NPL ภาคสหกรณ์ไทย

คอลัมน์ ช่วยกันคิด

โดย สุกัญญา มูลกลาง กลุ่มวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงิน กรมตรวจบัญชีสหกรณ์

ในช่วงที่ผ่านมา ปัญหาหนี้สินครัวเรือนยังเป็นเรื่องที่สร้างความกังวลให้กับหลายฝ่าย เนื่องจากมูลค่าหนี้สินครัวเรือนอยู่ในระดับสูงและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการบริโภคของครัวเรือน เมื่อครัวเรือนไม่มีกำลังจ่ายหนี้ได้ สภาพัฒน์แจงว่าหนี้ครัวเรือนมีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งกว่า 50% เป็นการกู้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัย อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการชำระหนี้ยังไม่น่ากังวลเท่าไหร่นัก เนื่องจากเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น แต่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

ภาพรวมการให้สินเชื่อของภาคสหกรณ์ไทย มีอัตราการขยายเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี เช่นเดียวกับสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ที่ขยายตัวต่อเนื่อง และสอดคล้องกับการเติบโตของเศรษฐกิจ สำหรับสินเชื่อด้อยคุณภาพ ที่ไม่สามารถชำระได้ตามกำหนด/NPL ในปี 2561 ระบบธนาคารพาณิชย์ภาพรวมยังทรงตัว ขณะที่ภาคสหกรณ์ไทย มีอัตราเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับสินเชื่อ คิดเป็นร้อยละ 5.79 หากเปรียบเทียบสัดส่วนหนี้ที่ชำระไม่ได้ตามกำหนด/NPL ของภาคสหกรณ์ไทยกับสินเชื่อรวมของระบบธนาคารพาณิชย์ ในปี 2561 คิดเป็นร้อยละ 12.74 ปีก่อนอยู่ที่ร้อยละ 12.47 จะเห็นได้ว่าสัดส่วนของหนี้ที่ชำระไม่ได้ตามกำหนด/NPL มีอัตราเพิ่มขึ้นจากปีก่อนเพียงเล็กน้อย (โดยยอด NPL คงค้างปี 2561 ของระบบธนาคารพาณิชย์ มีจำนวน 443 พันล้านบาท)

ทุนดำเนินงานของภาคสหกรณ์ไทยทั้งสิ้น 3,004,097 ล้านบาท แยกเป็น สหกรณ์ภาคการเกษตร 284,677 ล้านบาท (9.48%) สหกรณ์นอกภาคการเกษตร 2,714,850 ล้านบาท (90.37%) และกลุ่มเกษตรกร 4,570 ล้านบาท (0.15%)

ณ วันสิ้นปี มียอดสินเชื่อคงเหลือทั้งสิ้น 2,237,541 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 5.23 แยกเป็น สหกรณ์ภาคการเกษตร 180,997 ล้านบาท สหกรณ์นอกภาคการเกษตร 2,054,284 ล้านบาท และกลุ่มเกษตรกร 2,260 ล้านบาท

เมื่อเปรียบเทียบในรอบ 5 ปี (ปี 2557-2561) จะเห็นว่าสินเชื่อของภาคสหกรณ์ไทยจะมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ซึ่งในปี 2561 สหกรณ์นอกภาคการเกษตรมีการปล่อยสินเชื่อสูงสุดถึงร้อยละ 91.81 สหกรณ์ภาคการเกษตรร้อยละ 8.09 และกลุ่มเกษตรกรร้อยละ 0.10

ในปี 2562 คาดการณ์ว่าสินเชื่อคงเหลือของภาคสหกรณ์ไทยจะมีอัตราเพิ่มขึ้นจากปี 2561 โดยสหกรณ์ภาคการเกษตรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.41 สหกรณ์นอกภาคการเกษตรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.87 และกลุ่มเกษตรกรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.94

สำหรับภาพรวมสินเชื่อด้อยคุณภาพที่ไม่สามารถชำระได้ตามกำหนด/NPL ในปี 2561 มีทั้งสิ้น 56,446 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกับสินเชื่อ ซึ่งมีอัตราเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 5.79 อยู่ในสหกรณ์ภาคการเกษตรสูงสุดร้อยละ 78.08 รองลงมาคือ สหกรณ์นอกภาคการเกษตรร้อยละ 20.70 และกลุ่มเกษตรกรร้อยละ 1.22 โดยกลุ่มเกษตรกรมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนสูงสุดร้อยละ 10.79 สหกรณ์ภาคการเกษตรขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.50 ในขณะที่สหกรณ์นอกภาคการเกษตรมีอัตราลดลงจากปีก่อนร้อยละ 0.47

เมื่อเปรียบเทียบภาพรวมในรอบ 5 ปี (ปี 2557-2561) พบว่า หนี้ที่ชำระไม่ได้ตามกำหนด/NPL มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี ซึ่งคาดการณ์ว่าในปี 2562 หนี้ที่ชำระไม่ได้ตามกำหนด/NPL ของภาคสหกรณ์ไทย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยสหกรณ์ภาคการเกษตรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.36 สหกรณ์นอกภาคการเกษตร มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.02 และกลุ่มเกษตรกรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อย 9.38

ดังนั้น ภาคสหกรณ์ไทยควรมีการบริหารจัดการสินทรัพย์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะลูกหนี้เงินกู้ที่ชำระไม่ได้ตามกำหนด ที่จะก่อให้เกิดปัญหาด้านความเพียงพอของเงินทุนในด้านการรับภาระต่าง ๆ ทั้งด้านเจ้าหนี้ ดอกเบี้ยจ่ายและค่าใช้จ่าย รวมทั้งการขยายตัวของธุรกิจในปีต่อไป


อย่างไรก็ตาม แม้ว่าภาระหนี้จะเพิ่มขึ้น ส่วนความสามารถในการชำระหนี้ยังไม่น่ากังวลเกินไปนัก ทั้งนี้ สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรไม่ควรตั้งอยู่ในความประมาท ควรมีหลักเกณฑ์การให้สินเชื่อ และมาตรการติดตาม เรียกเก็บหนี้ให้เป็นไปตามเงื่อนไข เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสหกรณ์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องตระหนักและหันมาใส่ใจในการสร้างวินัยการใช้จ่ายให้มากยิ่งขึ้น โดยเริ่มต้นปลูกฝังจิตสำนึกตั้งแต่เยาวชนไม่ให้มีค่านิยมใช้จ่ายเกินรายได้ หรือนำเงินอนาคตมาใช้โดยไม่จำเป็น โดยให้ยึดแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักการดำเนินชีวิต