รัฐบาล “โลกสวย” หนี้ครัวเรือน (ไม่น่าห่วง)

อุตตม สาวนายน รมว.คลัง (แฟ้มภาพ)
คอลัมน์ สามัญสำนึก

โดย สุดใจ ชาญชาตรีรัตน์

 

ต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ “สภาพัฒน์” รายงานสถานการณ์หนี้สินครัวเรือน ในไตรมาส 1 ปี 2562 ระบุว่า เพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยมีมูลค่า 12.97 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.3% คิดเป็นสัดส่วน 78.7% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) สูงสุดในรอบ 9 ไตรมาส

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒน์ ระบุว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยสูงเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย รองจากเกาหลีใต้ และอยู่อันดับ 11 ของโลก แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนในไตรมาส 2 ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากภาพรวมสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์เพื่อการอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น 9.2% โดยหนี้ที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ได้แก่ หนี้สินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต และรถยนต์

นอกจากนี้ ข้อมูลของสภาพัฒน์ยังสะท้อนภาพของสินเชื่อด้อยคุณภาพ หรือ “หนี้เสีย” (NPL) ที่เพิ่มสูงขึ้น โดยพบว่ายอดคงค้างหนี้เสีย ของสินเชื่ออุปโภคบริโภคในไตรมาส 2/2562 มีมูลค่า 127,439 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และยอดคงค้างหนี้เสียของสินเชื่อรถยนต์และบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง 32.3% และ 12.5% ตามลำดับ รวมทั้งตัวเลขเอ็นพีแอลของกลุ่มบัตรเครดิตที่กลับมาขยายตัวอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ในมุมของรัฐบาลโดยเฉพาะนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ออกมายืนยันว่า “สถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทยในขณะนี้ ยังไม่รุนแรงจนถึงขั้นต้องกังวล และมั่นใจว่าจะไม่มีผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2562 เพราะต้องแยกแยะว่าหนี้ครัวเรือนที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งเป็นหนี้ที่เกิดจากการทำธุรกิจ เป็นหนี้ที่มีหลักทรัพย์ หลักประกัน ถ้าเป็นหนี้ที่ก่อให้เกิดประโยชน์รัฐบาลก็สนับสนุน ไม่ใช่หนี้ด้อยคุณภาพ แต่รัฐบาลก็ไม่ได้ประมาท ติดตามดูแลสถานการณ์อยู่ตลอด”

ต้องบอกว่าขุนคลังมองโลกสวย เพราะหากได้ยินได้ฟังผู้ประกอบการธุรกิจตัวจริงสะท้อนภาพสถานการณ์เศรษฐกิจกำลังซื้อ อาจคิดว่าอยู่คนละโลกกับรัฐบาล

เพราะภาคธุรกิจรับรู้ปัญหา “หนี้ครัวเรือน” จากการสัมผัสประสบการณ์จริงที่เป็นกับดัก “กำลังซื้อ” ของผู้บริโภค เช่น ที่ตัวเลขยอดการปฏิเสธสินเชื่อบ้าน รถยนต์ และอื่น ๆ ที่มีสูงขึ้น เพราะว่าผู้บริโภคมีภาระหนี้ในระดับที่สูงมากแล้วจนเรียกว่าเต็มเพดาน แม้ว่าจะเป็นหนี้ที่มีหลักประกันอย่างที่ขุนคลังระบุ แต่ปัญหาก็คือทำให้ประชาชนหรือผู้บริโภคไม่มีกำลังซื้อ เพราะรายได้แต่ละเดือนที่ยังไม่ทันเข้ากระเป๋าก็ต้องเอาไปจ่ายหนี้เกือบหมดแล้ว

ทำให้โอกาสการเติบโตของธุรกิจค้าขายลำบากมากขึ้น นำมาซึ่งภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา ในขณะที่กำลังซื้อจากภาคส่งออกของต่างประเทศก็สะดุดตอเจอปัญหาเช่นเดียวกัน

ดังที่ผลการศึกษาของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ “ป๋วย อึ๊งภากรณ์” ชี้ว่า “คนไทยเป็นหนี้เร็วขึ้น มากขึ้น และนานขึ้น” เพราะเป็นหนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย ไปจนเข้าวัยเกษียณหนี้ก็ยังไม่หมด บ่งชี้ถึง “ปัญหาหนี้สินเกินตัว” ซึ่งเป็นประเด็นที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีความกังวลเพราะภาคครัวเรือนถือเป็นหน่วยเศรษฐกิจรากฐานสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

และถ้าประชาชนจำนวนมากอยู่ในภาวะที่ชีวิตติดกับดักหนี้ ก็คงทำให้เศรษฐกิจฐานรากอ่อนแอ

สอดคล้องกับที่นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธปท. ระบุว่า ตัวเลขหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่สูงที่ระดับ 13 ล้านล้านบาท เป็นประเด็นที่ ธปท.แสดงความกังวลอย่างต่อเนื่อง เพราะหนี้ที่สูงสะท้อนถึงความเปราะบางและการขาดภูมิคุ้มกันของภาคครัวเรือน ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาครัวเรือนที่อ่อนไหวต่อปัจจัยลบทางเศรษฐกิจ (income shock) มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้

มุมมอง “โลกสวย” ของรัฐบาลที่ว่าปัญหาหนี้ครัวเรือนยังไม่น่ากังวล แล้วหากส่งเสริมให้เป็นหนี้ต่อไปก็จะยิ่งทำให้ประชาชนฐานรากของประเทศอ่อนแอ และต้องคอยพึ่งพาความช่วยเหลือจากภาครัฐแบบไม่สิ้นสุดนั่นเอง