แพ็กเกจทัวร์ “ราคาต่ำ” ซื้ออย่างไร…ให้ได้เที่ยว

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย ณัฏฐ์พิชญ์ วงษ์สง่า [email protected]

เล่ากันว่า ในช่วงที่ประเทศไทยเจอวิกฤตเศรษฐกิจ พร้อมประกาศนโยบายเงินบาทลอยตัวในปี 2540 นั้น ส่งผลกระทบกับบริษัทนำเที่ยวเอาต์บาวนด์ หรือบริษัทที่ทำทัวร์นำคนไทยไปเที่ยวต่างประเทศอย่างหนัก

หลายแห่งเคลียร์หนี้ไม่ทัน เพราะจากที่ทำสัญญากันที่ราว 25 บาทต่อ 1 เหรียญสหรัฐ ก็พุ่งพรวดขึ้นไปอีกเกือบเท่าตัว

เรียกว่า ยังไม่ทันที่ทัวร์จะออกเดินทางจากประเทศไทย บริษัทนำเที่ยวก็ขาดทุนกันแบบเห็น ๆ แล้ว บางแห่งเปิดขายปกติแต่แทบจะไม่มียอดจองการเดินทางเข้ามาเลย เพราะต้นทุนทุกอย่างปรับขึ้นแบบยกแผง

ในช่วงปี 2 ปีนั้น มีบริษัททัวร์เอาต์บาวนด์มากกว่า 100 แห่งต้องปิดตัวลงไป บางแห่งต้องปรับแผนหันมาทำตลาดโดเมสติกและอินบาวนด์มากขึ้น และที่น่าหดหู่คือ มีเจ้าของบริษัททัวร์เอาต์บาวนด์เครียดหนักขนาดต้องยิงตัวตายก็มี

ในทางกลับกันช่วงนั้นตลาดทัวร์อินบาวนด์ (ต่างชาติเที่ยวไทย) กลับคึกคักแบบสุด ๆ หลายคนร่ำรวยและตั้งตัวได้ในช่วงเวลานั้น และใหญ่โตมากระทั่งถึงวันนี้

ประเด็นสำคัญที่ผู้เขียนอยากนำเสนอในวันนี้คือ กระแสค่าเงินบาทที่ยังคงแข็งค่าอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปีในปีนี้ น่าจะเป็นปัจจัยบวกสำคัญที่หนุนให้ผู้ประกอบการ “ทัวร์เอาต์บาวนด์” แฮปปี้ มีความสุขกันอีกครั้ง

เพราะค่าเงินบาทที่แข็งค่านี้จะเป็นแรงจูงใจให้คนไทยไปเที่ยวต่างประเทศได้ในราคาที่ถูกลง โดยเฉพาะสามารถไปจับจ่าย ซื้อสินค้าในต่างประเทศได้ในราคาที่ถูกลงไปด้วย

แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในวงการท่องเที่ยวของไทย โดยเฉพาะในกลุ่ม “ทัวร์เอาต์บาวนด์” ในวันนี้ ผู้ประกอบการ หรือเจ้าของบริษัททัวร์เอาต์บาวนด์ก็ยังคงโอดโอยกันว่า แย่ ทำทัวร์กันแบบแทบไม่มีกำไร

คำถามที่ตามมาคือ เกิดอะไรขึ้นกับวงการทัวร์เอาต์บาวนด์ ?

ผู้คลุกคลีในวงการท่องเที่ยวรายหนึ่งเล่าให้ฟังว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นผลจากการแข่งขันที่รุนแรงของบริษัทนำเที่ยวนั่นเอง โดยมีบริษัทขนาดใหญ่หลายรายเน้นขายแพ็กเกจท่องเที่ยวกันแบบราคาต่ำสุด ๆ

อาทิ เที่ยวญี่ปุ่นในราคา 1 หมื่นบาทต้น ๆ เที่ยวเกาหลีได้ในราคา 7,000-8,000 บาท เที่ยวเวียดนามได้ในราคา 6,000-7,000 บาท หรือล่าสุดเห็นโปรแกรมเที่ยวฮ่องกงในราคา 1,999 บาท เท่านั้น

เมื่อรายใหญ่ในตลาดกดราคาขายลงมาแบบนี้ บริษัทเล็กที่ไม่มีอำนาจต่อรองเรื่องวอลุ่มก็ไม่สามารถกดราคาลงมาแข่งได้

สุดท้ายผู้ประกอบการที่อู้ฟู่และอยู่ได้ในตลาดเอาต์บาวนด์เวลานี้มีเพียงไม่กี่รายเท่านั้น ทั้ง ๆ ที่มันควรดีกันหมดทั้งตลาด

“เอนก ศรีชีวะชาติ” ประธาน “ยูนิไทย แทรเวล” บริษัทนำเที่ยวเจ้าของโมเดลโปรไฟไหม้ บอกกับผู้เขียนว่า ยอมรับว่าประเด็นการขายแพ็กเกจทัวร์ในราคาต่ำนี้มีอยู่เยอะในตลาด เพราะบริษัทนำเที่ยวแต่ละแห่งก็จะมีกลยุทธ์การขายที่ต่างกัน ดังนั้นผู้ซื้อต้องคิดและพิจารณาดี ๆ ด้วย

เพราะโฮลเซลที่ขายโปรแกรมทัวร์นั้นก็มีทั้งที่ดีและไม่ดีเช่นกัน บางรายอาจมีเจตนาโกงตั้งแต่แรกตั้งบริษัท ขายราคาถูก ๆ แต่ต้องวางแผนการเดินทางกันข้ามปี (ไม่รู้ว่าจะได้เดินทางช่วงไหน) บางรายก็ขายกันราคาถูก แต่มีโปรแกรมการเดินทางชัดเจน

จึงอยากเตือนผู้บริโภคที่ซื้อทัวร์ว่าอย่าซื้อทัวร์ราคาถูกล่วงหน้าเป็นระยะเวลายาวข้ามปี เพราะมีโอกาสสูงที่เขาจะเอาเงินเราไปหมุนก่อน วันไหนที่เขาหมุนไม่ทันก็จะเกิดปัญหาเหมือนที่เป็นข่าวใหญ่ของ “ทัวร์แช่แข็ง” ในช่วงที่ผ่านมา

ดังนั้น ไทมิ่งที่ดีที่สุดในการวางแผนการซื้อทัวร์คือ ไม่ควรเกิน 1 เดือน หรือ 15 วันก่อนเดินทางจริง ก็จะมีความปลอดภัยและได้เดินทางจริงมากกว่า

อีกประเด็นที่ผู้เขียนอยากฝากสำหรับผู้ที่วางแผนซื้อทัวร์คือ ต้องดูรายละเอียดของโปรแกรมการเดินทางดี ๆ เพราะกลยุทธ์การขายและตั้งราคาของบริษัททัวร์ในวันนี้มีความหลากหลายมาก เช่น ปล่อยให้มีวันฟรีเดย์, แทรกโปรแกรมเข้าร้านช็อปปิ้ง ฯลฯ

แท็กติกการขายเหล่านี้ล้วนมีผลต่อการตั้งราคาแพ็กเกจทัวร์ทั้งสิ้น และทำให้เส้นทางเดียวกัน จำนวนวันเที่ยวเดียวกัน แต่ขายในราคาที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ และส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค

ที่เขียนเรื่องนี้เพราะอยากให้ผู้บริโภคอย่างเรา ๆ พิจารณาให้ดี และถามตัวเองก่อนว่าต้องการเที่ยวแบบไหน รับได้ไหมหากบริษัททัวร์พาไปเข้าร้านช็อปปิ้งแล้วถูกร่ายมนตร์กล่อมให้ซื้อสินค้าในร้านช็อปปิ้งทุกวันก่อนตัดสินใจซื้อทัวร์ราคาถูก…