ความซบเซา ทางเศรษฐกิจและการเมืองโลก

คอลัมน์ คนเดินตรอก
โดย ดร.วีรพงษ์ รามางกูร

ความสับสนวุ่นวายในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ เช่น การจับคู่ชกระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน อเมริกากับเกาหลีเหนือ จีนกับญี่ปุ่น ญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ เกาหลีใต้กับเกาหลีเหนือ รวมทั้งความขัดแย้งถาวรในตะวันออกกลางระหว่างชาติอาหรับกับอิสราเอลและสหรัฐอเมริกากับอิหร่าน

ความวุ่นวายสับสนจะบรรเทาเบาบางลง ถ้าเศรษฐกิจของชาติต่าง ๆ อยู่ในช่วงขาขึ้นของวัฏจักรเศรษฐกิจโลก การเจรจาประนีประนอมในเรื่องต่าง ๆ ก็จะมีหนทางเป็นไปได้มาก

แต่ในยามเศรษฐกิจของโลกอยู่ในช่วงขาลง ตามวัฏจักรความซบเซาทางเศรษฐกิจ แม้ว่าการจ้างงานเพิ่มขึ้น การว่างงานลดลง แต่ขณะเดียวกันปัญหาหนี้สินเพิ่มขึ้น เพราะประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างอเมริกา ผลิตสินค้าและบริการต่ำกว่าการบริโภคและการลงทุน ทั้งของภาคครัวเรือนและภาครัฐบาล การเงินการคลังของสหรัฐจึงอยู่ได้ด้วยการก่อหนี้ให้กับประเทศ ด้วยการออกพันธบัตรของรัฐบาลโดยกระทรวงการคลังและการก่อหนี้ของธนาคารกลาง โดยการเพิ่มปริมาณเงินแล้วอัดฉีดเข้าสู่ระบบในรูปการเพิ่มธนบัตรและการเพิ่มยอดหนี้ในบัญชีของธนาคารกลางเอง

ในช่วงเศรษฐกิจขาลง ตัวเลขอัตราส่วนต่างของรายได้ประชาชาติหรือผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ หรือ GNP ในกรณีของสหรัฐอเมริกาหรือ GDP ในกรณีของประเทศกำลังพัฒนา ตัวเลขต่าง ๆ เหล่านี้ก็จะสร้างความกดดันทางการเมืองในประเทศและความกดดันจากเจ้าหนี้

เช่น ธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF ให้ปรับปรุงแก้ไขในตัวเลขอัตราส่วนต่าง ๆ เช่น ยอดหนี้สาธารณะต่อรายได้ประชาชาติ หรือภาระการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยกับเจ้าหนี้ต่างประเทศ เมื่อเทียบกับรายรับจากการส่งออกสินค้าและบริการ หรือทุนสำรองระหว่างประเทศเมื่อเทียบกับมูลค่าจำนวนเดือนการนำเข้าสินค้าและบริการ รวมทั้งอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจและรายรับจากภาษีอากรของรัฐบาลต่ำกว่าหรือสูงกว่าปริมาณการค้า

ถ้ารายรับของรัฐบาลต่ำกว่างบประมาณรายรับของรัฐบาลก็แสดงว่าเศรษฐกิจยังอยู่ในช่วงขาลง ทำให้การประมาณการรายรับของกระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณสูงเกินความเป็นจริง และธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งควรจะมีเป้าหมายปริมาณเงินซึ่งเกี่ยวพันกับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ทั้งอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทกับเงินดอลลาร์สหรัฐมากกว่าเป้าหมายอย่างอื่น

ความซบเซาทางเศรษฐกิจโลกน่าจะยังคงอยู่ไปอีกนานหลายปี อย่างน้อยก็ไม่น้อยกว่า 5-6 ปี เนื่องจากมาตรการที่ปราศจากเหตุผลทางเศรษฐกิจที่จะรองรับของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ นักปั่นหุ้นที่ได้รับเลือกตั้งมาเป็นประธานาธิบดี โดยจะออกมาตรการกีดกันการนำเข้าสินค้าและบริการจากจีน อันเป็นการนำเอามาตรการจุลภาคมาแก้ไขปัญหามหภาค หรือเอามาตรการ micro มาแก้ปัญหา macro จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะประสบผลสำเร็จ เพราะอเมริกายังไงก็ต้องนำเข้ามาปิดช่องว่างความแตกต่างระหว่างความต้องการใช้จ่ายกับความสามารถในการผลิต

ถ้าไม่นำเข้าจากจีนก็ต้องนำเข้าจากประเทศอื่น ในขณะเดียวกัน ทุนจากจีน จากอเมริกาและจากยุโรปก็จะย้ายจากจีนมาลงที่ประเทศอื่นในระยะยาว แม้ในระยะสั้นอาจจะต้องหาทางซิกแซ็ก ปิดป้ายสินค้าว่าผลิตจากประเทศอื่น ทั้ง ๆ ที่วัตถุดิบหรือชิ้นส่วนมาจากจีนแต่มาประกอบสำเร็จรูปที่เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย รวมทั้งไทยด้วย ถ้าไทยมีนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่ทำให้ค่าเงินแข็งกว่าประเทศคู่แข่งในภูมิภาคในช่วงเวลาเดียวกัน

ความกดดันทางการเมืองเมื่อใกล้จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดี ก็จะยิ่งทำให้เป้าหมายของนโยบายเศรษฐกิจให้น้ำหนักไปทางการเมืองมากยิ่งขึ้น ยิ่งนโยบายและมาตรการทางเศรษฐกิจถูกใช้เพื่อผลทางการเมือง ต้นทุนของนโยบายก็ยิ่งสูงขึ้น แทนที่เศรษฐกิจที่ซบเซาอยู่แล้วจะอยู่ตัว คอยวันที่เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัว ก็จะกลายเป็นว่าทรัมป์จะยิ่งทำให้เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของอเมริกาทรุดหนักลงไปอีก โอกาสที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวก็จะยืดยาวขึ้นไปอีก มาตรการกีดกันการนำเข้าสินค้าและบริการจากจีน นอกจากไม่มีผลต่อการผลิตของอเมริกาแล้ว

ยังทำให้ผู้บริโภคในอเมริกาต้องซื้อของแพงขึ้น อเมริกาต้องนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่นด้วยราคาแพงขึ้น ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดของอเมริกาก็ขาดดุลเท่าเดิม แต่เงินจำนวนเดียวกันซื้อของได้น้อยลง หรืออเมริกาต้องจ่ายมากขึ้นเพื่อซื้อของเท่าเดิม

ในขณะเดียวกันจีนก็ชดเชยของจีนที่นำไปขายในสหรัฐให้มีราคาแพงขึ้น 10 เปอร์เซ็นต์ โดยการลดค่าเงินหยวนลง 10 เปอร์เซ็นต์เหมือนกัน นอกจากจะทำให้นโยบายกำแพงภาษีของ โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นหมันแล้ว จีนยังถือโอกาสลดค่าเงินหยวนของตนเองลง โดยอ้างว่าเพื่อตอบโต้กับอเมริกา แต่จะทำให้สินค้าและบริการจากจีนไปสู่ประเทศอื่นในเวทีการค้าของโลกถูกลง ส่วนสินค้าจากภายนอกรวมทั้งจากอเมริกาที่เข้าไปในตลาดจีนก็จะมีราคาแพงขึ้น เมื่อคิดเป็นเงินหยวน ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดของจีนจึงน่าจะกลับมาอยู่ที่เดิม

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากระแสความซบเซาทางเศรษฐกิจจะเริ่มขึ้น โดยที่สหรัฐอเมริกาจะเป็นผู้รับภาระเช่นว่าเป็นส่วนใหญ่ สหรัฐอเมริกาก็ไม่มีเครื่องมืออะไรที่จะนำมาแก้ไข โดยเฉพาะอย่างยิ่ง

นโยบายดอกเบี้ยและค่าเงินดอลลาร์ เพราะเงินดอลลาร์ในรูปของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอยู่ในมือของสถาบันการเงินและนิติบุคคลต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่คือ มากกว่าร้อยละ 70 ของปริมาณเงินดอลลาร์ที่ธนาคารกลางสหรัฐสร้างขึ้นมาหมุนเวียนอยู่ในทุกตลาดของโลก แต่อยู่ในสหรัฐอเมริกาเพียงร้อยละ 30 จึงเกิดตลาดเงินดอลลาร์ในยุโรป หรือ Eurodollar และ Asiandollar markets ซื้อขายดอลลาร์กันเองโดยไม่ต้องผ่านตลาดการเงินและตลาดทุนในสหรัฐอเมริกา

โครงสร้างตลาดเงินดอลลาร์ของโลกดังกล่าว ยิ่งทำให้นโยบายการเงินการคลังของสหรัฐอเมริกามีประสิทธิภาพน้อยลง จนอาจจะไม่มีเลย เป็นต้นทุนของสังคมอเมริกันที่ต้องจ่ายคืนให้กับชาวโลก การได้ประโยชน์จากการที่เงินของตนเป็นเงินที่ใช้ชำระหนี้ระหว่างประเทศ ทำให้อเมริกาสามารถเอาเงินกระดาษมาแลกกับสินค้าและบริการของชาวโลก เอาไปใช้บริโภคและเก็บเป็นทุนสำรองของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก

เป้าหมายหลักของนโยบายการเงินโดยกรรมการนโยบายการเงิน ซึ่งมีกรรมการส่วนใหญ่มาจากธนาคารแห่งประเทศไทย โดยมีผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นประธาน เอาความมั่นคงของสถาบันการเงิน อันได้แก่ธนาคารพาณิชย์เป็นหลัก ไม่ได้เอาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศเป็นหลัก ด้วยเหตุนี้กรรมการนโยบายการเงินจึงมีแนวโน้มที่พอใจที่จะเห็นค่าเงินบาทแข็งกว่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาค โดยการดำรงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยสูงกว่าประเทศอื่น อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจซึ่งโยงกับความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออก ค่าเงินบาทที่เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดจึงเป็นเป้าหมายรอง

การแก้กฎหมายให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอิสระในการดำเนินนโยบายอย่างสมบูรณ์ โดยไม่มีการคานอำนาจ จึงเป็นโครงสร้างของชนวนตัดสินใจทางนโยบายที่ผิด ทุกครั้งที่ประเทศไทยเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินและทางเศรษฐกิจ เกิดจากอวิชชาและความเขลาของผู้ว่าการและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคารแห่งประเทศไทยทั้งสิ้น ที่ยึดถือเสถียรภาพกับการได้อยู่ในตำแหน่ง ยึดถือเสถียรภาพของสถาบันการเงินที่ตนดูแลเป็นหลัก โดยไม่ตระหนักว่าเสถียรภาพของสถาบันการเงินที่ตนดูแลนั้นขึ้นอยู่กับเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจส่วนรวมของชาติด้วย ถ้าระบบเศรษฐกิจที่แท้จริงมีปัญหา เสถียรภาพของสถาบันการเงินก็มีปัญหาและอาจจะอยู่ไม่ได้

เมื่อภาวะเศรษฐกิจเป็นไปอย่างที่กล่าว ถ้าโดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีอีกวาระ และทัศนคติที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเขลา อวิชชาและความเห็นแก่เสถียรภาพของการดำรงตำแหน่งของตนเอง โอกาสที่เศรษฐกิจของไทยจะฟื้นตัวคงจะเป็นไปได้ยาก

ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ควรจะถือโอกาสแก้ไขพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทยให้กลับไปเป็นอย่างเดิม กล่าวคือ การเข้าสู่ตำแหน่งและการดำรงอยู่ในตำแหน่งของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ให้เป็นไปตามคำแนะนำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี นโยบายการเงินที่สำคัญ เช่น อัตราดอกเบี้ยนโยบาย นโยบายอัตราแลกเปลี่ยน ควรได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นต้น

เพราะไม่เคยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังผู้ใดดำเนินนโยบายผิดพลาดจนเกิดวิกฤตการณ์ ส่วนมากเป็นนโยบายที่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยทำเองทั้งสิ้น ทัศนคติของผู้ดำเนินนโยบายการเงินเช่นว่า เป็นอุปสรรคสำคัญในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของบ้านเรา รัฐมนตรีจะตั้งงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจให้ตายก็ไม่มีผลความซบเซาทางเศรษฐกิจจะอยู่กับเราไปอีกหลายปี