NDID เปลี่ยนสมรภูมิแบงก์ จุดพลุแย่ง “ลูกค้าย้ายค่าย” รอบใหม่

หลังจาก 2 ปีที่ผ่านมา กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย ได้เปิดตัว “เนชั่นแนลอีเพย์เมนต์” ระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ จนนำมาสู่การร่วมมือกับสถาบันการเงินต่าง ๆ ที่เปิดให้บริการ “พร้อมเพย์” 

การโอนเงิน จ่ายบิลผ่านมือถือที่ไม่เสียค่าธรรมเนียม จนกลายเป็นจุดเปลี่ยนของอุตสาหกรรมการเงินครั้งสำคัญที่ทุกสถาบันการเงินลุกขึ้นมายกเลิกค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมผ่านมือถือ ทำให้ลูกค้าแบงก์ย้ายเข้ามาอยู่ในมือถือกันอย่างรวดเร็ว

“NDID” จุดเริ่มต้นสู่ ศก.ดิจิทัล

และล่าสุดใน “Bangkok FinTech Fair 2019” เมื่อ 18-19 ก.ค.ที่ผ่านมา ณ ศูนย์การเรียนรู้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หนึ่งในไฮไลต์สำคัญ คือ การเปิดตัว “ระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล” โดย บริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัด (NDID) ที่ลงขันกันระหว่างภาคธุรกิจการเงินและภาครัฐ จัดตั้งบริษัทเป็นตัวกลางเชื่อมระบบการยืนยันตัวตนดิจิทัลข้ามหน่วยงาน สร้างจุดเปลี่ยนอีกครั้งของอุตสาหกรรมการเงิน นำไปสู่การให้บริการดิจิทัลทั้งการเปิดบัญชีเงินฝาก การขอสินเชื่อโดยที่ไม่ต้องเดินทางไปสาขา

นางสาวสุธีรา ศรีไพบูลย์ รักษาการประธาน บริษัท NDID กล่าวว่า NDID จะสร้างประโยชน์ในทุกมิติได้อย่างกว้างขวาง และเข้าถึงให้กับทั้งผู้ประกอบธุรกิจและผู้บริโภค สำหรับภาคธุรกิจจะช่วยลดขั้นตอน ลดต้นทุนที่ต้องให้ลูกค้าหรือผู้ขอใช้บริการมาแสดงตน ทำให้สะดวก รวดเร็ว และประหยัดเวลา

ขณะเดียวกัน NDID ยังช่วยยกระดับกระบวนการทำความรู้จักลูกค้าผ่าน e-KYC (electronic know your customer) ผู้บริโภคจะสามารถเข้าถึงบริการที่หลากหลายและได้รับความสะดวกมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นบริการภาคการเงินและการลงทุน ประกันภัย สาธารณสุข โทรคมนาคม และการศึกษา เป็นต้น

“NDID จะเริ่มใช้กับบริการเปิดบัญชีเงินฝากที่มีการพิสูจน์และยืนยันตัวตนลูกค้าข้ามธนาคาร ปัจจุบันธนาคารต่าง ๆ อยู่ระหว่างพัฒนาบริการ ต้นไตรมาส 4/2562 จะทยอยเปิดให้บริการ นอกจากนี้ ในอนาคต NDID จะขยายการพิสูจน์ยืนยันตัวตนจากบุคคลธรรมดาไปสู่นิติบุคคลและชาวต่างชาติต่อไป” 

สร้างระบบนิเวศการเงินใหม่

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า national digital ID เป็นกลไกพื้นฐานสำคัญของธุรกรรมทางการเงินดิจิทัล เพราะผู้ให้บริการต้องแน่ใจถึงตัวตนของผู้ใช้บริการ ที่ผ่านมาการเปิดบัญชีใหม่ใช้เวลามาก มีขั้นตอนที่ใช้เอกสาร หากจะให้เกิดการแข่งขันและนำไปสู่การลดต้นทุนแก่ประชาชน การทำธุรกรรมต้องรวดเร็วและมั่นใจได้ในระบบรักษาความปลอดภัย

“national digital ID จะเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการที่จะต่อยอดบริการด้านดิจิทัลต่าง ๆ ต่อไป ไม่เฉพาะบริการทางการเงิน แต่รวมถึงด้านการศึกษา สาธารณสุข เป็นต้น ถือเป็นการสร้างระบบนิเวศใหม่ด้านระบบการเงินของประเทศ” นายวิรไทกล่าว

ขณะนี้มีสถาบันการเงิน 10 แห่ง กำลังทดสอบระบบให้บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-KYC) อยู่ในแซนด์บอกซ์ของ ธปท. สิ้นปีนี้จะเปิดให้บริการได้

ผู้ว่าการ ธปท.ย้ำว่า ในแง่การให้บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตน ผู้ให้บริการต้องปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฉบับใหม่ที่บังคับใช้แล้ว เพื่อรักษาความลับลูกค้า ส่วน ธปท.จะให้ความสำคัญในการตรวจสอบสถาบันการเงิน

แบงก์แข่งชู “e-KYC” เลิกพึ่งสาขา

ขณะที่ในงานสถาบันการเงินต่าง ๆ ได้นำเทคโนโลยี e-KYC มาเปิดตัวกันอย่างคึกคัก อาทิ ธนาคารกสิกรไทยนำเสนอนวัตกรรมบริการทางการเงินและไลฟ์สไตล์แห่งอนาคต อาทิ สาธิตบริการที่เชื่อมต่อระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลกับ NDID ให้ลูกค้าทำธุรกรรมได้โดยไม่ต้องมาที่สาขา, สาธิตนวัตกรรมการชำระเงินด้วย biometric technology ช่วยให้สามารถโอนเงินไปยังผู้รับปลายทางได้โดยใช้เพียงใบหน้าของผู้รับเงิน และบริการตู้จำหน่ายสินค้าที่ลูกค้าสามารถชำระเงินด้วยใบหน้า เป็นต้น

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา นำเทคโนโลยีเปรียบเทียบใบหน้า หรือ “facial recognition e-KYC” มาใช้ในการให้บริการเปิดบัญชีเงินฝาก ธนาคารไทยพาณิชย์นำเสนอเทคโนโลยีไบโอเมตริกยืนยันตัวตนด้วยการสแกนเส้นเลือดบนฝ่ามือ หรือ “palm vein” ส่วนธนาคารธนชาตนำเสนอผลิตภัณฑ์ดิจิทัลทางการเงิน “สินเชื่อบุคคลดิจิทัล T-FIN” ฯลฯ

กรุงศรีฯวางแผนปูพรม

นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกรุงศรี คอนซูมเมอร์ และผู้บริหารสายงานดิจิทัลแบงกิ้งและนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า แบงก์ได้จัดเตรียมระบบ e-KYC ไว้พร้อมให้บริการลูกค้าเป็นการทั่วไปแล้ว รอเพียง ธปท.อนุญาตให้ออกจากแซนด์บอกซ์ ไตรมาส 4 ปีนี้ จากนั้นจะเริ่มจากบริการเปิดบัญชีเงินฝากของบุคคลรายย่อย เฟสต่อไปจะเป็นบริการ “สินเชื่อดิจิทัล” เริ่มจากสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต กลุ่มลูกค้านิติบุคคล และเฟสต่อ ๆ ไปมีบริการในส่วนของธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจประกัน เป็นต้น

“ระบบที่ทดสอบอยู่ในแซนด์บอกซ์ขณะนี้เป็นการร่วมมือกับ NDID ในการพิสูจน์ตัวตน ซึ่งจะเริ่มใช้การเปิดบัญชีธนาคารก่อน วิธีการคือระบบจะสามารถดึงข้อมูลลูกค้าข้ามธนาคารได้ ถ้าแบงก์ชาติกดปุ่มเมื่อไหร่เราก็พร้อม เพราะระบบหลังบ้านของแบงก์พร้อมกันหมดแล้ว” นายฐากรกล่าวและว่า

การใช้งานอธิบายง่าย ๆ คือ หากลูกค้าของธนาคารหนึ่งอยากจะเปิดบัญชีกับอีกธนาคาร ก็ต้องโหลดแอปพลิเคชั่นของธนาคารที่จะเปิดบัญชี กรอกข้อมูลบัตรประชาชน ระบบจะวิ่งไปตรวจสอบกับกรมการปกครอง ขณะที่แอปจะถามว่าลูกค้าเคยมีข้อมูลอยู่กับธนาคารใดก็จะตรวจสอบข้อมูลไปที่ธนาคารดังกล่าว ผ่าน NDID

“บริการไม่ตอบโจทย์ลูกค้าย้ายค่าย”

นายฐากรกล่าวอีกว่า ระบบ e-KYC จะทำให้ลูกค้ามีทางเลือก สามารถเปิดบัญชีได้แบบไม่ต้องเดินไปที่สาขาธนาคาร ไม่ว่าเวลาใด หรืออยู่ที่ไหนในโลก ซึ่งในส่วนของกรุงศรีเชื่อว่าน่าจะทำให้ลูกค้ามีการเปิดบัญชีของธนาคารเพิ่มขึ้น 10-15% ในช่วงปีแรก จากปัจจุบันมียอดเปิดบัญชีเฉลี่ยปีละ 8 แสนบัญชี

“หลังจากนี้ สาขาธนาคารที่มีอยู่ก็อาจจะไม่เพิ่มและปรับย้ายไปอยู่ในจุดที่มีผู้ใช้บริการมาก หรือเป็นไปตามกลุ่มลูกค้าในอนาคต ปัจจุบันเรามี 600 สาขา ยังไม่มีนโยบายลดสาขาลง”

นายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ME by TMB กล่าวว่า สิ่งที่ ME by TMB ยึดมาตลอดก็คือ ดิจิทัลแบงก์ไม่จำเป็นต้องพึ่งสาขา แต่ปัจจุบันยังจำเป็นต้องยืนยันตัวตนผ่านสาขาอยู่ ซึ่งระบบ e-KYC จึงออกมาเพื่อตอบโจทย์สิ่งเหล่านี้

“การเปลี่ยนแปลงหลังจากนี้ หัวใจสำคัญคือจะทำให้อำนาจกลับมาอยู่ในมือลูกค้ามากขึ้น เลือกแบงก์ได้ง่ายขึ้น ใช้แบงก์นี้แล้วไม่ตอบโจทย์ ก็เปลี่ยนแบงก์ได้ง่ายขึ้น ดังนั้น แบงก์ต้องแข่งขันกันทั้งแง่ผลิตภัณฑ์ การบริการลูกค้า ความเสถียรของระบบ ถ้าลูกค้ามีปัญหาก็ต้องแก้ไขได้เร็ว” นายเบญจรงค์กล่าว