ข้าวเหนียวแพง

คอลัมน์ คนเดินตรอก
โดย ดร.วีรพงษ์ รามางกูร


ข้าวเหนียวแพงกลายเป็นข่าวใหญ่อยู่หลายวัน ทั้งในหน้าหนังสือพิมพ์ จอโทรทัศน์ เว็บไซต์และสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ก็รับลูกนำไปวิพากษ์วิจารณ์ต่อ แต่น้ำเสียงจะหนักไปทางเห็นใจผู้บริโภคข้าวเหนียว ทางกระทรวงพาณิชย์ก็ดูจะร้อนอกร้อนใจว่าข้าวเหนียวแพงอาจจะกระทบต่อคะแนนเสียงของรัฐบาล และเริ่มมีเสียงของฝ่ายอวิชชาบอกว่าข้าวเหนียวที่แพงนั้นไม่ได้ประโยชน์กับชาวไร่ชาวนาผู้ปลูกข้าวเหนียว เพราะข้าวเปลือกหลุดจากมือชาวนาไปแล้ว ซึ่งไม่เป็นความจริง

ชาวนาในภาคอีสานและภาคเหนือ รวมทั้งชาวนาในประเทศลาว มีพฤติกรรมต่างกับชาวนาภาคกลางและภาคตะวันออกอย่างสิ้นเชิง ถ้าขับรถผ่านไร่นาในภาคกลางจะไม่เห็นยุ้งฉางสำหรับเก็บกักข้าวเปลือก ต่างจากชาวนาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือกับภาคเหนือที่เกือบทุกบ้านจะมียุ้งข้าว สร้างเป็นเรือนบนเสาสูงคล้าย ๆ กับบ้านที่พักอาศัยแต่ปิดทึบไม่มีหน้าต่าง

ชาวนาในภาคกลางสร้างฉางเก็บข้าวไว้ในบ้าน สร้างไว้บนพื้นรอที่จะตวงส่งพ่อค้าคนกลางเพื่อส่งโรงสี แล้วก็ซื้อข้าวสีรวมจากโรงสีเล็กภายในหมู่บ้านไว้บริโภค บางบ้านก็ไม่เก็บข้าวไว้เลย ขายข้าวให้โรงสีตั้งแต่เก็บเกี่ยว ตากไว้ให้แห้ง ให้มีความชื้นประมาณ 14-15 เปอร์เซ็นต์ เพราะเหตุเป็นข้าวนาปรังที่ชาวนาภาคกลางทำนา 2 ครั้งต่อปี หรือ 5 ครั้งต่อสองปี สำหรับพื้นที่ที่อยู่ในเขตชลประทาน แล้วขายเป็นข้าวนึ่งโดยอัดไอน้ำแล้วเอาไปตากให้แห้ง แล้วจึงเอาไปสี โรงสีบางแห่งก็มีเครื่องอบก่อนนำไปสี ราคาข้าวเปลือกก็คิดหักจากเปอร์เซ็นต์ความชื้น

ตลาดข้าวเปลือกและข้าวสารในประเทศไทยเป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูงในทุกระดับ ตั้งแต่ข้าวเปลือก ข้าวสาร ข้าวนึ่งไปถึงข้าวบรรจุถุงขายในประเทศและส่งเทกอง ส่งไปขายต่างประเทศ

ราคาข้าวเปลือกและข้าวสารขึ้นลงตามราคาตลาดโลก ราคาตลาดโลกเป็นไปตามกลไกตลาด ทุกฝ่ายทั้งผู้ซื้อ ผู้ขาย ผู้ส่งออก เป็นผู้รับราคาตลาดโลก หรือหลักเศรษฐศาสตร์เรียกว่าเป็น price takers คนใดคนหนึ่ง บริษัทใดบริษัทหนึ่ง หรือแม้แต่ประเทศใดประเทศหนึ่ง ไม่สามารถกำหนดราคาภายในประเทศได้เอง นอกเสียจากกำหนดให้ชาวนาผลิตจำนวนไม่มาก ไม่ส่งออก แล้วใช้ภาษีอากรซื้อข้าวไว้เสียเอง ห้ามนำเข้า ไม่ส่งออก กำหนดราคาขายปลีกในประเทศให้สูงกว่าราคาตลาดโลก ผู้บริโภคภายในประเทศเป็นผู้รับภาระราคาที่สูงกว่าราคาตลาดโลก

แต่จำกัดจำนวนครอบครัวและเนื้อที่การเพาะปลูกข้าวและธัญพืชอื่น ๆ นโยบายเช่นว่านี้ก็เพื่อรักษาจำนวนชาวนาและพื้นที่ทำนาไว้เพื่อความมั่นคงทางอาหาร เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน ออสเตรเลีย สหภาพยุโรป ประเทศต่าง ๆ ในยุโรปและสหรัฐอเมริกา

แต่สำหรับประเทศไทยมีความกดดันให้รัฐบาลผลักดันราคาข้าว ราคายางพารา ราคาน้ำตาล ข้าวโพด ให้มีราคาสูงกว่าราคาตลาดโลกซึ่งเป็นไปไม่ได้ แม้รัฐบาลจะซื้อข้าว ยางพารา น้ำตาล และสินค้าเกษตรอื่น ๆ ไว้เองหมด ราคาก็จะไม่สูงเกินไปกว่าราคาตลาดโลกหักด้วยค่าขนส่ง แม้ว่าประเทศไทยจะไม่ผลิตสินค้าเกษตรเหล่านั้นเลย บริโภคอย่างเดียว ราคาสินค้าเกษตรเหล่านั้นก็จะไม่ขึ้น เพราะประเทศต่าง ๆ ยังไม่ผลิตเต็มตามศักยภาพที่จะผลิตได้ ยังเหลือประสิทธิภาพที่จะเพิ่มปริมาณการผลิตได้ทุกเมื่อ ถ้าเกิดขาดแคลนราคาถีบตัวสูงขึ้นกว่าระดับราคาปกติ

สำหรับข้าวเหนียวนั้นตลาดต่างประเทศไม่นิยมบริโภคเป็นอาหารหลัก มีเพียงชาวไทยอีสาน เหนือและชาวลาวเท่านั้น ที่นิยมบริโภคเป็นอาหารหลัก แม้แต่ชาวไทยใหญ่ที่อยู่ที่ภาคเหนือ รัฐฉานที่พม่า ไทยลื้อที่สิบสองปันนา ภาษาไทใหญ่ก็ใกล้กับภาษากำเมืองที่จังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย ก็ไม่นิยมบริโภคข้าวหนียว แต่นิยมบริโภคข้าวเจ้าเหมือนไทยภาคกลาง เหมือนเขมรและเวียดนาม

ข้าวเหนียวเป็นธัญพืชที่มีแป้งที่จะย่อยเป็นน้ำตาลมากกว่าข้าวเจ้า ผู้ที่บริโภคข้าวเหนียวเป็นหลักจึงรู้สึกว่าบริโภคข้าวเจ้าไม่อยู่ท้อง เพราะย่อยได้เร็ว ส่วนข้าวเหนียวบริโภคแล้วหนักท้อง โดยเฉพาะผู้ใช้แรงงานที่ต้องการแป้งและน้ำตาลเพื่อใช้เป็นพลังงานได้มากกว่าชาวนาที่ภาคอีสานที่ปลูกข้าวเหนียวแต่ขณะเดียวกันก็ปลูกข้าวเจ้าด้วย

ข้าวเหนียวปลูกไว้บริโภคเอง ส่วนข้าวเจ้าปลูกเอาไว้ขาย เมื่อเก็บเกี่ยวเอาข้าวขึ้นแล้วในช่วงต้นฤดู ชาวนาจะยังไม่ขายข้าวเหนียว ราคาข้าวเหนียวต้นฤดูเก็บเกี่ยวราคาจึงไม่ตก ไม่เหมือนข้าวเจ้าที่ราคาตกตอนต้นฤดูเก็บเกี่ยว แต่ราคาข้าวเหนียวจะลดลงมากหรือน้อยตอนปลายฤดู เพราะชาวนาภาคอีสานจะเก็บข้าวเปลือกไว้บนเล้าข้าวจนถึงปลายฤดู เพื่อรอดูเสียก่อนว่าข้าวฤดูใหม่จะได้ผลมากน้อยเพียงใด

พื้นที่ปลูกข้าวเหนียวที่ภาคอีสานและภาคเหนือส่วนใหญ่จะอยู่นอกเขตชลประทาน เป็นข้าวที่อาศัยน้ำฝนเป็นหลัก ไม่เหมือนข้าวเจ้าที่ปลูกในเขตชลประทาน ซึ่งพึ่งพาน้ำฝนน้อยกว่าเขตเกษตรน้ำฝน เพราะมีน้ำจากระบบชลประทานไว้ใช้ ปริมาณผลผลิตข้าวนอกจากจำนวนเนื้อที่เพาะปลูก ซึ่งขึ้นอยู่กับราคาข้าวเปลือกเหนียวแล้วยังขึ้นอยู่กับฝนฟ้าอากาศ ปริมาณน้ำฝน และการกระจายของฝนระหว่างพื้นที่และการกระจายในระหว่างเดือนต่าง ๆ ในรอบปีด้วย

ถ้าปีใดชาวนาที่ปลูกข้าวเหนียวเห็นว่าฝนฟ้าไม่ได้ตกถูกต้องตามฤดูกาล ปริมาณน้ำฝนมีน้อยและกระจายไม่ทั่วถึง ทั้งในแง่พื้นที่และเวลา ชาวนาก็จะไม่ปล่อยข้าวในเล้าออกขายในตลาด แต่จะเก็บเอาไว้บริโภค ราคาข้าวเปลือกก็จะถีบตัวแพงขึ้น เช่น ในกรณีฤดูเก็บเกี่ยวปี 2562 นี้ ชาวนาข้าวเหนียวทราบดีว่าฝนตกน้อย น้ำในเขื่อนมีน้อยกว่าปกติมาก ชาวนาจึงกักเก็บข้าวเหนียวไว้บริโภคในฤดูต่อไป ราคาข้าวเหนียวจึงถีบตัวสูงขึ้นถึง กก.ละ 40-45 บาท ถังหนึ่ง 15 กก. ราคาก็ตกประมาณ 600-675 บาท จากที่ราคาปกติอยู่ประมาณ กก.ละ 30 บาท หรือถังละ 400-450 บาท ก็นับเป็นความโชคดีของชาวนาข้าวเหนียวที่ชดเชยผลผลิตที่ลดลงเนื่องจากผลของฝนแล้งในฤดูเพาะปลูกในปีนี้

ในยุคปัจจุบันคนอีสานและคนเหนือนั้นบริโภคได้ทั้งข้าวเจ้าและข้าวเหนียว เมื่อราคาข้าวเหนียวถีบตัวสูงขึ้น ชาวนาเก็บข้าวเหนียวบางส่วนไว้ขาย แล้วซื้อ ข้าวเจ้าบริโภคด้วยไม่มากก็น้อย ความต้องการข้าวเจ้าบริโภคแทนข้าวเหนียวบางส่วนก็จะทำให้ปริมาณข้าวเจ้าเหลือส่งออกน้อยลง แต่ราคาจะไม่เปลี่ยนแปลงมากเพราะราคาขึ้นอยู่กับราคาตลาดโลก ไม่เหมือนข้าวเหนียวที่ไม่มีราคาตลาดโลก เพราะการค้าขายข้าวเหนียวในตลาดโลกมีน้อย ราคาจึงขึ้นอยู่กับผลผลิตที่มากหรือน้อย

กระทรวงพาณิชย์ไม่ควรจะต้องมีมาตรการอะไร เช่น จะตรวจสอบการกักตุนของโรงสี การกักตุนของโรงสีก็เป็นประโยชน์เพราะมีส่วนที่ทำให้ราคาข้าวเปลือกสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ การเก็บกักข้าวเปลือกของโรงสีและพ่อค้าคนกลางมีประโยชน์กับชาวนา ผู้ที่รับภาระคือผู้บริโภคข้าวเหนียว ซึ่งก็สามารถลดการบริโภคข้าวเหนียวลงบางส่วนมาบริโภคข้าวเจ้าแทน

สิ่งที่น่าห่วงก็คือ ในฤดูต่อไปชาวนาภาคเหนือและภาคอีสานอาจจะลดการผลิตข้าวเจ้าลงแล้วหันมาปลูกข้าวเหนียวมากขึ้น แล้วถ้าหากฝนฟ้าในฤดูต่อไปกลับมาเป็นปกติ ปริมาณข้าวเหนียวก็จะเหลือจากการบริโภคของชาวนาในทั้ง 2 ภาคนั้นมากขึ้น ในเมื่อตลาดข้าวเหนียวในตลาดโลกมีปริมาณน้อยมาก ราคาข้าวเหนียวในประเทศไทยจึงขึ้นลงค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับข้าวเจ้า

ดังนั้นหากสภาพดินฟ้าอากาศเข้าภาวะปกติก็คาดการณ์ได้เลยว่าปีต่อไปราคาข้าวเหนียวก็จะตกมากกว่าข้าวเจ้า เพราะราคามีเสถียรภาพน้อยกว่ามาก

รัฐบาลซึ่งมีหน้าที่ดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจก็ต้องพิจารณาว่า ทำอย่างไรให้ชาวนาข้าวเหนียวแบ่งพื้นที่ปลูกข้าวเจ้าและข้าวเหนียวเสมือนว่าราคาข้าวเหนียวอยู่ในภาวะปกติคือ ราคาอยู่ระหว่าง กก.ละ 30-35 บาท ไม่ใช่ 45-55 บาทเหมือนในกรณีของปีนี้ แม้ว่าคงจะห้ามไม่ได้ ราคาข้าวเหนียวปีหน้าก็มีความเป็นไปได้มากว่าราคาจะต่ำกว่าราคาปกติ เช่น กก.ละ 20-25 บาท และขณะเดียวกัน ก็มีข้าวเจ้าเอาไว้ขายน้อยกว่าปกติ อาจเดือดร้อนทั้งชาวนาข้าวเจ้าและชาวนาข้าวเหนียว

สำหรับพันธุ์ข้าวเหนียวนั้นมีจำนวนไม่น้อยกว่าพันธุ์ข้าวเจ้า ในขณะที่ข้าวหอมมะลิเป็นพันธุ์ข้าวเจ้าที่ได้รับความนิยมในประเทศไทยและประเทศที่นิยมบริโภคข้าวไทย เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง และอาจจะรวมบางส่วนในประเทศจีนบนผืนแผ่นดินใหญ่ เพราะข้าวหอมมะลิเข้ากันกับอาหารจีน แต่ไม่ค่อยถูกกับอาหารอินเดีย ถ้าเทียบกับข้าวบัสมาติ แต่ข้าวขาวตาแห้งหรือข้าวเสาไห้ ซึ่งแข็งกว่าข้าวหอมมะลิ กินได้กับผงกะหรี่และเครื่องเทศดีกว่า

ส่วนข้าวเหนียวพันธุ์สันป่าตองของเชียงใหม่ เชียงราย ถือว่าเป็นพันธุ์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด และได้พัฒนาไปเป็นข้าวเหนียว กข.61 ส่วนในลาวพันธุ์ “นาไก่น้อย” เป็นพันธุ์ดั้งเดิม ซึ่งปลูกบนที่ราบสูงและอากาศเย็น แถบแขวงซำเหนือพงสาลีและบางส่วนของแขวงเวียงขวาง เมล็ดเล็กสั้นแต่นิ่มและหอม ราคาสูงกว่าข้าว “สันป่าตอง” ซึ่งนิยมปลูกในที่ราบของประเทศลาวเช่นเดียวกันและเป็นพันธุ์ที่มีการปลูกมากที่สุด

ปกติแล้วราคาข้าวทั้งข้าวเจ้าและข้าวเหนียวในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศลาว จะสูงกว่าราคาในประเทศไทยเพราะต้องนำเข้าสุทธิจากประเทศไทย ส่วนประเทศกัมพูชานั้นราคาข้าวหอมมะลิจะต่ำกว่าประเทศไทย ทั้งนี้ ก็เพราะประเทศลาวโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคเหนือ ไม่สามารถผลิตข้าวได้เพียงพอกับความต้องการบริโภค ส่วนภาคใต้สามารถปลูกได้เกินความต้องการบริโภคข้าวเหนียวจึงลักลอบเข้ามาในประเทศไทยทางภาคใต้ของลาวตั้งแต่สะหวันนะเขตลงไป

และข้าวเหนียวไทยก็ถูกลักลอบส่งกลับไปขายที่ลาวภาคเหนือ เนื่องจากมีพรมแดนติดต่อกันยาวไกล การควบคุมจึงเป็นไปได้ไม่ทั่วถึงเช่นเดียวกับข้าวหอมมะลิจากจังหวัดพระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณ ไพลินและบันทายมีชัย ก็ลักลอบเข้ามาเมืองไทย เพราะระบบถนนหนทางและท่าเรือสู้เมืองไทยไม่ได้ ปริมาณข้าวหอมมะลิที่ส่งออกและที่บริโภคในประเทศ ส่วนหนึ่งจึงมาจากกัมพูชา ซึ่งก็เป็นประโยชน์กับทั้ง 2 ประเทศ กัมพูชามีเหลือแต่ไม่มีตลาดส่งออก ไทยมีตลาดส่งออกแต่มีข้าวเหลือจากบริโภคไม่พอส่งออก การค้าใต้ดินจึงเป็นทางออก

การที่ราคาข้าวเหนียวขึ้นลงอย่างมากและเฉียบพลัน จนเป็นข่าวให้สื่อมวลชนหันมาสนใจเสนอติดต่อกันหลายวัน ฟังน้ำเสียงเหมือนกับจะเข้าข้างผู้บริโภค โดยมีมายาคติว่าข้าวไม่ได้อยู่ในมือชาวนาแล้ว กระทรวงพาณิชย์ควรจะเข้าไปควบคุม เป็นทัศนคติที่ผิดของสื่อมวลชนไทย เพราะราคาข้าวเหนียวที่ถีบตัวสูงขึ้นปีนี้จะมีผลไปถึงฤดูเก็บเกี่ยวข้าวเหนียวปีหน้า เพราะข้าวที่โรงสีเก็บไว้เพื่อสนองความต้องการของตลาดก็จะลดลงหรือหมดไปด้วย


ปีต่อไปแม้ว่าการผลิตข้าวเหนียวจะสูงขึ้น แต่ความต้องการเก็บใส่สต๊อกของโรงสีก็จะมีสูงขึ้นด้วย การเก็บกักข้าวเหนียวของโรงสีและพ่อค้าคนกลางเป็นประโยชน์กับชาวนาโดยตรงสำหรับฤดูผลิตปีต่อไป ผู้บริโภคควรรับภาระบ้าง การสต๊อกข้าวของโรงสีและพ่อค้าคนกลางจะเป็นตัวที่ไม่ทำให้ราคาขึ้นลงอย่างรุนแรง แต่ทำหน้าที่เป็นตัวรับความผันผวนของปริมาณการผลิตไว้ส่วนหนึ่ง

มาตรการของรัฐบาลแม้จะหวังดีแต่ก็เป็นผลร้ายต่อชาวนาเสมอมา