาก เพื่อการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ที่จำเป็นต้องมีการประเมินความเสี่ยงต่อระบบการเงินโดยรวมด้วย

เมื่อเราเปลี่ยนมาใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวที่มีการจัดการ การกู้จากต่างประเทศและหนี้สินจะมีการทำประกันความเสี่ยง ในขณะที่ปี พ.ศ. 2561-2562 สัญญาณการลงทุนเกินตัวของภาคเอกชนมีในบางภาคเศรษฐกิจและบางพื้นที่เท่านั้น และการลงทุนเอกชนไม่ได้ร้อนแรงมากเหมือนก่อนปี พ.ศ. 2540 แต่การลงทุนภาครัฐเริ่มส่งสัญญาณลงทุนเกินตัว สะท้อนจากงบประมาณขาดดุลต่อเนื่องและก่อหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นมาก ไม่เป็นปัญหาหากโครงการลงทุนต่าง ๆ สามารถสร้างการเติบโตในระยะต่อไป

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงทางการเมือง วิกฤตรัฐธรรมนูญและระบบนิติรัฐ ความเหลื่อมล้ำ ความยากลำบากของเศรษฐกิจฐานราก และปัญหาฐานะทางการคลังจะทำให้วิกฤตเศรษฐกิจในอนาคต มีความแตกต่างและซับซ้อนกว่าวิกฤตปี 2540 ความเสี่ยงทางการเมืองนั้น หากเป็นเพียงภาวะไร้เสถียรภาพและรัฐบาลอายุสั้น รวมทั้งยังแก้ไขปัญหาผ่านกลไกรัฐสภาภายใต้ระบอบประชาธิปไตย โดยปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยยังพอประคับประคองไปได้ หากปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองเป็นผลจากการกระทำนอกกฎหมายหรือรัฐประหาร เศรษฐกิจไทยอาจจะรับมือไม่ไหว และนำไปสู่วิกฤตแน่นอน โดยเฉพาะจะกระทบต่อภาคการลงทุนอย่างรุนแรง

เศรษฐกิจไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533-2538 มีอัตราการขยายตัวโดยเฉลี่ยที่ร้อยละ 8.6 ขณะที่อัตราการขยายตัวในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาของรัฐบาล คสช. ต่ำกว่าร้อยละ 3 ประเทศไทยจึงมีปัญหาการเติบโตต่ำกว่าศักยภาพในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มากกว่าปัญหาเศรษฐกิจขยายอย่างร้อนแรง ช่วงก่อนวิกฤตการณ์ปี 2540 นั้น สัดส่วนของการลงทุนภายในประเทศต่อรายได้ประชาชาติพุ่งขึ้นไปแตะระดับ 41.4% จึงต้องอาศัยเงินกู้จากต่างประเทศเพื่อตอบสนองการเติบโตของการลงทุน ส่วนปัจจุบันสัดส่วนของการลงทุนต่อจีดีพีอยู่ที่ต่ำกว่า 25% สภาพคล่องภายในมีมากเพียงพอ ไม่มีความจำเป็นต้องกู้จากต่างประเทศ

มีข้อสังเกตและบทเรียนเกี่ยวกับวิกฤตปี 2540 เนื่องในโอกาสครบรอบ 22 ปี ดังนี้

1.ช่วงวิกฤตปี 2540 ไทยมีช่องว่างระหว่างระดับการออมและระดับการลงทุนสูง และการลงทุนเกินตัวทำให้ต้องอาศัยเงินออม (กู้เงิน) จากต่างประเทศ เอกชนลงทุนเกินตัว ส่งผลให้ราคาที่ดินและราคาหุ้นในประเทศสูงขึ้น ดึงดูดให้ภาคการเงินแข่งขันกันปล่อยกู้ การเปิดเสรีภาคการเงินทำให้สถาบันการเงินกู้เงินจากต่างประเทศ ที่มีต้นทุนต่ำมาปล่อยกู้ในประเทศ เกิดการลงทุนมากเกินไป

ปี พ.ศ. 2562 สัญญาณการลงทุนเกินตัวของภาคเอกชนมีในบางภาคเศรษฐกิจและบางพื้นที่เท่านั้น ไม่ได้ร้อนแรงมากเหมือนก่อนปี พ.ศ. 2540 แต่การลงทุนภาครัฐมีเริ่มส่งสัญญาณลงทุนเกินตัว สะท้อนจากงบประมาณขาดดุลต่อเนื่องและก่อหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นมาก ไม่เป็นปัญหาหากโครงการลงทุนต่าง ๆ สามารถสร้างการเติบโตในระยะต่อไป

2.การพึ่งพิงเงินทุนจากต่างประเทศในอัตราสูงไม่ใช่ปัญหา หากมีการบริหารจัดการที่ดี ไม่ให้มีสัดส่วนของเงินกู้ต่างประเทศระยะสั้นมากเกินไป เงินทุนที่ไหลเข้าก่อนช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปีพ.ศ. 2540 สองสามปีมีสัดส่วนของการลงทุนโดยตรงน้อย เมื่อเทียบกับเงินไหลเข้าในรูปของเงินกู้ และที่สำคัญ เงินกู้เหล่านี้กว่าครึ่งหนึ่งเป็นเงินกู้ระยะสั้น

3.ช่วงก่อนปี พ.ศ. 2540 มีการเปิดเสรีการเงินผ่านการเปิดเสรีวิเทศธนกิจ มีเม็ดเงินไหลเข้ามาในระบบสถาบันการเงินไทยจำนวนมาก ทำให้สถาบันการเงินในประเทศมีการขยายสินเชื่อในอัตราเร่ง คุณภาพสินเชื่อลดลง อัตราส่วนระหว่างการปล่อยสินเชื่อต่อปริมาณเงินฝากสูงขึ้นมาก ส่วนขณะนี้ สถานะทางการเงินของระบบสถาบันการเงินยังแข็งแกร่ง แม้หนี้เสียเพิ่มขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับต่ำ แต่ต้องปรับโครงสร้างครั้งใหญ่อันเป็นผลกระทบจากนวัตกรรเทคโนโลยีทางการเงิน การแข่งขันในภาคการเงินรุนแรงขึ้นจากการแข่งให้บริการโดยกลุ่ม nonbank

4.ในช่วงก่อนปี พ.ศ. 2540 การใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวด (ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย) ขณะที่ใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ พร้อมกับยังมีการเติบโตร้อนแรงอยู่ในภาคการลงทุน ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยในประเทศและต่างประเทศยิ่งสร้างแรงผลักดันให้กู้ยืมเงินจากต่างประเทศมากยิ่งขึ้น และดึงดูดเงินทุนไหลเข้ามากขึ้น เทียบกับขณะนี้ นโยบายการเงินและระบบอัตราแลกเปลี่ยนเป็นระบบที่ยืดหยุ่นลอยตัวตามกลไกตลาดมากขึ้น ทำให้ลดความเสี่ยงในเชิงระบบลงได้ สถาบันคุ้มครองเงินฝากก็มาทำหน้าที่แทน กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เงินบาทได้แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วจากการเคลื่อนย้ายเงินทุนระยะสั้นเก็งกำไร ทางการจึงควรออกมาตรการสกัดกั้นเงินทุนเก็งกำไรเหล่านี้ มิฉะนั้นจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคาต่อสินค้าส่งออกและภาคท่องเที่ยว

5.ช่วงก่อนวิกฤตการณ์เศรษฐกิจปี 2540 สภาพคล่องที่ผ่อนคลายและปริมาณเงินขยายตัวในระดับสูง ผสานเข้ากับความร้อนแรงของการลงทุนและการเก็งกำไร ทำให้ราคาที่ดินและหลักทรัพย์พุ่งสูงขึ้นกว่าปัจจัยพื้นฐานมาก เกิดปัญหาฟองสบู่ในภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะในตลาดหุ้นและภาคอสังหาริมทรัพย์ ส่วนในปัจจุบัน ราคาที่ดินปรับตัวสูงขึ้นมากในบางพื้นที่เท่านั้น เช่น เขตเศรษฐกิจ EEC หัวเมืองใหญ่ ยังไม่มีสัญญาณชัดนักในภาวะฟองสบู่ในระดับประเทศ นอกจากนี้ช่วงที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาตรการ LTV เพื่อสกัดความร้อนแรง การเก็งกำไรและฟองสบู่ในอสังหาฯแล้ว

6.ช่วงเศรษฐกิจฟองสบู่ก่อนปี พ.ศ. 2540 ทางการไทยไม่สามารถใช้มาตรการหรือนโยบายต่าง ๆ หยุดยั้งภาวะฟองสบู่และการขยายตัวอย่างร้อนแรงของอุปสงค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

7.ช่วงก่อนวิกฤตการณ์เศรษฐกิจปี 2540 มีการโจมตีและเก็งกำไรค่าเงินบาท

8.ก่อนวิกฤตปี 2540 ไทยใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ เมื่อใช้ในสภาวะที่ปล่อยให้มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างเสรี ธนาคารแห่งประเทศไทยจะไม่สามารถใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวดจำกัดอุปสงค์รวมได้อย่างมีประสิทธิผล เพราะเมื่ออัตราดอกเบี้ยภายในประเทศสูง ผู้ลงทุนจะหันไปกู้เงินจากต่างประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่า

9.เศรษฐกิจไทยประสบปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในช่วงปลายทศวรรษที่ 2530 ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจ

10.การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยโดยหลักใหญ่แล้วเกิดขึ้นจากการใช้ปัจจัยการผลิตมากขึ้น มิใช่จากการยกระดับผลิตภาพและเทคนิคการผลิต