แรงงานมนุษย์สูญพันธุ์

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย สาโรจน์ มณีรัตน์

 

ช่วงนี้ไปไหนมาไหนมีแต่คนบ่นไม่กี่เรื่อง ?

หนึ่ง เศรษฐกิจ

สอง เทคโนโลยีดิสรัปชั่น

สาม AI จะเข้ามาแทนแรงงานมนุษย์เมื่อไหร่ ?

ทั้ง 3 เรื่องว่าไปแล้วคล้าย ๆ กับจะกลายเป็นเรื่องเดียวกัน เพียงแต่เรื่องของสภาพเศรษฐกิจอาจเกี่ยวข้องกับ “ฝีมือ” ของผู้ปกครองบ้านเมืองในประเทศนั้น ๆ อยู่เหมือนกัน เพราะหลายประเทศในยุโรป หรือหลายประเทศในเอเชีย สภาพเศรษฐกิจเขาไม่ได้ย่ำแย่ไปเสียทีเดียว

ตรงข้ามกลับดีวันดีคืน

เพราะเขามองเห็นจุดแข็ง และจุดอ่อนในการพัฒนาประเทศของตน ที่สำคัญ เสถียรภาพในการบริหารบ้านเมืองของเขามีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จากรัฐบาลหนึ่งไปอีกรัฐบาลหนึ่ง เพราะเขามองประเทศชาติ และประชาชนเป็นสำคัญ

ตรงกันข้ามกับบ้านเรา

ถามว่าเป็นอย่างไร ?

เด็กอนุบาลคงตอบเรื่องนี้ได้ ไม่ต้องไปถามใครให้อายหรอก แต่สำหรับเรื่องเทคโนโลยีดิสรัปชั่นต้องยอมรับว่า โลกทั้งใบกำลังถูกสั่นคลอนด้วยเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ซึ่งใครจะเชื่อล่ะว่า เรื่องดังกล่าวกำลังแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นเชื้อโรคร้ายที่ลามเข้าสู่ใจกลางธุรกิจของทุกมุมโลก

ใครตั้งรับไม่ทัน…มีโอกาสเจ๊งทันที

ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่ทุก ๆ ธุรกิจต่างพยายามตั้งรับ และแก้ปัญหาเรื่องเทคโนโลยีดิสรัปชั่นกันอย่างเอาใจใส่ เพราะเขามองเห็นแล้วว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก และเทรนด์ของโลกกำลังเดินไปในแนวทางนี้จริง ๆ

ดังนั้น หนทางเดียวที่จะทำให้ธุรกิจอยู่รอดปลอดภัย คือ ต้องลดขนาดองค์กรให้เล็กลง แต่เพิ่มประสิทธิภาพของคนในองค์กรให้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็เลิกลงทุนในสิ่งที่ไม่จำเป็น รวมทั้งการเลิกขยายสาขา ขยายโรงงาน และขยายการลงทุนในประเทศต่าง ๆ ด้วยการหันมาลงทุนในเรื่องของดิจิทัลแพลตฟอร์มแทน

เพราะเรื่องนี้สำคัญกว่า

เพราะระบบการซื้อขายในโลกอนาคตไม่ได้อยู่ที่หน้าร้านเพียงอย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว หากโลกของการซื้อขายสินค้าทั้งระบบต่างเข้าไปอยู่ในสมาร์ทโฟน และอากาศทั้งสิ้น ดังนั้น เราจะทำอย่างไรที่จะให้โลกของการซื้อขายของคนสมัยใหม่เข้ามาเป็นตัวเลขรายได้ในช่องทางใหม่

ขณะที่ช่องทางหลักคงยังทำมาหากินอยู่

สิ่งเหล่านี้คือการปรับตัวเพื่อเข้าไปหากลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการเฉพาะ ไม่ใช่ใครไม่รู้ที่จะมาซื้อของของเรา ผลเช่นนี้จึงทำให้เรื่องของการเก็บฐานข้อมูลของลูกค้ามีความสำคัญขึ้นมา ซึ่งเมื่อก่อนเราอาจรู้เพียงคร่าว ๆ ว่า กลุ่มลูกค้าของเราอายุเท่าไหร่ เพศชาย หรือหญิง

หรืออาจมีข้อมูลอย่างอื่นประกอบด้วย แต่ที่สำคัญ คือ คนเก็บข้อมูลจะมาจากน้อง ๆ นักศึกษาตามมหา’ลัยต่าง ๆ ที่ใช้เวลาว่างมารับจ็อบในการเก็บข้อมูล เพราะฉะนั้น จะให้ข้อมูลถูกต้อง 100% คงเป็นเรื่องยาก เพราะขึ้นอยู่กับคนเก็บข้อมูลแต่ละคนด้วยว่า เขาทุ่มเทหรือไม่

ขยัน หรือขี้เกียจ

แต่เดี๋ยวนี้ไม่จำเป็นต้องพึ่งน้อง ๆ นักศึกษาเหล่านั้นอีกต่อไปแล้ว เพราะเขาใช้ “data analytic” ที่ถูกสร้างขึ้นจาก “AI” ด้วยการกรอกข้อมูลผ่านแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ ที่เขาสร้างขึ้นเพื่อให้กลุ่มลูกค้าเฉพาะเข้ามากรอก เพียงเพื่อแลกกับสติ๊กเกอร์ไลน์ฟรี

ส่วนลดสำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคที่เขาชื่นชอบรวมไปถึงการทำธุรกรรมต่าง ๆ บนโลกออนไลน์

เท่านั้นเราจะได้ข้อมูลของลูกค้าครบทุกด้าน ทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับชื่อ, นามสกุล, เพศชายหรือหญิง, อายุ, ทำงานอะไร, เงินเดือนเท่าไหร่ และเขามีรสนิยมในการอุปโภคบริโภคสินค้าอย่างไรบ้าง

ที่สำคัญ ยังมีความเออเรอร์ค่อนข้างต่ำอีกด้วย

ฉะนั้น จึงไม่แปลกใจเลยว่าเรื่องของเทคโนโลยีดิสรัปชั่น และ AI จะกลายเป็นเรื่องเดียวกันอย่างแยกไม่ออก และทำท่าว่าเรื่องของ AI กำลังเป็นข้อกังวลสำหรับแรงงานมนุษย์ ที่ต่างรู้สึกว่าอีกไม่นานคงเข้ามาทดแทนกำลังแรงงานมีชีวิตเป็นแน่

แม้เรื่องนี้จะมีการทำวิจัยกันมากมายทั้งในฝั่งตะวันตก และฝั่งตะวันออก เพื่อหาข้อสรุปว่า…AI จะเข้ามาทดแทนแรงงานมนุษย์เมื่อไหร่ ? และมีอาชีพไหนบ้างที่หลุดบ่วงกรรมจาก AI ครั้งนี้ ?

บางสำนักบอกว่าอีก 30 ปี AI จะเข้ามาทดแทนแรงงานมนุษย์แบบเบ็ดเสร็จ ขณะที่อีกบางสำนักบอกว่า น่าจะอีกประมาณ 50 ปี จะไม่เหลือแรงงานมมุษย์อีกเลย ซึ่งผมดูจากข้อมูลแล้ว น่าเป็นไปได้ทั้งสิ้น โดยเฉพาะอาชีพที่เกี่ยวกับการใช้ทักษะพื้นฐานทั้งระบบ

แต่สำหรับอาชีพที่ใช้ “ความคิดสร้างสรรค์” เฉพาะทาง และเฉพาะตัว เช่น ทักษะทางด้านดิจิทัล, การวิเคราะห์เชิงปริมาณ, ทักษะทางสถิติ และการบริหาร การจัดการบุคคล จะเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่อยู่รอด ขณะเดียวกันจะมีอาชีพใหม่ ๆเกิดขึ้น เช่น ที่ปรึกษาด้านปรัชญา, นักออกแบบอาชีพ, นักออกแบบเวลาว่าง และอื่น ๆ จะปรากฏให้เห็นในอีกไม่นานต่อจากนี้

ลองจับตาดูกันนะครับว่า สิ่งที่ผมกล่าวมาจะเป็นจริง ดั่งที่เล่าให้ฟังหรือไม่

แต่ที่แน่ ๆ 30-50 ปี ผมคงรอไม่ไหวแล้ว

ใครที่รอไหวก็ช่วยเล่าให้คนอื่นฟังต่อด้วยแล้วกันว่า…ครั้งหนึ่งผมเคยเขียนบทความเรื่องนี้ไว้ และปรากฏจริงตามดั่งที่กล่าวมา (ฮา)