“หุ้นพีทีทีโออาร์” ต้องโปร่งใสและเป็นธรรม

คอลัมน์ ช่วยกันคิด

โดย สกุณา ประยูรศุข


หลังจากเป็นข่าวใหญ่ฮือฮาเมื่อปีที่แล้ว เมื่อคณะกรรมการ ปตท. (บอร์ด) มีมติเห็นชอบการปรับโครงสร้างการดำเนินธุรกิจของ ปตท. โดยให้แยกธุรกิจน้ำมันและค้าปลีกมาอยู่ในภายใต้บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด หรือพีทีทีโออาร์ (PTTOR) โดยให้เหตุผลในการปรับโครงสร้างครั้งนี้ว่า เนื่องจากสถานการณ์และสภาพแวดล้อม

ธุรกิจพลังงานเปลี่ยนแปลงไป รวมถึงการแข่งขันที่สูงขึ้นของธุรกิจพลังงาน ปตท.จะต้องปรับตัวและต้องเพิ่มขีดความสามารถของธุรกิจน้ำมันให้มีความแข็งแกร่ง สามารถขยายตัวเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกได้อย่างจริงจัง ทั้งนี้ ปตท.ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัทพีทีทีโออาร์

มาวันนี้เรื่องของการปรับโครงสร้างแต่งตัวบริษัทลูก “พีทีทีโออาร์” เพื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯได้รับความสนใจถูกหยิบยกขึ้นมาอีกครั้ง ทั้งในสื่อต่าง ๆ รวมทั้งในแวดวงของตลาดหุ้น เมื่อนายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ออกมาแถลงเพิ่มเติมว่า การแยกธุรกิจค้าปลีกออกไปเป็นบริษัทลูกและนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯจะเป็นการทำให้มีความชัดเจนเรื่องการแข่งขันของธุรกิจ ช่วยให้สามารถขยายธุรกิจไปลงทุนในต่างประเทศได้คล่องตัวขึ้น และผู้ประกอบการรายย่อยจากท้องถิ่นที่เป็นพันธมิตรกับ ปตท. ก็จะออกไปสู่ภูมิภาคอื่นด้วยกัน (อาเซียน) จับมือไปด้วยกัน ทำให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้น

โดยธุรกิจที่ถูกโอนเข้าไปอยู่ภายใต้ พีทีทีโออาร์ ประกอบด้วย 1.ธุรกิจน้ำมัน ซึ่งค้าปลีกน้ำมันผ่านสถานีบริการทั้งในและต่างประเทศ ค้าเชิงพาณิชย์น้ำมัน และก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) และเชื้อเพลิงอื่น อาทิ จำหน่ายเชื้อเพลิงอากาศยาน จำหน่ายแอลพีจีในครัวเรือนและสถานีบริการ จำหน่ายเชื้อเพลิงหล่อลื่นทั้งในและต่างประเทศ และบริหารโครงสร้างพื้นฐานของธุรกิจน้ำมัน อาทิ ด้านขนส่ง หรือจัดเก็บ 2.ธุรกิจค้าปลีกด้านอื่น ๆ และให้บริการด้านบำรุงรักษายานยนต์ ครอบคลุมการบริหารค้าปลีกและงานขายภายใต้แบรนด์ ปตท. และอื่น ๆ อาทิ คาเฟ่อเมซอน ฟิตออโต้ ร้านอาหาร ร้านเครื่องดื่ม แฟรนไชส์ต่าง ๆ

แผนธุรกิจเรื่องนี้ของ ปตท.ขยับเข้าใกล้ความจริงมากยิ่งขึ้น เมื่อมีข่าวออกมาว่า ปตท.เตรียมขั้นตอนนำพีทีทีโออาร์เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว และจะดำเนินการกระจายหุ้นสู่ประชาชนอย่างทั่วถึง เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเป็นเจ้าของธุรกิจน้ำมันและค้าปลีกของบริษัท ผ่านการลงทุนในหุ้นของพีทีทีโออาร์ ซึ่งหุ้นสามัญพีทีทีโออาร์ที่จะเสนอขายเป็นจำนวนไม่เกินร้อยละ 55 ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วทั้งหมดภายหลังรายการไอพีโอ

โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.การเสนอขายให้แก่ประชาชนทั่วไป ในสัดส่วนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 95 ของหุ้นสามัญของพีทีทีโออาร์ที่เสนอขาย 2.เสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของ ปตท. ที่มีสิทธิ์ได้รับการจัดสรรหุ้น แต่จะไม่เสนอขายให้ผู้ถือหุ้นที่ทำให้พีทีทีโออาร์มีหน้าที่ตามกฎหมายต่างประเทศ (Preferential Share Offering) ในสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 5 ของหุ้นสามัญของพีทีทีโออาร์ที่เสนอขาย

ทั้งนี้ ปตท. และพีทีทีโออาร์จะวางแผนและกำหนดหลักเกณฑ์การกระจายหุ้นไปสู่ประชาชนเร็ว ๆ นี้ ส่วนราคาเสนอขายยังไม่ได้กำหนด แต่จะพิจารณาจากความต้องการซื้อหลักทรัพย์ของผู้ลงทุน โดยราคาเสนอขายหุ้นสามัญในส่วน Preferential Share Offering จะเป็นราคาเดียวกันกับราคาเสนอขายหุ้นสามัญให้แก่ประชาชนทั่วไป

ขณะเดียวกัน นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจน้ำมัน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ยืนยันเรื่องการกระจายหุ้นว่า ปตท.จะกระจายหุ้นให้คนไทยถือมากที่สุด เพราะฉะนั้น คนไทยที่จองหุ้นพีทีทีโออาร์ทุกคน

“อยากถือต้องได้ถือ จะมีการกำหนดจำนวนมินิมั่ม อย่างน้อยทุกคนที่จองต้องได้ เราพยายามทำให้ยุติธรรม”


แม้จะเป็นความพยายามตอบโจทย์เรื่องการกระจายหุ้นที่เป็นข้อสงสัยกันอย่างมาก ถึงกระนั้นก็ยังไม่สามารถขจัดความกังวลที่มีอยู่ของคนไทยลงไปได้ เนื่องจากที่ผ่านมา พฤติกรรมของ ปตท.ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อถือและเกิดความรู้สึกว่าการกระจายหุ้นไม่โปร่งใสเพียงพอ มาครั้งนี้ พีทีทีโออาร์จึงนับเป็นโอกาสของ ปตท.ที่จะเรียกความเชื่อถือกลับคืน โดยการกระจายหุ้นอย่างโปร่งใสทั่วถึงสมดุลและเป็นธรรมกับประชาชน ให้รายย่อยได้ถือครองมากที่สุด