ภาษีเงินได้ซื้อขายที่ดิน สรรพากรจ่อใช้เกณฑ์ใหม่จัดเก็บ

คอลัมน์ เปิดมุมมอง

โดย พิเชษฐ์ ณ นคร

แม้ถูกเบรกไว้ชั่วคราว อาจจะด้วยเหตุผลการเมืองผลัดใบ ต้องรอการยืนยันจากหน่วยงานเจ้าของเรื่องว่าจะเดินหน้าต่อ หรือนำกลับไปทบทวนใหม่ แต่ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลรัษฎากร (ฉบับที่…) พ.ศ. …

(การกำหนดฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครอง ในอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา 49 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร) น่าจะเกี่ยวข้องกับคนทั้งระดับบน กลาง ล่าง

ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐี แลนด์ลอร์ด เจ้าของที่ดินรายย่อย คนซื้อบ้าน สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จึงควรค่าแก่การสนใจ ไม่ควรปล่อยให้ผ่านเลยไปโดยไม่ศึกษา เพราะสักวันหนึ่งน่าจะมาถึง ขอนำรายละเอียดของร่างกฎหมาย มาทบทวนความจำคร่าว ๆ

หน่วยงานเจ้าของเรื่อง คือ กรมสรรพากร ชี้แจงรายละเอียดของสภาพปัญหาและสาเหตุของปัญหา ที่ทำให้ต้องยกร่างพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลรัษฎากร (ฉบับที่…) พ.ศ. …

(การกำหนดฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครอง ในอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา 49 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร) เพื่อผลักดันประกาศบังคับใช้ว่า

โดยที่มาตรา 49 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดให้บุคคลธรรมดาเสียภาษีเงินได้สำหรับการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ โดยใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน เป็นฐานในการคำนวณภาษี ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง เพราะราคาที่ซื้อขายอสังหาริมทรัพย์กันตามความเป็นจริงส่วนใหญ่โดยทั่ว ๆ ไปแล้ว จะสูงกว่าราคาประเมินของเจ้าพนักงานที่ดิน

นอกจากนี้ ยังไม่สอดคล้องกับการจัดเก็บภาษีประเภทอื่น ๆ ตามประมวลรัษฎากร ซึ่งจัดเก็บจากรายได้หรือรายรับตามราคาที่ซื้อขายกันตามจริง โดยเปรียบเทียบกับราคาประเมินทุนทรัพย์ฯ แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า อีกทั้งยังก่อให้เกิดปัญหาในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากรณีการขายอสังหาริมทรัพย์ที่มีต้นทุนที่ซื้อมาตามจริงสูงกว่าราคาประเมิน ซึ่งทำให้ผู้ขายอสังหาริมทรัพย์ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เนื่องจากไม่มีเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว แม้ว่าจะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่มีราคาขายตามจริงสูงกว่าราคาประเมินทุนทรัพย์ก็ตาม

จึงมีความจำเป็นที่ต้องตรากฎหมายขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง จึงต้องทำการปรับปรุงหลักเกณฑ์ในการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากรณีการขายอสังหาริมทรัพย์ใหม่ โดยกำหนดให้ผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินจากการขายอสังหาริมทรัพย์เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากราคาที่ได้รับจากการขายอสังหาริมทรัพย์นั้นตามความเป็นจริงในวันที่มีการโอน หรือตามราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ใช้อยู่ในวันที่มีการโอน แล้วแต่อย่างใดจะสูงกว่า เพื่อให้สอดคล้องกับการจัดเก็บภาษีประเภทอื่น ๆ ตามประมวลรัษฎากร และถูกต้องตามเงินได้พึงประเมินที่ตนเองได้รับ

สาระสำคัญของกฎหมายใหม่ที่จะตราขึ้น 1.กำหนดให้การโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ ใช้ราคาดังต่อไปนี้

1.1 ในกรณีมีค่าตอบแทน ให้ใช้ราคาที่ซื้อขายตามความเป็นจริงหรือราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดินที่ใช้อยู่ในวันที่มีการโอนนั้น แล้วแต่อย่างใดจะสูงกว่า

1.2 ในกรณีไม่มีค่าตอบแทน ให้ใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดินที่ใช้อยู่ในวันที่มีการโอนนั้น

2.เพื่อประโยชน์ในการรับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมได้รับเงินภาษีหัก ณ ที่จ่าย โดยใช้ราคาขายที่ผู้มีเงินได้พึงประเมินแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือราคาประเมินทุนทรัพย์ แล้วแต่อย่างใดจะสูงกว่าเป็นเงินได้พึงประเมิน ให้ถือว่าได้รับเงินภาษีที่นำส่งไว้ครบถ้วนแล้ว


จะลุ้นให้กฎหมายฉบับนี้ออกมาบังคับใช้ หรือให้พับเก็บใส่ลิ้นชัก…ดี