8 ปีที่รอคอยสายสีน้ำเงิน รถไฟฟ้ามุดเจ้าพระยาสายแรก

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย ประเสริฐ จารึก

ในที่สุด คนฝั่งธนบุรีก็ได้นั่งรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายใหม่สักที หลังรอมา 8 ปี

งานนี้ “BEM-บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ” ของ เจ้าสัวปลิว ตรีวิศวเวทย์ ผู้รับสัมปทานเดินรถ ผนึกกำลัง “ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ” ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เจ้าของโครงการ

เร่งเปิดบริการก่อนกำหนด ให้ทดลองนั่งฟรีช่วง “หัวลำโพง-หลักสอง” นำร่องช่วงแรกถึง “สถานีท่าพระ” วันที่ 29 ก.ค.-28 ก.ย.นี้ ตั้งแต่ 10.00-16.00 น.

แต่อยู่ช่วงทดลองเปิด การเดินรถยังไม่ฉลุยเสียทีเดียว ต้องเปลี่ยนขบวนรถที่สถานีหัวลำโพง

ส่วนค่าโดยสาร หากเข้า-ออกที่สถานีหัวลำโพง ต้องเสีย 16 บาท เพราะยังอยู่ในระบบเดิม หากนั่ง “สถานีวัดมังกร-ท่าพระ” ฟรีตลอดสาย

ตามสัญญา BEM จะเปิดถึงปลายทาง “สถานีหลักสอง” วันที่ 29 ก.ย. เก็บค่าโดยสาร 16-42 บาท

เส้นทางนี้มี 4 สถานีใต้ดินที่สวยที่สุดเป็นไฮไลต์ ให้คนใช้บริการได้ปักหมุดแชะภาพ ไม่ว่าสถานีวัดมังกร สามยอด สนามไชย และอิสรภาพ

ส่วนช่วง “เตาปูน-ท่าพระ” ที่เชื่อมกับสายสีน้ำเงินเดิมมาบรรจบกันที่สถานีท่าพระ ล่าสุด BEM แย้ม ธ.ค.นี้จะทดลองนั่งฟรีสถานีเตาปูน-สิรินธร และเปิดครบลูปวันที่ 31 มี.ค. 2563 เชื่อมการเดินทาง 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

โครงสร้างทางวิ่งทั้งยกระดับและอุโมงค์ใต้ดินวิ่งลอดแม่น้ำเจ้าพระยาสายแรกของประเทศไทย

โดย “รฟม.” ทุ่มกว่า 80,000 ล้านบาทก่อสร้าง ใช้เวลา 8 ปีกว่าจะเสร็จ นับตั้งแต่ตอกเข็มปี 2554 แต่ด้วยปัญหายุ่บยั่บ ทำให้ไทม์ไลน์การเปิดใช้ขยับจากปี 2559 เป็นปี 2562

หลังผู้รับเหมาพร้อมใจขอขยายเวลาทั้ง 5 สัญญา จากสารพัดเหตุ ทั้งส่งมอบพื้นที่ช้า น้ำท่วม กีฬาสี รัฐประหาร

แต่ที่ทำให้ติดหล่มนับปี การคัดเลือกเอกชนสัมปทานเดินรถ จนรัฐบาล คสช.ต้องงัด ม.44 สางปัญหาถึง 2 ครั้ง กว่าจะปิดดีลเซ็นสัญญา BEM เมื่อปี 2560 เลยทำให้งานระบบออกสตาร์ตช้า

อีกสายจะเปิดวันที่ 9 ส.ค.นี้ สีเขียวส่วนต่อขยายหมอชิต-คูคต มีบีทีเอสเป็นผู้เดินรถ จะให้ทดลองนั่งฟรี 1 สถานีจากหมอชิตยิงยาวเซ็นทรัลลาดพร้าว แบ่งเบารถติดห้าแยกลาดพร้าว

หลังได้นั่งรถไฟฟ้าสายใหม่ คิวต่อไปคนกรุงรอลุ้นค่าตั๋วราคาถูก หนึ่งนโยบายสุดจี๊ดจาก “ประชาธิปัตย์” พรรคร่วมรัฐบาลตู่ 2

ดูเหมือนนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล จะกลายเป็นนโยบายเด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว

การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400-425 บาทต่อวัน แรงงานยกมือเชียร์ แต่ธุรกิจยกมือปาดเหงื่อ เพราะแบกต้นทุนอาน

การลดค่าโดยสารระบบขนส่งสาธารณะ รถเมล์ รถไฟ รถไฟฟ้า ก็สะเทือนไปถึงงบประมาณของประเทศ

แต่เป็นสิ่งที่ประชาชนคาดหวังไม่น้อย โดยเฉพาะลดค่ารถไฟฟ้าเหลือ 15-20-30 บาทตลอดสาย

เส้นทางของรัฐสีม่วง-แอร์พอร์ตลิงก์ไม่น่าห่วง แต่รอลุ้นเส้นทางสัมปทานของเจ้าสัวบีทีเอส และสายสีน้ำเงิน ที่ต้องเป็นผู้สนับสนุนหลักให้รัฐ

รอดูฝีมือบิ๊กคมนาคมคนใหม่ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” จะหาช่องทางเดินหน้าให้เป็นจริงได้อย่างไร

ดูแล้วรัฐอาจจะต้องมีข้อเสนอที่วิน-วินทั้ง 2 ฝ่าย จึงจะทำให้สิ่งที่ยาก ง่ายขึ้น

ขณะที่ “คีรี กาญจนพาสน์” เจ้าพ่อบีทีเอสออกมาย้ำหมุด “ยินดีสนับสนุนแนวคิดนี้ แต่ต้องมาคุยรายละเอียดกัน”

จากนโยบายลดค่ารถไฟฟ้า ทำให้นึกย้อนไปถึง “กรณีโทลล์เวย์” ที่รัฐไม่ให้ขึ้นค่าผ่านทางตามสัญญา และให้ลดราคาเหลือ 20 บาทตลอดสาย

ทำให้ผู้รับสัมปทานขอ “เวลา” ชดเชยแทน “เงิน” โดยได้ขยายสัญญา 13 ปี ไปสิ้นสุดปี 2577 และปรับค่าผ่านทางได้ทุก 5 ปี ในอัตราคงที่ 15 บาท จะถึงคิวปรับวันที่ 22 ธ.ค.นี้ ทำให้ค่าผ่านทางตลอดเส้นทาง รถ 4 ล้อ จาก 100 บาท เป็น 115 บาท

นับจากปี 2532 ถึงปัจจุบันผ่านมา 30 ปี โทลล์เวย์ยังมีระยะทางเท่าเดิม และมีรถใช้บริการวันละ 80,000 เที่ยวคัน

ทุกวันนี้กลายเป็นเส้นทางที่ “ยิ่งเก่า ยิ่งแพง” ไม่มีใครกล้าเข้าไปแตะ

ต้องวัดใจ 2 เจ้าสัวรถไฟฟ้า จะช่วยรัฐนาวาบิ๊กตู่ 2 บรรเทาค่าครองชีพคนกรุงได้อย่างไร