พลิกโฉมเสิ่นเจิ้น สู่เมืองแห่งเทคโนโลยีโลก

คอลัมน์ ช่วยกันคิด

โดย ดร.ศุภชัย สุขะรินทร์

หากเอ่ยถึงความทันสมัย ทำให้ต้องนึกถึง “เสิ่นเจิ้น” ผมเชื่อว่าคนไทยไม่น้อย รู้จัก เคยไป อย่างน้อยก็คุ้นหู โดยเฉพาะในอดีตในเรื่องของก๊อป แต่เดี๋ยวนี้ดูเหมือนไม่ใช่อีกต่อไป เพราะอะไรตามมาดู

เสิ่นเจิ้นนับเป็นมณฑลที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก

จากประสบการณ์ที่ต้องพาคณะไปศึกษาดูงานหลายต่อหลายครั้ง เสิ่นเจิ้นวันนี้ต่างกับสมัยเมื่อ 50 ปีก่อนที่ยังเต็มไปด้วยทุ่งนา ขณะที่ตอนนี้หันไปทางไหนมีแต่ตึกและยังเป็นที่หนึ่งที่อุดมไปด้วยเทคโนโลยีเทียบเท่าอเมริกา

ที่นี่ยังเป็นที่ทดลอง 5G ที่แรกของโลกอีกด้วย แล้วเสิ่นเจิ้นมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ?

จากแนวนโยบายเมื่อ 50 ปีก่อนของเติ้ง เสี่ยวผิง ที่เลือกให้เป็น 1 ใน 5 ที่จะพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ประกอบด้วย เฉิงตู จูไห่ กว่างตง เซียะเหมิน และเสิ่นเจิ้น จากทำเลที่ตั้งใกล้ฮ่องกง

มีการชักนำให้ย้ายโรงงานมาอยู่ที่เสิ่นเจิ้นและมีการสนับสนุนจากรัฐบาล เช่น นโยบาย tax ฟรี ช่วยเงินสนับสนุน เป็นต้น คนงานจากโรงงานแถวฮ่องกง มาสอนพนักงานที่เสิ่นเจิ้น

ซึ่งตอนนั้นมีการย้ายบริษัทอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาเยอะ เพราะค่าแรงจีนถูก มีสิทธิพิเศษ ทำให้โตเร็ว ผู้บริหารมีวิสัยทัศน์ จัดรูปแบบเมืองแยกโซนชัดเจน พัฒนาด้านไอที เกิดเป็นโซนไอทีที่ขายกันมารวมที่ Huaqiangbei Market (ตลาดหัวเฉียงเป่ย) ซึ่งเป็นแหล่งไอทีที่ใหญ่ที่สุด

เมื่ออิเล็กทรอนิกส์ย้ายมา รัฐบาลก็มีการสนับสนุนหลายอย่าง เช่น เรื่องนโยบาย Made in China เน้นไม่ทำฮาร์ดแวร์อย่างเดียว มีการทำซอฟต์แวร์ด้วย และเป็นนโยบายที่เน้นดีไซน์เป็นหลัก ซึ่งตอนนั้นเรียกว่า shanzai หมายถึงการสร้าง open source culture คือ เปิดให้คิดว่าคนจีนต้องการอะไร และมีสร้างซอฟต์แวร์มารองรับฮาร์ดแวร์ ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่า

ตลาดไอทีบูม พร้อม ๆ กับการถูกติดเรต “ก๊อบปี้” อันลือลั่น ทั้งยังยากที่เจ้าของลิขสิทธิ์จะจับได้ไล่ทัน เมื่อรู้ตัวและกว่าจะเข้ากระบวนการฟ้องร้อง สินค้าชิ้นนั้นก็หายไปจากตลาด มีสินค้าตัวใหม่มาแทนที่ เร็วจนฟ้องไม่ทัน

เรียนรู้ ต่อยอดเร็ว นาน ๆ เข้า เกิด innovation หรือนวัตกรรมของตนเองขึ้น ตัวอย่างบริษัทที่โด่งดัง อย่าง Xiaomi ซึ่งแรก ๆ แบรนด์เขามีอะไรเราก็มีเหมือนเขา และหลัง ๆ ก็เอาอุปกรณ์จากหัวเฉียงเป่ยมาใส่ เลยกลายเป็นอุปกรณ์ที่คล้ายแบรนด์จริง แต่ราคาถูกกว่า ที่เรียกว่า home of hardware หรือ engineer paradise

จากนั้นจึงเริ่มมีการเชิญชวนบริษัทใหญ่ ๆ ในยุโรป ซึ่งจะสามารถลดต้นทุนการผลิตไปได้มาก จนหลายบริษัทก็เริ่มย้ายการผลิตมาเสิ่นเจิ้น

จนปัจจุบันจีนมุ่งไปสู่นโยบาย AI 2023 โดยเน้นที่เสิ่นเจิ้น สร้างกันตั้งแต่เด็ก มีการศึกษาการเขียนโปรแกรมสร้างหุ่นยนต์ ตั้งแต่ที่โรงเรียน ของเด็กเล่นเน้นที่จัดสร้างด้านปัญญาประดิษฐ์

นอกจากนั้น ก็มีการเชิญชวนบริษัทเทเลคอมให้เข้ามา เช่น Huawei (โทรศัพท์) ZTE (สมาร์โฟน) DJI (โดรน) โดยเฉพาะอุปกรณ์ 5G สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้คือที่มาว่าทำไมวันนี้เสิ่นเจิ้นจึงประสบความสำเร็จอย่างสูง โดยตั้งเป้าไปสู่ความเป็น smart city อีกด้วย


ภาพจำของเสิ่นเจิ้น แทบจะถูกลบจากดินแดนแห่งสินค้าก๊อบปี้ไปแล้ว !