ใครแหกกฎ…ยกมือขึ้น

แฟ้มภาพ

คอลัมน์ สามัญสำนึก

โดย พิเชษฐ์ ณ นคร

ไม่น่าเชื่อว่านโยบายแก้ปัญหาการล่วงล้ำลำน้ำที่กรมเจ้าท่าประกาศขึงขังว่า จะลงดาบผู้บุกรุกปลูกสร้างอาคารและสิ่งก่อสร้าง รวมทั้งแพปลา ท่าเรือ ฯลฯ ที่ไม่รายงานการเป็นเจ้าของหรือเป็นผู้ครอบครอง ทั้งกลุ่มที่ไม่ได้รับอนุญาต หรือได้รับอนุญาตให้ก่อสร้าง แต่ทำผิดเงื่อนไข หลังเส้นตายวันที่ 22 มิ.ย. 2560 จะก่อให้เกิดกระแสต่อต้านรุนแรง

ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องใช้อำนาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557 เบรกเกมชั่วคราว ด้วยการออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 32/2560 ขยายระยะเวลารายงานต่อกรมเจ้าท่าถึง 1 ก.ย. 2560

สาระสำคัญของคำสั่ง 32/2560 เป็นการกำหนดยกเว้นโทษอาญาจำคุก และโทษปรับทางการปกครอง ให้กับเจ้าของหรือผู้ครอบครองสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ ที่รายงานต่อกรมเจ้าท่า ภายใน 1 ก.ย. 2560 ขณะเดียวกันก็ให้ยื่นเอกสารหรือหลักฐานแสดงการครอบครอง หรือได้รับอนุญาตปลูกสร้างอาคาร ประกอบการพิจารณามีคำสั่งอนุญาต หรือไม่อนุญาต ภายใน 180 วัน

จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณา โดยกรมเจ้าท่าจะนำช่วงเวลาการปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำมาประกอบการพิจารณา ก่อนชี้ขาดว่าจะอนุญาต หรือไม่อนุญาต

เกณฑ์ในการพิจารณา คือ 1.สิ่งปลูกสร้างล่วงล้ำลำน้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี สมุทรปราการ หากปลูกสร้างก่อน 17 ก.พ. 2515 จะขึ้นทะเบียนสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ เพื่อควบคุมให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย

2.จะอนุญาตหรือไม่อนุญาต โดยแยกเป็นกลุ่ม ๆ แล้วพิจารณาเป็นรายกรณี ดังต่อไปนี้

2.1 สิ่งล่วงล้ำลำน้ำในแม่น้ำใน กทม. นนทบุรี สมุทรปราการ ปลูกสร้างตั้งแต่ 1 ก.ย. 2456 ถึง 17 ก.พ. 2515

2.2 สิ่งล่วงล้ำลำน้ำทั่วประเทศ ที่ปลูกสร้างตั้งแต่ 18 ก.พ. 2515 ถึง 23 ส.ค. 2537

2.3 สิ่งล่วงล้ำลำน้ำทั่วประเทศ ที่ปลูกสร้างตั้งแต่ 24 ส.ค. 2537 ถึง 22 ก.พ. 2560

ขณะเดียวกันก็ต้องอยู่ในเงื่อนไข 1.ต้องไม่มีลักษณะหรือสภาพเป็นอันตรายต่อการเดินเรือ หรือทำให้ทางน้ำเปลี่ยนแปลง หรือกระทบสิ่งแวดล้อม 2.การอนุญาตให้กระทำได้เพียงเท่าที่จำเป็น และสมควรตามวัตถุประสงค์ 3.ต้องไม่ขัดต่อกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร กฎหมายว่าด้วยผังเมือง หรือกฎหมายว่าด้วยการประมง

โดยสิ่งล่วงล้ำลำน้ำที่ปลูกสร้างตั้งแต่ 24 ส.ค. 2537 ถึง 22 ก.พ. 2560 มีหลักเกณฑ์เพิ่มเติม กำหนดประเภทที่จะอนุญาตได้ ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 63 รวม 17 ประเภท คือ 1.ท่าเทียบเรือ 2.สะพานปรับระดับและโป๊ะเทียบเรือ 3.สะพานข้ามแม่น้ำ-ข้ามคลอง 4.ท่อหรือสายเคเบิล 5.เขื่อนกันน้ำเซาะ 6.คานเรือ

7.โรงสูบน้ำ 8.กระชังเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 9.ท่าเทียบเรือทางลาดในแม่น้ำโขง 10.ปะการังเทียม 11.ท่อลอด 12.แพสูบน้ำ 13.เขื่อนกันทรายกันคลื่น 14.ฝายน้ำล้น 15.สะพานทางเดิน 16.อาคารสิ่งปลูกสร้างสำหรับวิถีชีวิตชุมชน การประกอบอาชีพเกษตรและศาสนสถาน 17.สิ่งปลูกสร้างส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ ที่สร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ของทางราชการ

ล่าสุด อธิบดีกรมเจ้าท่า นายศรศักดิ์ แสนสมบัติ ระบุว่า มีผู้นำเอกสารหลักฐานการแจ้งความเป็นเจ้าของ หรือผู้ครอบครองสิ่งปลูกสร้างล่วงล้ำลำน้ำ รวมทั้งสิ้น 2-3 หมื่นราย

คาดเดาไม่ได้จริง ๆ ว่า ใกล้เคียงกับข้อมูลจริงที่กรมเจ้าท่ามีอยู่ในมือหรือไม่ แต่ที่แน่ ๆ สิ่งปลูกสร้างล่วงล้ำลำน้ำบางประเภทไม่อยู่ในข่ายจะอนุญาตให้ได้ โดยเฉพาะโรงแรม รีสอร์ต ร้านค้า ร้านอาหาร ฯลฯ คงไม่มีเจ้าของรายไหนอยากแสดงตัว

เพราะต่างร้อน ๆ หนาว ๆ กับข้อมูลที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ระบุว่า มีข้อมูลสิ่งปลูกสร้างล่วงล้ำลำน้ำผิดกฎหมายในมือ 2,600 แห่ง แยกเป็น กทม. 332 แห่ง ภาคกลาง 1,240 แห่ง ภาคตะวันออก 621 แห่ง ภาคใต้ 228 แห่ง ภาคเหนือ 182 แห่ง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 57 แห่ง

งานนี้จึงมีทั้งคนที่รอลุ้นว่าจะได้รับอนุญาต กับที่ไม่ขอแสดงตัว…ไม่ยอมยกมือขึ้น